ข่าว

"ไทยเบฟ"เดินหน้าขยายธุรกิจ“สุรา-อาหาร”ผงาดเวทีภูมิภาค

"ไทยเบฟ"เดินหน้าขยายธุรกิจ“สุรา-อาหาร”ผงาดเวทีภูมิภาค

06 ต.ค. 2560

ไทยเบฟเดินหน้าขยายธุรกิจ“สุรา-อาหาร”ผงาดเวทีภูมิภาค

              นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า ผ่านครึ่งทางวิสัยทัศน์ 2563 ภาพรวมการเติบโตทางธุรกิจยังเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยในแง่ของมูลค่าธุรกิจตามราคาตลาด (Market cap)ของบริษัทล่าสุดอยู่ที่ 1.67 หมื่นล้านดอลลาร์ เป็นเบอร์ 2 ของผู้นำตลาดเครื่องดื่มแบบครบวงจรในเอเชีย เป็นรองอาซาฮี ที่มีมาร์เก็ตแคป 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่วนคิรินมีมาร์เก็ตแคป 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ และซันโตรีมีมาร์เก็ตแคป 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์

               ทั้งนี้ บริษัทยังเดินหน้าสร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจเครื่องดื่มต่อเนื่อง เพื่อบรรลุวิชั่น 2020 ที่จะเป็นผู้นำธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มที่มีเถสียรภาพและการเติบโตอย่างยั่งยืน 

              สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจในปี 2560-2561(ปีบัญชี ต.ค.60-ก.ย.61) บริษัทเตรียมงบลงทุนปกติไว้ 7,400 ล้านบาท เพื่อยกระดับอุปกรณ์ เครื่องจักร เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยงบลงทุนปรับเพิ่มขึ้นจากปี 2559-2560 ที่ใช้ประมาณ 5,200 ล้านบาท ซึ่งส่วนที่เพิ่มขึ้นจะนำไปขยายธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์

                นายฐาปนกล่าวอีกว่าจากภาพรวมเศรษฐกิจในช่วง 2 เดือนนับจากนี้ (พ.ย.-ธ.ค.) คาดการณ์จะปรับตัวดีขึ้นจากปัจจัยรัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายที่เตรียมกระตุ้นในช่วงปลายปี ที่ผ่านมายังมีโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐกระตุ้นห้การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง

               ส่วนภาพรวมตลาดในเมืองไทยช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ยอมรับว่าพลังซื้อผู้บริโภคหดตัว และส่งผลต่อยอดขาย 9 เดือนของไทยเบฟอยู่ที่ 1.42 แสนล้านบาท เติบโตลดลง 6%แต่มีกำไรสุทธิกว่า 2.11 หมื่นล้านบาท เติบโต 3.1% 

               นายฐาปน กล่าวอีกว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างในบริษัท เฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ(เอฟแอนด์เอ็น) เบื้องต้นอาจจะแลกหุ้นกัน(Swap) แต่ยังไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ โดยเป้าหมายของการดำเนินธุรกรรมครั้งนี้ เพื่อทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดภายใต้การเป็นพันธมิตร กำหนดวิสัยทัศน์ และภารกิจในทิศทางเดียวกัน 2.คือการปรับสัดส่วนการถือหุ้น ซึ่งมีความซับซ้อน ปัจจุบันไทยเบฟถือหุ้นในเอฟแอนด์เอ็น 28% ซึ่งจะบันทึกเพียงกำไรเท่านั้น ยังไม่ได้บันทึกรายได้เข้ามาในพอร์ตจนกว่าจะถือหุ้นเกิน 50% 

             นายประภากร ทองเทพไพโรจน์ กรรมการผู้อำนวยการ กลุ่มธุรกิจสุรา บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า บริษัทได้ปรับกลยุทธ์การทำตลาดสุราขาวใหม่ ด้วยการยกระดับผลิตภัณฑ์สุราขาวแบรนด์ “รวงข้าว” ที่อยู่ในไทยตลาดมาประมาณ 231 ปี มาปรับสู่ “รวงข้าวซิลเวอร์”(Ruang Khao silver) เพื่อบุกตลาดต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากตลาดสุราขาวมีขนาดใหญ่มาก มีการบริโภคโดยทั่วไป และการเจริญเติบโตสอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)

             ทั้งนี้ การทำตลาดสุราขาวรวงข้าว ซิลเวอร์จะควบคู่กับการทำตลาดสก๊อตช์วิสกี้แบรนด์ “Old Pulteney” เจาะตลาดพรีเมียม ประเดิมประเทศเวียดนาม เมียนมา ฟิลิปปินส์ โดยที่ผ่านมาบริษัทได้ตั้งบริษัทลูกอย่างIBHL Vietnamเพื่อดำเนินการขอใบอนุญาติจัดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศเวียดนาม และคาดว่าจะนำสินค้าเข้าไปจำหน่ายได้ต้นปี 2561 จากนั้นจะเจาะตลาดเอเชียเหนือ เช่น ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ปลายปีหน้า

              สำหรับเป้าหมายในปี 2563 บริษัทต้องปักธงสร้างฐานผลิตโรงงานสุราขาวรวงข้าวซิลเวอร์ในต่างประเทศ เช่น เวียดนาม เมียนมา ส่วนฟิลิปปินส์จะอยู่ในรูปแบบสร้างตัวแทนกระจายสินค้า

               “ไทยเบฟมีพอร์ตสุรา 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.พอร์ตจากสก็อตซ์แลนด์ มีสินค้าซิงเกิ้ลมอลต์ 4 แบรนด์ และยิน(Gin)ระดับพรีเมียม 2 แบรนด์2.สินค้าไทยที่นำไปจำหน่ายต่างประเทศ แบรนด์รวงข้าวและเบลนด์ 285 ซึ่งเบลนด์ทำตลาดในลาวตั้งแต่ปีที่ผ่านมา แต่ปีหน้าจะโฟกัสที่ประเทศเวียดนาม เมียนมา และฟิลิปปินส์ เพราะ 3 ประเทศนี้มีการบริโภคสุราขาวกันปริมาณมาก อย่างไรก็ตาม 1 ปีที่ผ่านมาบริษัทพยายามเข้าปจำหน่ายสินค้าที่เวียดนาม แต่เผชิญอุปสรรคการปรับเปลี่ยนกฎหมายบางประการเลยยังจำหน่ายไม่ได้ แต่คาดว่าสิ้นปีนี้จะได้รับใบอนุญาติเพื่อขายสินค้าได้ ขณะเดียวกันบริษัทยังมองหาโอกาสอื่นในตลาดอาเซียนเพิ่มเติม แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จนัก”  

               นางนงนุช บูรณะเศรษฐกุล กรรมการผู้อำนวยการ ธุรกิจอาหารประเทศไทย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า บริษัทมีเป้าหมายสร้างเติบโตธุรกิจอาหารให้เติบโตอีก 2-3 เท่าตัวภายในปี 2020 จากปัจจุบันมีรายได้กว่า 6,000 ล้านบาท จาก 12 แบรนด์ ใน 3 รูปแบบ ได้แก่ 1สตรีทฟู้ดและอาหารบริการด่วน(QSR)2.ร้านอาหารและภัตตาคารระดับกลาง(Casual dining) และ3.ร้านอาหารระดับหรู(Fine dining)

                สำหรับกลยุทธ์การรุกธุรกิจอาหารจากนี้ไป ประกอบด้วย 1.การขยายสาขาของแบรนด์ร้านอาหารที่มี เช่น เปิดร้านโซอาเซียนมากขึ้น ร้านเอ็มเอ็กซ์เค้ก แอนด์เบเกอรี และปลายปีจะเปิดร้านอาหารไทยระดับหรูครั้งแรก 2.การขยายแพลตฟอร์มธุรกิจอาหาร เช่น บริการจัดเลี้ยง(แคเทอริ่ง) หลังจากเรียรรู้พฤติกรรมผู้บริโภคพบว่า ร้านอาหารไม่จำเป็นต้องรอให้ลูกค้าเดินเข้ามาใช้บริการ แต่บริษัทจะเสิร์ฟอาหารถึงที่ตอบสนองความสะดวกสบายมากขึ้น 3.การขยายพอร์ตโฟลิโอไม่จำกัดแค่การมีแบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่นที่แข็งแรง แต่จะมีเสริมทั้งอาหารไทย จีน ตะวันตก และ4 การเปิดสาขาใหม่ของร้านอาหาร เช่น ชาบูชิ เคเอฟซี และโออิชิ อีทเทอเรียม มีการทำตลาดแบบใหม่ และปรับภาพลักษณ์แบรนด์ให้มีความตื่นตาตื่นใจมากขึ้น 5.การเปิดตัวคอนเซ็ปต์ใหม่ และยกระดับร้านอาหารแบรนด์ต่างๆ เช่น โออิชิ อีทเทอเรียม และ6.กลยุทธ์นวัตกรรมอาหาร