สนช.เร่งคลอดพ.ร.บ.เศรษฐกิจ 6 ฉบับ
สนช.เร่งคลอด6พรบ.เศรษฐกิจ 6 ฉบับ
สนช.เร่งพิจารณาร่างกฎหมายเศรษฐกิจ 6 ฉบับ ให้ทันรัฐบาลชุดนี้ เผยร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินเสร็จแล้ว ยอมรับใช้เวลาพิจารณานาน ผู้มีส่วนได้เสียเยอะ พร้อมเร่งกฎหมายภาษีอีคอมเมิร์ซ กฎหมายกำกับรัฐวิสาหกิจ เผย 4 ปี ผ่านกฎหมายเศรษฐกิจ 117 ฉบับ มั่นใจช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจธุรกิจช่วงเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
ช่วงที่จะมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ถือเป็นช่วงสุดท้ายในการทำงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยสัปดาห์ที่ผ่านมานายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มอบนโยบายให้ผู้บริหารกระทรวงการคลังว่าต้องการเร่งผลักดันร่างกฎหมาย 2 ฉบับ ที่ สนช.กำลังพิจารณา คือ 1.ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 2.ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อรองรับการเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากการให้บริการในต่างประเทศ
นายสาธิต ชาญเชาวน์กุล คณะกรรมาธิการการพาณิชย์ การอุตสาหกรรมและการแรงงาน สนช.กล่าวว่า ขณะนี้มีร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับด้านเศรษฐกิจและอยู่ในระหว่างการพิจารณาขั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ รวม 6 ฉบับ ประกอบด้วย 1.ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ... 2.ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ....
3.ร่างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... 4.ร่าง พ.ร.บ.สหกรณ์ (ฉบับที่...) พ.ศ... 5.ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.. และ 6.ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฏากร (ฉบับที่....) พ.ศ....
พิจารณาภาษีที่ดินครบ89มาตรา
นายสาธิต กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ...ซึ่ง สนช.ได้รับหลักการไปเมื่อวันที่ 31 มี.ค.2560 จนถึงขณะนี้ก็เป็นเวลากว่า 1 ปีแล้ว โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้ขอขยายระยะเวลาการพิจารณาออกไปเป็นครั้งที่ 4 โดยร่างกฎหมายฉบับนี้มีจำนวน 89 มาตรา และคณะกรรมาธิการวิสามัญฯได้พิจารณาครบทุกมาตราแล้ว
สำหรับร่างกฎหมายฉบับนี้ส่งผลกระทบในวงกว้างจึงทำให้มีผู้แสดงความเห็นที่หลากหลายทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งในระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมาย ได้มีองค์กรและประชาชนได้เสนอความเห็นต่อร่างกฎหมายดังกล่าว โดยเฉพาะอัตราภาษีที่ดินที่องค์กรเอกชนกังวลว่าจะส่งผลต่อการทำธุรกิจ และได้เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เพื่อขอให้พิจารณาอย่างรอบคอบ เช่น คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย
นอกจากนี้ยังมีเอกชนอีกหลายกลุ่มที่แสดงความเห็น เช่น กลุ่มผู้ประกอบการสนามกอล์ฟเอกชน สมาคมการศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย สมาคมนิคมอุตสาหกรรมไทยและพันธมิตร โดยองค์กรภาคเอกชนมองว่า การทำธุรกิจของภาคเอกชนไม่ได้ซื้อที่ดินมาเพื่อการเก็งกำไร แต่ในสภาพธุรกิจต้องมีการซื้อที่ดินสำรองไว้เพื่อการใช้ประโยชน์ ซึ่งยังไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ทันที
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมที่ต้องเตรียมพื้นที่ไว้เพื่อที่จะทำนิคมอุตสาหกรรมในอนาคต ดังนั้นการซื้อที่ดินนอกจากเป็นภาระของผู้ประกอบการแล้ว การเสียภาษีก็มีอัตราที่สูงตั้งแต่ปีแรก ทำให้การแข่งขันมีความยากลำบากมากส่วนภาคการเกษตรที่ต้องใช้ที่ดินจำนวนมากในการทำการเกษตร หรือสนามกอล์ฟ ก็มีความกังวลในเรื่องของการเก็บภาษี
สนช.มั่นใจแก้กฎหมายปลดล็อกธุรกิจ
นายสาธิต กล่าวว่า ขณะนี้การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เกือบมีความสมบูรณ์แล้ว โดยประเด็นที่ถกเถียงกันมากคือ อัตราการเสียภาษีที่ดินควรจะเป็นอย่างไร จึงได้มีการระบุถึงการบังคับใช้โดยอาจจะให้มีเวลาสำหรับองค์กรต่างๆได้มีการปรับตัวจนมีความพร้อม ต้องยอมรับว่ากฎหมายฉบับนี้เกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วนรวมถึงประชาชนด้วยจึงต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบและกำหนดอัตราเสียภาษีที่เหมาะสมให้เป็นไปตามการประเมินราคาที่ดิน
“สนช.ได้พิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจในการนำไปใช้เพื่อการขับเคลื่อนประเทศหลายฉบับ ประเด็นปัญหาที่เป็นอุปสรรคทาง สนช.ก็ได้แก้ไขกฎหมายให้สามารถดำเนินต่อไปได้หรือเสนอกฎหมายที่คิดว่าจะล้าสมัยก็ผลักดันให้ออกมา ถ้า สนช.ไม่มีอายุยาวขนาดนี้ กฎหมายบางฉบับก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ จึงถือเป็นโอกาสที่ดีของประเทศ”นายสาธิต กล่าว
4ปีผ่านกฎหมายเศรษฐกิจ117ฉบับ
นายสาธิต กล่าวว่า ในช่วง 4 ปี ที่ผ่านมา สนช.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.รวม 409 ฉบับ โดยเป็นร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับด้านเศรษฐกิจ 117 ฉบับ หรือคิดเป็นมากกว่า 1 ใน 3 ของร่าง พ.ร.บ.ที่เข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ซึ่งในจำนวนนี้มีร่างกฎหมายเศรษฐกิจมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับใช้แล้วรวม 111 ฉบับ
แยกเป็นกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงิน เช่น พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 5 ) พ.ศ.2559 พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ.2558 ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมีสิ่งที่เป็นหลักทรัพย์มายื่นขอสินเชื่อได้ รวมถึงการออก พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ที่จะวางแนวทางในการกำกับดูแลการคลังของประเทศ
สำหรับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน เช่น พ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ.2560 ซึ่งช่วยเพิ่มบทบาทของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้มีมากขึ้น เพื่อเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลต้องการสนับสนุนให้เกิดการลงทุน รวมทั้งมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี)
นอกจากนี้ มีกฎหมายสำคัญที่บางฉบับไม่สามารถออกได้ช่วงสภาผู้แทนราษฎร เช่น พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ.2558 ซึ่งกฎหมายฉบับนี้มีการวิพากษ์ วิจารณ์กันมาทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย รวมถึงการประกาศใช้ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 ซึ่งเป็นกฎหมายที่คุ้มครองประชาชนที่มีการกู้เงินนอกระบบ ทำให้คนที่เป็นเจ้าหนี้ไม่สามารถเรียกดอกเบี้ยสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดแต่หากเรียกดอกเบี้ยเกินจะต้องมีโทษอย่างรุนแรง
ส่วนการประกาศใช้ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 ถือว่าเป็นการแก้กฏหมายศุลกากรทั้งฉบับโดยแก้ให้มีความทันสมัยมีความเป็นสากลมากขึ้น รวมทั้งปรับปรุงค่าปรับให้เหมาะสมส่วนกฎหมายด้านเศรษฐกิจอื่น เช่นพ.ร.บ.ภาษีสรรพามิต พ.ศ. 2560 พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2560 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560
กมธ.เตรียมชงภาษีที่ดินให้วิป สนช.
รายงานข่าวจาก สนช.ระบุว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่มีนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน ได้พิจารณาร่างกฎหมายเสร็จแล้ว โดยอยู่ระหว่างการตรวจสอบถ้อยคำและจะส่งร่างดังกล่าวให้คณะอนุกรรมาธิการกลั่นกรองกฎหมาย ก่อนเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) เพื่อบรรจุเข้าสู่วาระการประชุม สนช.โดยคาดว่าจะเข้าที่ประชุม สนช.เห็นชอบในวาระที่ 2 และ 3 ภายในต้นเดือน พ.ย.นี้ โดยมีรายงานว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จะมีการแถลงรายละเอียดการพิจารณาและประเด็นที่องค์กร เอกชน เป็นห่วงในสัปดาห์หน้า
ทั้งนี้ ที่ผ่านมานายวิสุทธิ์ ได้ยืนยันมาตลอดว่าจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเสร็จภายในรัฐบาลนี้ ส่วนระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมายอาจจะเลื่อนออกไปจากต้นปี 2562 โดยขึ้นอยู่กับความพร้อมของผู้ปฏิบัติ ซึ่งที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้ให้เวลาแก่ท้องถิ่นในการซักซ้อมแนวทางปฏิบัติในการจัดเก็บภาษีบ้างแล้ว พบว่า ส่วนใหญ่ยังไม่มีความพร้อม และยืนยันว่าประชาชนส่วนใหญ่ที่มีรายได้น้อยจะไม่ได้รับผลกระทบ โดยจะยกเว้นการจัดเก็บสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ