ข่าว

เตรียมเสนอ รมต.เศรษฐกิจอาเซียนลงนามเอกสารสำคัญ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"พาณิชย์" เผยผลสำเร็จการประชุม จนท.อาวุโสศรษฐกิจอาเซียน เตรียมให้ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนลงนามเอกสารสำคัญ 2 ฉบับ ในเดือนก.ย.นี้

 

 “พาณิชย์” เผยผลสำเร็จการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเศรษฐกิจอาเซียน บรรลุข้อตกลงประเทศสมาชิกสามารถรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตัวเองได้ในปีหน้า พร้อมเตรียมให้ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนลงนามเอกสารสำคัญ 2 ฉบับ ในเดือนก.ย.นี้

 

เตรียมเสนอ รมต.เศรษฐกิจอาเซียนลงนามเอกสารสำคัญ

 

          นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียนหรือซีออม (Senior Economic Officials Meeting : SEOM) ครั้งที่ 3/50 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-15 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าการทำงานของคณะทำงานด้านต่างๆ ภายใต้เสาเศรษฐกิจ พบในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 หลายเรื่องมีความคืบหน้าได้ตามเป้าหมาย โดยเฉพาะในส่วนที่จะช่วยอำนวยความสะดวกการประกอบธุรกิจของภาคเอกชน อาทิ การจัดทำระเบียบปฏิบัติในการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียน (ASEAN-Wide Self Certification) ซึ่งดำเนินการสำเร็จแล้ว และพร้อมใช้ระบบนี้ในเดือนมี.ค. 2563

 

          นางอรมน กล่าวว่า การจัดทำระบบการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนเอกสารใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ ระหว่างอาเซียน 10 ประเทศ (ASEAN Single Window: ASW) ใกล้แล้วเสร็จ โดยขณะนี้มีสมาชิกอาเซียน 7 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม บรูไน และกัมพูชา ได้เชื่อมต่อระบบและแลกเปลี่ยน Form D ทางอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ยังเหลือสมาชิกอาเซียนอีก 3 ประเทศ คือ ฟิลิปปินส์ เมียนมา และสปป ลาว ที่อยู่ระหว่างทดสอบระบบ มีความคืบหน้าไปมากและพร้อมดำเนินการให้สำเร็จ เชื่อมต่อระบบครบ 10 ประเทศ ภายในปีนี้


          การรับรองหลักการเพื่อเป็นแนวทางให้สมาชิกอาเซียนปรับกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการค้าให้สอดคล้องกัน (ASEAN General Principles for Harmonisation of Regulatory Regimes)  และ การตกลงที่จะทบทวนความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ASEAN Trade in Goods Agreement : ATIGA) ซึ่งบังคับใช้มาแล้ว 8 ปี ให้ทันสมัยสามารถรองรับรูปแบบการค้าในปัจจุบันและลดอุปสรรคทางการค้า

 

          นางอรมน กล่าวอีกว่า ที่ประชุมเตรียมเสนอให้ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนในเดือนก.ย. ลงนาม ในเอกสารสำคัญ 2 ฉบับ ที่อาเซียนหาข้อสรุปร่วมกันได้ ได้แก่ 1.ความตกลงยอมรับร่วม (MRA) ผลการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยานยนต์และชิ้นส่วนของอาเซียน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการทำธุรกิจของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ และ 2.พิธีสารว่าด้วยกลไกระงับข้อพิพาทของอาเซียนฉบับปรับปรุง เพื่อให้กลไกระงับข้อพิพาทของอาเซียนทันสมัยและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งเป็นไปตามหลักการและกระบวนการระงับข้อพิพาทของดับบลิวทีโอ         
           

 

          นางอรมน กล่าวว่า นอกจากนี้ยังตกลงที่จะเร่งส่งเจ้าหน้าที่ด้านเศรษฐกิจไปประจำที่คณะผู้แทนถาวรประจำอาเซียน ที่กรุงจาการ์ตา ตามมติผู้นำอาเซียนที่ให้ทั้งสามเสาประชาคมอาเซียน (เศรษฐกิจ การเมืองความมั่นคง และสังคมวัฒนธรรม) ส่งผู้แทนไปประจำการ ณ คณะผู้แทนถาวรฯ ซึ่งในปัจจุบันมีเพียงเสาการเมืองเท่านั้นที่มีผู้แทนประจำครบทั้ง 10 ประเทศ โดยในส่วนของเสาเศรษฐกิจ ขณะนี้มีเพียงสิงคโปร์ และ สปป.ลาว ที่ส่งผู้แทนไปประจำแล้ว ยังเหลืออีก 8 ประเทศ รวมทั้งไทยที่อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อส่งผู้แทนไปประจำ โดยตั้งเป้าจะต้องดำเนินการให้สำเร็จครบ 10 ประเทศภายในปีนี้ นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้หารือเพื่อเตรียมส่งคณะผู้แทนอาเซียนด้านเศรษฐกิจไปเยือนติมอร์-เลสเต เพื่อหาข้อมูลและทำความเข้าใจนโยบายและมาตรการด้านเศรษฐกิจของติมอร์-เลสเต เพื่อประกอบการประเมินการขอสมัครเป็นสมาชิกอาเซียนของติมอร์-เลสเตด้วย
 

          นางอรมน กล่าวต่อไปว่า การประชุมครั้งนี้ยังเปิดโอกาสให้เครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียน (ASEAN Women Entrepreneurs Network: AWEN) พบหารือกับซีออมเป็นครั้งแรก โดยในปีนี้ ผู้แทนไทย (คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน- อังอุบลกุล) ดำรงตำแหน่งประธาน AWEN ได้นำคณะ AWEN เข้าพบหารือซีออม ซึ่งจากข้อมูลสถิติพบว่า ปัจจุบัน ร้อยละ 50.2 ของจำนวนประชากรในอาเซียนเป็นสตรี และ ร้อยละ 30-35 ของจำนวนผู้ประกอบการในอาเซียนเป็นสตรี ดังนั้น จึงจำเป็นที่อาเซียนจะต้องร่วมกันทำงานเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้สตรีมีบทบาทมากขึ้นในการดำเนินธุรกิจ เช่น พัฒนาทักษะของผู้ประกอบการสตรีขนาดเล็กและย่อย (MSMEs) รับมือเทคโนโลยีและการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 (4IR) การใช้ประโยชน์จาก Big Data และเข้าถึงบริการทางการเงินของผู้ประกอบการสตรีรายย่อย เป็นต้น

 

          ทั้งนี้ อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย ในปี 2561 การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน มีมูลค่าการค้ารวม 113,934 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 13 % จากปี 2560 โดยไทยส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 68,437 ล้านดอลลาร์ และนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 45,497 ล้านดอลลาร์ โดยไทยเกินดุล 22,940 ล้านดอลลาร์ และการส่งออกของไทยไปอาเซียนในปัจจุบัน คิดเป็นสัดส่วน 27 % ของการส่งออกทั้งหมดของไทย.

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ