ข่าว

บิ๊กตู่สั่งเกาะติดศก.โลกธปท.หนุนตั้ง'บอร์ดร่วม'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บิ๊กตู่สั่งเกาะติดศก.โลกธปท.หนุนตั้ง'บอร์ดร่วม' ที่มา : หนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ

 

 

          นายกฯ สั่ง ครม. เกาะติดเศรษฐกิจโลก หวั่นกระทบไทย ด้าน “สมคิด” ยันบอร์ดร่วมการเงินคลังต้องการให้ทุกฝ่ายทำงานร่วมกัน ลั่นไม่แทรกแซง ขณะ “วิรไท” หนุนไฟแนนซ์เชียลทีม ระบุที่ผ่านมาหารือร่วมกันเป็นปกติ มั่นใจไม่กระทบการทำหน้าที่ กนง. ขณะ “สุริยะ” พอใจผลหารือแบงก์ชาติ ยอมรับมีข้อจำกัดดูแลค่าเงิน


          สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่อึมครึมมากขึ้น จากทั้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง รวมไปถึงปัญหาความรุนแรงในฮ่องกง และความกังวลต่อการผิดนัดชำระหนี้ของอาร์เจนตินาหลังประธานาธิบดีคนปัจจุบันพ่ายแพ้การเลือกตั้ง ส่งผลต่อการลงทุนทั่วโลกที่มีความผันผวนมากขึ้น ทำให้นายกรัฐมนตรีต้องกำชับในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ทุกหน่วยงานเศรษฐกิจติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด เพื่อดูว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไรบ้าง


          พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวหลังการประชุม ครม. ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้ถ้ามองประเทศไทยก็มองว่าตกลงบ้าง แต่รอบบ้านก็ตกเหมือนกันและอาจตกมากกว่าไทย จึงต้องมาดูยุทธศาสตร์ที่จะรองรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น จึงสั่งการ ครม.ไปพิจารณาทำงานให้ตอบสนองทุกกลุ่มเช่นกระทรวงพาณิชย์ดูเรื่องการค้าขาย

 

 

          “วันนี้ค่าเงินบาทอยู่ที่30 บาทเศษ อาจแข็งอยู่บ้าง ตามหลักเศรษฐศาสตร์แล้วมีหลายปัจจัยเช่นมีดุลบัญชีเดินสะพัดเยอะ ทำให้เงินบาทเข้มแข็งที่สุด ฉะนั้นคณะทำงานที่เกี่ยวข้องจะไปดูเรื่องนี้ และรัฐบาลจะทำเต็มที่ให้ผ่านช่วงเวลายากลำบาก”


          นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีระบุในครม.ให้หน่วยงานเศรษฐกิจติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกผันผวนมากซึ่งทำให้นายกรัฐมนตรีสั่งการให้บางหน่วยงานส่งข้อมูลเศรษฐกิจโลกเพื่อดูว่าส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร


          ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการรับมือกับเศรษฐกิจโลกซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงแต่อ่อนค่าระยะสั้นเพราะประเทศอื่นลดดอกเบี้ยด้วยเช่นฟิลิปปินส์โดยนายกรัฐมนตรีระบุว่าเงินบาทแข็งค่ากระทบการส่งออกและถ้าเงินบาทอ่อนค่าระดับที่แข่งขันได้ก็จะช่วยภาคส่งออก


          ครม.เศรษฐกิจนัดแรก16ส.ค.นี้
          นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ขอให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงให้ ครม.รับทราบแนวโน้มเศรษฐกิจโดยนายสมคิดแจ้งว่าในวันที่ 16 ส.ค.นี้ จะประชุม ครม.เศรษฐกิจนัดแรกเพื่อพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ


          นายสมคิด ระบุใน ครม.ว่าการตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อรองรับสถานการณ์เศรษฐกิจและย้ำว่าไม่ใช่การควบคุมบางองค์กรรวมทั้งขอให้พรรคร่วมรัฐบาลช่วยขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจที่ ครม.จะอนุมัติให้เกิดผลมากที่สุด




          จากนั้นนายสมคิดให้นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงเพิ่มเติม โดยระบุถึง6 เดือนแรกปีนี้การส่งออกลดลง 2.7-2.8% ลดลงน้อยกว่าหลายประเทศ ซึ่งมีสาเหตุจากอุปสงค์ของจีนลดลงแต่รายได้จากการท่องเที่ยวกระทบไม่มากเพราะนักท่องเที่ยวจีนลดลงแต่นักท่องเที่ยวอินเดียเพิ่มขึ้น


          นายอุตตม ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.7 แสนล้านบาทที่จะเสนอครม.เศรษฐกิจจะมีทั้งวงเงินงบประมาณประจำและวงเงินนอกงบประมาณ โดยมาตรการที่ออกมาจะทำให้เงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจแน่นอน


          ธปท.หนุนตั้งไฟแนนซ์เชียลทีม
          นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ข้อเสนอเรื่องการตั้งคณะกรรมการร่วมดูแลการเงินการคลัง (ไฟแนนซ์เชียลทีม) ถือเป็นเรื่องดี ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานต่างๆ ทั้ง ธปท. กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ ได้หารือร่วมกันเป็นปกติอยู่แล้ว เพื่อหาแนวทางดูแลและเตรียมพร้อมรับมือกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งความไม่แน่นอนจากมาตรการกีดกันการค้า การแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกัน จะทำให้เกิดความชัดเจนและเข้าใจตรงกันมากขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่ต้องหารือในหน่วยงานเศรษฐกิจเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกันในหลายมิติ


          นอกจากคณะกรรมการชุดนี้แล้ว อดีตที่ผ่านมา ธปท. ยังได้เสนอกระทรวงการคลัง เพื่อให้มีการจัดตั้ง คณะกรรมการเพื่อมาดูแลเรื่องเสถียรภาพระบบการเงินไทยด้วย เนื่องจากบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานกำกับแต่ละแห่งในปัจจุบัน มีความแตกต่างกัน เช่น ธปท.กำกับดูแล ธนาคารพาณิชย์ และนอนแบงก์บางประเภท รวมถึงแบงก์รัฐ 


          ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ก็มีบทบาทดูตลาดทุน ,สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ก็มีการดูแลเรื่องประกันภัย ร่วมถึง กรมส่งเสริมสหกรณ์ที่มีการดูแล สหกรณ์เป็นหลัก


          ดังนั้นเห็นว่าระบบการเงินมีความเชื่อมโยงกันสูง จึงต้องตั้งคณะกรรมการเข้ามาดูด้านนี้ เพื่อให้การทำมาตรการต่างๆมีความเชื่อมโยงกัน และดูแลรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินทั้งระบบได้


          “ต้องเข้าใจก่อนว่าคณะกรรมการมีสองชุด อย่าเอามาปนกัน ชุดแรกเป็นคณะกรรมการที่ ธปท.เป็นคนเสนอในรัฐบาลชุดก่อน ว่าควรมีคณะกรรมการที่มาดูด้านเสถียรภาพระบบการเงินเพื่อให้การทำมาตรการเชื่อมโยงกัน เหมือนน้ำ ที่มักไหลจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งเสมอ ถ้าเราทำมาตรการบางอย่าง แล้วผู้กำกับดูแลอาจไม่ได้ทำ เงินอาจไหลไปสู่แหล่งที่กฎเกณฑ์ที่ต่ำกว่า มาตรการเหล่านั้นอาจไม่ได้ผล และอาจมีผลต่อเสถียรภาพของระบบการเงินทั้งระบบในระยะยาวได้”


          ยันไม่กระทบการทำหน้าที่กนง.
          นายวิรไท กล่าวว่า การตั้งคณะกรรมการร่วมในการดูแลเรื่องต่างๆ ตามที่กล่าวมานั้น  ไม่น่าจะกระทบต่อการดำเนินนโยบายของ กนง. เพราะหน่วยงานแต่ละแห่งมักมีอำนาจตามกฎหมาย ที่ต้องทำตามอำนาจหน้าที่ แต่คณะกรรมการเหมือนเป็นที่ปรึกษามากกว่า เพื่อมาหารือข้อมูลต่างๆให้เป็นในไปทิศทางเดียวกัน


          ส่วนการปรับลดดอกเบี้ยของคณะกรรมการกนง.ที่ผ่านมานั้น ส่วนหนึ่งเพราะกนง.มองว่าเศรษฐกิจต่างไปจากครั้งก่อนหน้าที่ประเมินไว้ ซึ่งเป็นผลมาจากหลายปัจจัย ทั้งภาวะเศรษฐกิจโลก ที่มีบรรยากาศทางการค้าที่ตึงเครียดมากขึ้น อีกทั้ง ยังมีผลกระทบในด้านราคาพลังงาน ที่มีผลกดดันทำให้เงินเฟ้อต่ำกว่ากรอบล่างของเป้าหมายได้ รวมไปถึง การชะลอตัวของภาคส่งออก จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก จากบรรยากาศกีดกันทางการค้าที่รุนแรงมากขึ้น


          ปัจจัยเหล่านี้ มีผลกระทบมาสู่ปัจจัยในประเทศ สู่การจ้างงาน การบริโภค การลงทุน จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่กนง.มีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง


          อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการกนง.ยังมีความสำคัญกับด้านเสถียรภาพระบบการเงิน เพราะในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่อง ยิ่งจำเป็น ที่ต้องมีเครื่องมือที่ผสมผสานมาดูแลด้านเสถียรภาพระบบการเงิน จากการประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร


          ‘สุริยะ’พอใจหารือธปท.
          นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวหลังการหารือกับทาง ธปท. ว่า โดยรวมถือว่าค่อนข้างพอใจในการหารือครั้งนี้ โดยเฉพาะการดูแลค่าเงินบาท และเชื่อว่า ธปท.ดูแลค่าเงินบาทที่เหมาะสมแล้ว เพราะหากแทรกแซงค่าเงิน เพื่อให้ได้เปรียบทางการค้าได้ อาจถูกสหรัฐจับตาได้ และเข้าใจว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่า หลักๆมาจากที่ประเทศไทยมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงถึง 1.7 หมื่นล้านบาท


          “ยอมรับว่า ค่าเงินบาทแข็งเป็นอุปสรรคต่อภาคอุตสาหกรรม แต่ก็เข้าใจ ธปท.ว่า การดูแลนั้นมีข้อจำกัด สิ่งสำคัญคือ ใช้โอกาสนี้ นำเข้าเครื่องจักร โดยให้บีโอไอออกมาตรการส่งเสริมการลงทุน เพื่อให้ซื้อเครื่องจักรได้ถูกและยังจะได้อีกสิ่งคือ เมื่อมีการจ่ายเงินซื้อเครื่องจักรก็จะทำให้เงินไหลออกไป และทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าไปด้วยอีกทาง”


          นอกจากนี้ในวันที่ 14 ส.ค.นี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะเดินทางมามอบนโยบายและมาหารือกับผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเบื้องต้นจะเสนอแนวทางให้บีโอไอ สนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนเพิ่มเติมให้ เช่น มาตรการจูงใจผู้ประกอบการซื้อเครื่องจักร และมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เป็นต้น

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ