ข่าว

"ลดหย่อนภาษี 2565" เช็คก่อน ยื่นภาษี คู่สมรส แยกยื่น-รวมยื่น แบบไหนดีกว่า

"ลดหย่อนภาษี 2565" เช็คก่อน ยื่นภาษี คู่สมรส แยกยื่น-รวมยื่น แบบไหนดีกว่า

12 ธ.ค. 2565

เช็คลิสต์ "ลดหย่อนภาษี 2565" ก่อน ยื่นภาษี มีอะไรลดหย่อนได้บ้าง คู่สามี-ภรรยา ควรแยกยื่น หรือ รวมยื่น แบบไหนดีกว่ากัน

ฤดูกาล "ยื่นภาษี" สำหรับผู้มีเงินได้บุคคลธรรมดา ใกล้เข้ามาอีกครั้ง ซึ่งการยื่นภาษีต้องมีความละเอียดรอบรอบ เพราะหากลืมลดหย่อนภาษี ก็อาจต้องเสียภาษีเป็นจำนวนมากขึ้น ดังนั้น เพื่อให้การ "ลดหย่อนภาษี 2565" ที่จะต้องยื่นในปี 2566 เป็นไปอย่างเรียบร้อย ไม่ตกหล่น มาเช็คกันก่อนว่า มีรายการอะไรบ้าง ที่สามารถใช้ยื่นภาษี 2565 ได้

 

ก่อนอื่นเงื่อนไขใดบ้างที่ต้องเสียภาษี พูดง่าย ๆ ก็คือ หากรายได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาทต่อปี ก็จะได้รับการยกเว้นภาษี แต่ถ้าเกินกว่านั้น ก็จะเสียภาษีในอัตราเริ่มต้น 5% และจะสูงขึ้นตามอัตราภาษีแบบขั้นบันได แต่รายการลดหย่อนภาษีจะช่วยทำให้รายได้สุทธิให้ลดลง จึงเสียภาษีน้อยกว่าคนที่ไม่มีรายการลดหย่อนภาษีเลย

 

 

รายการพื้นฐานที่ใช้ลดหย่อนภาษี 2565

 

ลดหย่อนภาษีส่วนตัว

 

  • ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัว ลดหย่อนได้ทันที 60,000 บาท
  • ค่าลดหย่อนภาษีคู่สมรส(ถูกต้องตามกฎหมาย) คนละ 60,000 บาท (คู่สมรสต้องไม่มีรายได้)
  • ค่าลดหย่อนภาษีบิดามารดา คนละ 30,000-60,000 บาท
  • ค่าลดหย่อนภาษีผู้พิการหรือทุพพลภาพ คนละ 60,000 บาท
  • ค่าฝากครรภ์และคลอดบุตร ท้องละ 60,000 คน

 

ค่าลดหย่อนภาษีด้วยเบี้ยประกัน

 

  • เบี้ยประกันชีวิต/ประกันสะสมทรัพย์ สามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท โดยประกันต้องคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป 
  • เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 15,000 บาท และสามารถรวมประกันสุขภาพพ่อแม่ของคู่สมรส มาลดหย่อนภาษีได้ ในกรณีที่คู่สมรสไม่มีรายได้ 
  • เบี้ยประกันสุขภาพตัวเอง เบี้ยประกันสุขภาพ รวมถึงเบี้ยประกันอุบัติเหตุ ที่คุ้มครองสุขภาพ สามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตทั่วไปแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท

 

 

ลดหย่อนภาษีเพื่อการเกษียณอายุ

 

  • เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ สูงสุด  15% (รวมกันต้องไม่เกิน 500,000)
  • กบข./กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ/กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน สูงสุด 15% (รวมกันต้องไม่เกิน 500,000)
  • ค่าซื้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) สูงสุด 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี รวมกันต้องไม่เกิน 500,000)
  • กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ลดหย่อนได้ไม่เกิน 30% ของรายได้รวมทั้งปี แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ
  • กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)  สูงสุด 13,200
  • เงินประกันสังคม ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 7,200 บาท (จากเดิมไม่เกิน 9,000 บาท)

 

ลดหย่อนภาษีจากเงินบริจาค

 

  • เงินบริจาคทั่วไป (ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อน)  สูงสุด 10%
  • เงินบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคม และโรงพยาบาลรัฐ (ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินบริจาค)  สูงสุด 10%
  • เงินบริจาคพรรคการเมือง   สูงสุด  10,000 บาท

 

ลดหย่อนภาษีจากมาตรการรัฐ

 

  • ดอกเบี้ยซื้อที่อยู่อาศัย (เฉพาะส่วนของดอกเบี้ยตามที่จ่ายจริง) สูงสุด 100,000 บาท
  • ช้อปดีมีคืน 2565 (จ่ายตามจริง) สูงสุด 30,000 บาท
  • เงินลงทุนธุรกิจในวิสาหกิจเพื่อสังคม (จ่ายตามจริง)  สูงสุด  100,000 บาท

 

ลดหย่อนภาษี 2565 คู่สามี-ภรรยา ข้อแตกต่างแยกยื่น-แยกรวม

 

1. แยกยื่นภาษี เหมาะกับคู่สมรสที่มีรายได้ไม่ต่างกันมากนัก และมีค่าลดหย่อนต่าง ๆ ใกล้เคียงกัน

2. รวมยื่นภาษี วิธีนี้เป็นการรวมเงินได้ทั้งหมดของทั้ง 2 ฝ่ายเข้าด้วยกัน แล้วนำไปให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ยื่นแบบ เหมาะกับคู่สมรสที่มีรายได้ต่างกันมาก และผู้ที่มีรายได้น้อยใช้สิทธิลดหย่อนได้ไม่เต็มสิทธิ จึงรวมรายได้กัน และให้ฝ่ายมีรายได้มากกว่าเป็นผู้ยื่นแบบ ทำให้สามารถรวมสิทธิค่าลดหย่อนทางภาษีต่าง ๆ ของฝ่ายที่มีรายได้น้อย ที่ยังใช้ประโยชน์ไม่เต็มสิทธิ ไปให้อีกฝ่ายที่มีภาระภาษีสูงกว่าได้ประโยชน์ โดยทำได้ 2 วิธี คือ

  • รวมยื่นแบบแสดงรายการในนามสามี คือ การที่ภรรยานำเงินได้ทั้งหมดของตนไปรวมกับเงินได้ทั้งหมดของสามี แล้วให้สามีเป็นผู้ยื่นแบบ
  • รวมยื่นแบบแสดงรายการในนามภรรยา คือ การที่สามีนำเงินได้ทั้งหมดของตนไปรวมกับเงินได้ทั้งหมดของภรรยา แล้วให้ภรรยาเป็นผู้ยื่นแบบ

 

3. แยกยื่นเฉพาะเงินเดือน ส่วนเงินได้อื่น ๆ นำไปยื่นรวมในนามอีกฝ่าย สามารถทำได้ 2 วิธี คือ

 

  • ภรรยาแยกยื่นแบบภาษีเฉพาะเงินเดือนของตัวเอง ส่วนเงินได้อื่น ๆ นำไปรวมกับเงินได้ของสามี แล้วยื่นภาษีรวมกันในนามสามี
  • สามีแยกยื่นแบบภาษีเฉพาะเงินเดือนของตัวเอง ส่วนเงินได้อื่น ๆ นำไปรวมกับเงินได้ของภรรยา แล้วยื่นภาษีรวมกันในนามภรรยา

 

วิธีตรวจสอบสิทธิลดหย่อนภาษี 2565

 

  1. เข้าเว็บไซต์กรมสรรพากร คลิกที่นี่
  2. เลือก My Tax Account (บริการตรวจสอบข้อมูลลดหย่อนและสิทธิประโยชน์ทางภาษี)
  3. คลิกเข้าระบบ กรอกหมายเลขผู้ใช้และรหัสผ่านเดียวกับระบบ e-Filing
  4. เลือกรายการลดหย่อน

 

สำหรับข้อมูลที่แสดงบนระบบ My Tax Account เป็นข้อมูลที่กรมสรรพากรได้รับจากหน่วยงานภายนอกหากพบว่าไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน ผู้เสียภาษีสามารถติดต่อไปยังหน่วยงานที่ส่งข้อมูลให้แก่กรมสรรพากรได้