จับตา ประชุมบอร์ด ปตท. 'ทศพร ศิริสัมพันธ์' ส่ง ก.ล.ต. ตีความ ตั้ง ประธานบอร์ด
จับตา ประชุมบอร์ด ปตท. 19 ต.ค. 2566 เสนอตั้ง ประธานบอร์ด ปตท.ชุดใหม่ หลังจากถกบอร์ดนัดพิเศษ ล่ม 'ทศพร ศิริสัมพันธ์' ส่ง ก.ล.ต. ตีความ
ภายหลังการประชุมบอร์ด ปตท.นัดพิเศษ ครั้งที่ 7 /2566 เมื่อวันที่16 ต.ค.2566 ไม่ได้มีการพิจารณาแต่งตั้ง ประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) คนใหม่ แทนนายทศพร ศิริสัมพันธ์ เพราะวาระการประชุมได้ถูกถอนออกไปอย่างไม่มีกำหนด ตั้งแต่เมื่อวันที่ 21 ก.ย.2566 ล่าสุด นายทศพร ได้ทำหนังสือถึง ก.ล.ต. กรณีการตีความข้อบังคับ ก่อนวันที่ 19 ต.ค.นี้ เสนอตั้งประธานกรรมการและกรรมการ ปตท.ชุดใหม่
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ทำหนังสือถึง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เรื่อง การตีความข้อบังคับของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อย่างเคร่งครัด ตามสำเนาบันทึกข้อความฉบับลงวันที่ 12 ต.ค. 2566 ถึงประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อาจมีปัญหา กรณีการตีความข้อบังคับของ บริษัทฯ ผิดไปจากที่ได้บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างเคร่งครัด อาจทำให้การกระทำต่างๆ ที่เกิดจากการตีความข้อบังคับที่ผิดกฎหมาย เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและต่อเนื่อง ดังนี้
ข้อบังคับ ปตท. ข้อ 34 นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับฉบับนี้
ประธานกรรมการ หรือ กรรมการพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
- พ้นตามวาระ
- ลาออก
- ที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติให้ออกตามข้อ 30
- ขาดการประชุมคณะกรรมการ เกิน 3 ครั้งติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
- ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย หรือ
- ศาลมีคำสั่งให้ออก
ข้อบังคับ ปตท. ข้อ 32 วรรค 3 “ให้คณะกรรมการเลือกตั้งกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการ และถ้าเห็นสมควรจะเลือกตั้งกรรมการอีกคนหนึ่ง หรือหลายคนเป็นรองประธานกรรมการก็ได้”
ข้อ1) ข้อบังคับของ ปตท. ข้อ 34 ได้บัญญัติเอาไว้อย่างชัดเจนและเป็นลายลักษณ์อักษรว่า ประธานกรรมการ หรือ กรรมการ พ้นจากตำแหน่งเมื่อ
- พ้นตามวาระ
- ตาย
- ลาออก
- ที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติให้ออกตามข้อ 30
- ขาดการประชุมคณะกรรมเกิน 3 ครั้งติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
- ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย หรือ ในข้อบังคับนี้
- ศาลมีคำสั่งให้ออก
ดังนั้น จะต้องตีความ หรือแปลความให้ตรงตามลายลักษณ์อักษรอย่างเคร่งครัด จะตีความหรือแปลความเป็นอย่างอื่นไม่ได้
นอกจากนี้ นายทศพร ระบุในหนังสือฉบับนี้ว่า ขอให้ ก.ล.ต. ได้โปรดนำเรื่องและประเด็นดังกล่าว เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ ก.ล.ต. เพื่อพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ และมีคำสั่งให้ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ปฏิบัติตามข้อบังคับดังกล่าวอย่างเคร่งครัด และหรือมีคำสั่งอื่นใด เพื่อระงับยับยั้งการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นผลมาจากการจงใจตีความข้อบังคับผิดไปจากลายลักษณ์อักษรต่อไป
ทั้งนี้ การประชุมคณะกรรมการบอร์ด ปตท. วันที่19 ต.ค. 2566 จะมีการเสนอวาระการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูง ปตท. ทดแทนตำแหน่งเดิม ที่จะเกษียณอายุเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2566 ท่ามกลางกระแสข่าวผู้มีอำนาจฝ่ายการเมือง ต้องการเปลี่ยนตัวประธานกรรมการ และกรรมการ ปตท. ชุดใหม่ เพื่อให้การดำเนินงานของบริษัทสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลใหม่ ที่มีเป้าหมายลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะการบริหารจัดการราคาพลังงาน ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม และค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
สำหรับ นายทศพร ศิริสัมพันธ์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานกรรมการ ปตท. ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 4/2565 เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2565 โดยเมื่อเดือน ต.ค. 2565 นายทศพร เคยยื่นหนังสือขอลาออกจากตำแหน่ง กรรมการอิสระและประธานกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค. 2565 โดยระบุว่า เป็นเหตุผลส่วนตัว แต่ถูกเบรกโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขณะนั้น