ไลฟ์สไตล์

การศึกษาข้ามชาติ กำลังจะบุกเอเชีย

การศึกษาข้ามชาติ กำลังจะบุกเอเชีย

09 พ.ค. 2555

การศึกษาข้ามชาติ กำลังจะบุกเอเชีย โดย...ภัทณิดา พันธุมเสน ผู้อำนวยการสำนักนโยบายความร่วมมือกับต่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

                 ปัจจุบัน การจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาได้ขยายตัวอย่างกว้างขวางไปทั่วโลก หลายประเทศมีแนวโน้มที่จะจัดการศึกษาข้ามชาติหรือข้ามพรมแดน (Transnational Education:) ให้มากขึ้น เพื่อดึงดูดนักศึกษาต่างชาติเข้าไปศึกษาในสถาบันการศึกษาของตน อันเป็นการสร้างรายได้ที่จะสามารถช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้อีกทางหนึ่ง การศึกษาข้ามชาติกำลังมีบทบาทสำคัญต่อ ตลาดการศึกษาระดับโลกไปแล้ว ณ เวลานี้

                 การจัดการศึกษาข้ามชาติมีหลายรูปแบบ ยกตัวอย่างเช่น การไปจัดตั้ง มหาวิทยาลัยสาขาในต่างประเทศ (Branch Campus) การจัดทำความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยในประเทศกับต่างประเทศ อาทิ การจัดหลักสูตรควบสองปริญญา หลักสูตรแฟรนไชส์ การโอนหน่วยกิตการเรียนกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ การแลกเปลี่ยนนักศึกษาและคณาจารย์ระหว่างมหาวิทยาลัย เป็นต้น

                  ประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่อย่าง สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และออสเตรเลีย ค่อนข้างจะได้เปรียบกว่าประเทศอื่นๆ เพราะภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากลที่จำเป็นต้องใช้สื่อสารทั่วโลก สถาบันอุดมศึกษาที่มีมาตรฐานระดับโลกซึ่งทำการสอนด้วยภาษาอังกฤษในประเทศเหล่านี้จึงได้รับความนิยมอย่างสูง สามารถดึงดูดนักศึกษาจำนวนมากจากทั่วโลกเข้าไปศึกษาอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลายาวนาน

                 มหาวิทยาลัยดังๆ เหล่านี้ กำลังปรับกลยุทธ์จากที่เคยรอรับนักศึกษาต่างชาติเดินทางเข้าไปศึกษาในประเทศของตนทางเดียว มาเป็นการไปเปิดมหาวิทยาลัยสาขาของตนในต่างประเทศ หรือทำในลักษณะความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยต่อมหาวิทยาลัย นอกจากนั้น บางประเทศที่ยินดีให้มหาวิทยาลัยต่างชาติไปเปิดสาขา ก็ยังส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยของตนออกไปเปิดสาขายังต่างประเทศเพื่อถ่วงดุลอีกด้วย จึงทำให้การจัดการศึกษาข้ามชาติขยายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว

                 จากการสำรวจข้อมูลของหน่วยงานวิจัยด้านการศึกษาข้ามชาติ (OBHE) ช่วงปลายปี 2554 พบว่า ในปี 2549 มีสถาบันอุดมศึกษาไปเปิดมหาวิทยาลัยสาขาในต่างประเทศทั่วโลกจำนวน 82 แห่ง ได้เพิ่มเป็น 160 แห่งในปี 2552 ล่าสุดเพิ่มเป็นจำนวน 200 แห่งในปี 2554 และคาดว่าจะมีการเปิดเพิ่มอีก 37 แห่งในอีก 2 ปีข้างหน้า ส่วนใหญ่เป็นมหาวิทยาลัยจากสหรัฐอเมริกา ประเทศที่กำลังไล่ตามมาติดๆ คือ อังกฤษและฝรั่งเศส ฝรั่งเศสนั้นเน้นสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวกับแฟชั่นที่ตนถนัดเป็นพิเศษ

                 หน่วยงานวิจัยด้านการศึกษาข้ามชาติ ยังบอกอีกว่า แนวโน้มในอนาคต ประเทศใน "เอเชีย" จะเป็นเป้าหมายสำคัญที่มหาวิทยาลัยดังของโลกจะแห่กันเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะประเทศที่ประกาศนโยบายจะเป็นศูนย์กลางทางการศึกษา (Education Hub) ของภูมิภาค อย่างจีน(ฮ่องกง) สิงคโปร์ มาเลเซีย เกาหลีใต้ เป็นต้น

                 สาธารณรัฐประชาชนจีนอนุญาตให้มหาวิทยาลัยต่างประเทศไปเปิดสาขาแล้ว 17 แห่ง เพิ่มจาก 10 แห่งเมื่อสองปีที่แล้ว สำหรับสิงคโปร์มีถึง 18 แห่งเพิ่มจาก 12 แห่งในปี 2552 ส่วนมาเลเซียก็เปิดแล้ว 9 แห่ง ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือ ประเทศเหล่านี้ได้ส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยของตนไปเปิดสาขายังต่างประเทศ เช่น สถาบันอุดมศึกษาของมาเลเซียไปเปิดสาขาในต่างประเทศถึง 8 ประเทศ อาทิ จีน บอสวานา ตรินิแดด กัมพูชา อังกฤษ ฯลฯ จีนไปเปิดที่ลาว และกำลังจะไปตีตลาดการศึกษาในแอฟริกา ฯลฯ

                 นอกจากการเปิดมหาวิทยาลัยสาขาแล้ว การสร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษาของประเทศต่างๆ ก็กำลังจะคึกคักมากขึ้นทั่วเอเชีย อย่างเช่น โครงการ "แคมปัส เอเชีย"(Campus Asia) อันเป็นความร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลของประเทศอาเซียนบวกสาม คือ ญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ เพื่อแลกเปลี่ยนนักศึกษาและคณาจารย์ รวมทั้งถ่ายโอนหน่วยกิตการเรียนของมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ร่วมโครงการ โดยเชิญอาเซียนอีกสองประเทศเข้ามาร่วมด้วย โดยญี่ปุ่นรับผิดชอบให้ทุนในการดำเนินงานทั้งหมด ดังตัวอย่าง เช่น มหาวิทยาลัยวาเซดะของญี่ปุ่น ได้เลือกที่จะร่วมมือกับมหาวิทยาลัยปักกิ่งของจีน มหาวิทยาลัยเกาหลีของเกาหลีใต้ และอาเซียนอีกสองประเทศ คือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของไทย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางของสิงคโปร์

                 ความเคลื่อนไหวของการจัดการศึกษาข้ามชาติกำลังจะแพร่กระจายทั่วเอเชีย ในช่วงที่เรากำลังเตรียมการรวมตัวเข้าเป็นประชาคมอาเซียน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยจะวางแผนกำหนดทิศทางการจัดการศึกษาข้ามชาติ/ข้ามพรมแดนของประเทศให้มีความชัดเจนขึ้น โดยความร่วมมือของหน่วยงานหลักทางการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายซึ่งจะร่วมกันจัดประชุมนานาชาติในเรื่องนี้ในอีก 3-4 เดือนข้างหน้านี้

....................................
(การศึกษาข้ามชาติ กำลังจะบุกเอเชีย โดย...ภัทณิดา  พันธุมเสน ผู้อำนวยการสำนักนโยบายความร่วมมือกับต่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา)