คิลานธรรมกับกิจกรรมธรรมะเพื่อผู้ป่วย
คิลานธรรมกับกิจกรรมธรรมะเพื่อผู้ป่วย : โดย...เพ็ญนภา หงษ์ทอง
“เรื่องของโรคและกายให้เป็นเรื่องของยาและแพทย์เขาดูแล เรามาดูแลรักษาจิตของตัวเองดีกว่า” พระมหาสุเทพ สุทฺธิญาโณ บอกกับผู้ป่วยมะเร็งที่กำลังรักษาตัวอยู่ที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ ตามด้วยการแนะนำการทำสมาธิง่ายๆ
ช่วงบ่ายแก่ๆ ของทุกวันอังคาร พระคุณเจ้าจะปฏิบัติกิจของสงฆ์ในการสร้างประโยชน์เกื้อกูลและสร้างสุขให้เกิดในใจของปุถุชนด้วยการทำหน้าที่อาสาสมัคร “ธรรมะข้างเตียง” ของ รพ.จุฬาฯ กิจกรรมดูแลจิตและสร้างกำลังใจคนไข้ ซึ่งจัดขึ้นมานานกว่า 2 ปี พระมหาสุเทพจะถูกจับจองด้วยคนไข้จากไม่ต่ำกว่า 5 โรงพยาบาลที่ต้องการแสวงหาที่พึ่งทางใจในยามที่ร่างกายถูกโรคาพยาธิรุมเร้า และจิตถูกทุกข์ครอบงำ
ไม่เพียงเฉพาะพระมหาสุเทพ เท่านั้น พระสงฆ์อีกไม่ต่ำกว่า 25 รูป ที่รวมกลุ่มกันในนาม “คิลานธรรม” ต่างก็มีภารกิจในรอบสัปดาห์ไม่ต่างกัน คือการทำหน้าที่ของพระอาสาเพื่อถ่ายทอดธรรมแก่ผู้ป่วย อันเป็นความหมายตามตัวอักษรของคำว่า “คิลานธรรม”
พระมหาสุเทพ ในฐานะประธานกลุ่มเล่าว่า คิลานธรรม เกิดจากแนวความคิดของกลุ่มพระนิสิตจิตอาสา ที่ศึกษาหลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาชีวิตและความตาย ภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ที่พร้อมจะนำความรู้และทักษะจากการเรียนรู้ในห้องเรียน ออกรับใช้สังคมเพื่อความสุขแก่ชนหมู่มากที่ทุกข์ทรมานจากอาการป่วยของตนเองและคนที่รัก เนื่องจากมองไม่เห็นความเป็นจริงทางธรรมชาติของกระบวนการแห่งชีวิต ที่ "เกิด แก่ เจ็บ และตาย" เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับทุกชีวิต
“ในกระบวนการเรียนมีการปลูกฝังให้เรามีจิตอาสา ดูแลจิตใจตัวเอง เมื่อเรารู้สึกดีเราก็ไปเผื่อแผ่ให้คนอื่นบ้าง” พระมหาสุเทพ กล่าว
คิลานธรรมเริ่มก่อตัวขึ้นอย่างไม่เป็นทางการในปี 2550 เมื่อ พระมหาสุเทพ ซึ่งขณะนั้นเป็นพระนิสิตสาขาวิชาชีวิตและความตายอยู่ได้รวมตัวกับเพื่อนๆ ทั้งพระสงฆ์และฆราวาสไปสมัครเป็นอาสาสมัครที่ รพ.ศิริราช ซึ่งกำลังติดประกาศรับสมัครอาสาสมัครดูแลผู้ป่วยแบบ palliative care คือการดูแลคนไข้ระยะสุดท้าย ที่ต้องการการดูแลแบบประคับประคอง ผลที่เกิดขึ้นในตอนนั้นคือมีเฉพาะเพื่อนที่เป็นฆราวาสได้รับการเรียกตัวให้เป็นอาสาสมัคร
“อาตมาคิดว่าเขาคงมีความรู้สึกว่าบริบทแบบนั้นการมีพระไปเป็นอาสาสมัครบางทีก็สุ่มเสี่ยงเหมือนกัน มันเป็นทัศนะอะไรบางอย่างนะ เวลาเราป่วยหนักแล้วมีพระมาหา คนอาจจะไม่แน่ใจว่าเป็นกุศลหรือเป็นอะไรอย่างอื่น”
เวลาผ่านไป 1 ปี รพ.ศิริราชจึงนิมนต์พระอาสาสมัครเข้าร่วมทีม ภายหลังประเมินผลการทำงานของอาสาสมัครฆราวาสแล้วว่าได้ผลดี ด้วยวิธีการสนทนาให้กำลังใจเชิงลึกอิงหลักธรรมตามหลักการให้คำปรึกษาเชิงพุทธ ผสมผสานกับหลักจิตวิทยาตะวันตก ทำให้ผู้ป่วยและญาติเข้าใจความจริงแห่งชีวิต และกล้าเผชิญกับความทุกข์ที่กำลังเกิดขึ้น คิลานธรรมค่อยๆ ได้รับการยอมรับจากกลุ่มผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ เริ่มต้นที่ รพ.ศิริราช จากนั้นก็ก้าวสู่เตียงคนไข้ในโรงพยาบาลอื่น เช่น รพ.จุฬาฯ, วชิรพยาบาล, สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี, สถาบันประสาทวิทยา, รพ.ภูมิพล เป็นต้น
จากการให้คำปรึกษาเฉพาะผู้ป่วยและญาติ ก้าวสู่การอบรมจริยธรรมให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ วชิรพยาบาล นิมนต์พระอาสาจากกลุ่มคิลานธรรมเพื่อไปอบรมจริยธรรม และสร้างความละเอียดอ่อนให้แก่จิตใจของพยาบาลทุกคนในโรงพยาบาล เป็นเวลา 2 ปีติดต่อกัน
“ทำให้เราตระหนักได้ว่าวันหนึ่งความตายอาจมาถึงเราหรือคนในครอบครัวเราอย่างกะทันหันได้ และมันก็ทำใจยากมากที่อยู่ๆ ต้องเสียคนที่รักไป เข้าใจเลยค่ะว่าเวลามีคนไข้เสียชีวิต ญาติๆ เขาจะรู้สึกอย่างไร” พยาบาลคนหนึ่งแห่งวชิรพยาบาลกล่าว
จากความสำเร็จกับการทำงานในระบบบริการสุขภาพ คิลานธรรม จึงขยับออกสู่การรับใช้สังคมในวงกว้าง ด้วยการเตรียมขยายโครงการจัดอบรมให้แก่ผู้สนใจทั่วไปที่แสวงหาการมีชีวิตอย่างทุกข์น้อยลงและสุขมากขึ้น
“การเข้าใจและมองเห็นความเป็นธรรมดาแห่งชีวิตและความตาย เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อทุกคน ไม่ต้องรอให้ถึงวันป่วย เวลาป่วยคือเวลาที่เราเอาความเข้าใจนั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ตอนที่เรายังไม่ป่วยคือเวลาที่เราต้องสร้างความตระหนักและความเข้าใจนั้นให้เกิดขึ้น รวมทั้งเรียนรู้ว่าต้องปฏิบัติอย่างไรใจเราจึงจะไม่ป่วยตามกาย” พระมหาสุเทพกล่าวถึงเหตุผลที่คิลานธรรม มีโครงการเปิดตัวสู่สังคมวงกว้าง
..........................................
(คิลานธรรมกับกิจกรรมธรรมะเพื่อผู้ป่วย : โดย...เพ็ญนภา หงษ์ทอง)