ไลฟ์สไตล์

ปัญหาคนกรุง!มลพิษทางอากาศ

ปัญหาคนกรุง!มลพิษทางอากาศ

14 ธ.ค. 2555

คนกรุงอ่วมมลพิษทางอากาศเพิ่ม ส่งผลโรคระบบทางเดินหายใจพุ่งเฉียดปีละ 3 หมื่นราย กทม.ชี้แคมเปญรถยนต์คันแรกรัฐบาล ต้องหามาตรการแก้ไขปัญหาสังคม

               วันที่ 14 ธ.ค. 2555 คนกรุงเทพฯพบเจอมลพิษทางอากาศเพิ่ม ส่งผลโรคระบบทางเดินหายใจ  ปัญหาการจราจรติดขัดในเขตกรุงเทพมหานครในปี 2555 ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากปริมาณรถที่หนาแน่นมากขึ้น จากนโยบายรถยนต์คันแรกของรัฐบาล โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม.ที่มีรายงานการจดทะเบียนรถยนต์ใหม่สูงถึง 2 แสนคันจนทำให้เกิดความแออัดในบริเวณถนนสายหลักทั่วพื้นที่ กทม. ลุ้นคลอดมาตรการดันเก็บภาษี รถยนต์ที่เข้าพื้นที่แออัด เตรียมถกหน่วยงานรัฐ เปิดถนน 5 สายชั้นในพบความเร็วเฉลียวิ่งช้าลง


คนกรุงอ่วมโรคทางเดินหายใจพุ่ง3หมื่นต่อปี

               ด้านพญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวยอมรับว่า ความหนาแน่นของรถยนต์ส่วนบุคคลที่วิ่งในเขตพื้นที่กทม.นั้น ส่งผลให้มลพิษทางอากาศในกทม.มีความวิกฤติขึ้นอีกครั้งหนึ่งเนื่องจากปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน และสารมลพิษอื่นๆเช่น ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ ก๊าซโอโซนที่ถูกปล่อยออกมาในบรรยากาศนั้นส่งผลต่อสุขภาพของคนกรุงเทพฯ ที่ต้องสูดเอาฝุ่นละอองหรืออากาศเป็นพิษเข้าไปในปอดด้วย ซึ่งจากข้อมูลสถิติการเจ็บป่วย ที่กองวิชาการ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร เก็บข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่ปี 2548-2554 พบแนวโน้มโรคระบบทางเดินหายใจมีแนวโน้มเพิ่มสูงมากขึ้นทุกๆปีเฉลี่ยปีละ 20,000-30,000 ราย เช่น โรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด เป็นต้น

               'ด้านสถิติคนเจ็บป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจในกลุ่มโรคต่างๆมีจำนวนเพิ่มขึ้น จากตัวเลขปี 2548 ที่มีเพียง 242,405  รายเพิ่มเป็น  305,929 รายในปี 2551 ส่วนปี 2552 จำนวน 365,372 ราย และเพิ่มเป็น 363,744 รายในปี 2553 ขณะที่ปี 2554 สูงขึ้นเป็น 381,184 รายแล้ว  ทั้งนี้นัยที่เป็นรูปธรรมจากความเจ็บป่วยของโรคระบบทางเดินหายใจ ที่สัมพันธ์กับมลพิษทางอากาศที่มาจากปัญหาการจราจรที่ติดหนักมากในพื้นที่ กทม.เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก โดยกทม.อาจจะต้องหาคนมาทำวิจัยเชิงลึกในเรื่องสุขภาพโดยตรง เพราะเป็นปัญหาในระยะยาวที่ส่งผลต่อคนที่ต้องทำมาหากินอยู่ที่นี่' รองผวจ.กทม.ระบุ

จี้รัฐบาลแก้นโยบายรถยันต์คันแรก

               ส่วนพญ.มาลินี กล่าวอีกว่า ส่วนภาพรวมการแก้ปัญหานั้น ขณะนี้รัฐบาลเองก็ทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้น มอบหมายให้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเข้ามาดูแลเรื่องนี้  โดยกทม.พร้อมจะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ เพราะการแก้ปัญหาบางประเด็นอาจต้องให้ระดับนโยบายตัดสินใจเอง เนื่องจากรถที่เพิ่มขึ้นเป็นนโยบายจากรถยนต์คันแรกที่รัฐบาลส่งเสริมให้ประชาชนซื้อ ดั้งนั้นก็ต้องหาคำตอบให้กับสังคมว่าจะทำอย่างไรกับผลกระทบที่ตามมาอย่างชัดเจนในตอนนี้ ทั้งปัญหารถติด ปัญหาคนเครียดจากที่ต้องอยู่บนท้องถนนนานขึ้น และคนที่เจ็บป่วยมากขึ้นจากมลพิษทางอากาศ โดยกทม.จะนัดหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเร็วๆนี้ เพื่อสรุปปัญหาและหามาตรการบรรเทาผลกระทบจากปัญหาจราจรต่อไป

               'ก่อนหน้านี้เมื่อ 10 ปีก่อน กทม.ก็เคยประสบปัญหามลภาวะทางอากาศจากรถยนต์ควันดำ และปัญหาน้ำมันที่มีสารตะกั่วมาแล้ว  จนกระทั่งรัฐบาลผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง ทั้งมาตรการห้ามใช้น้ำมันที่มีสารตะกั่ว และมาตราการเรื่องตรวจจับรถควันดำ และมีรถยนต์รุ่นใหม่ๆที่ก่อมลพิษน้อยเข้ามาแทน จนส่งผลให้ปัญหาทางอากาศในกทม.มีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ แต่จากปริมาณรถที่มากขึ้นในช่วง 2 ปีนี้คาดว่ามลพิษทางอากาศจะกลับมามีผลต่อสุขภาพอีก'

หนุนเพิ่มพื้นที่สีเขียวรอบกรุง

               ส่วนคำถามที่ว่าในส่วนกทม.จะมีมาตรการแก้ปัญหาอะไรหรือไม่ พญ.มาลินี กล่าวว่า 'ขณะนี้ทางกทม.ได้มีแผนเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตกทม.และปริมณฑลเพื่อเป็นแหล่งกรองอากาศพิษ โดยสามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวได้ 5,025  ไร่ภายในระยะเวลาอีก 4 ปี เพิ่มสวนสาธารณะ 4 แห่งได้กว่า 60 ไร่ และอีก 3 สวนพื้นที่รวมกันร่วม 200 ไร่ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างคือ สวนเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา เขตบางบอนพื้นที่ 100 ไร่ บริเวณทางแยกต่างระดับวัชรพลเขตบางเขน 21 ไร่ และสวนบริเวณซอยเพชรเกษม69 พื้นที่ 70 ไร่ โดยจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2556 เนื่องจากอยู่ระหว่างการทำสัญญาเช่าที่ดินสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยตั้งเป้าว่าภายในปี 2575 หรืออีก 20ปีข้างหน้าจะต้องเพิ่มสัดส่วนพื้นที่สีเขียวให้ได้เป็น 9ตรม.ต่อคน จากปัจจุบันที่คิดเป็นสัดส่วนเพียง 4.73 ตรม.ต่อคนเท่านั้น

เตรียมถกเก็บภาษีรถเข้าพื้นที่จราจรแออัด

               ผู้สื่อข่าวถามถึงความเป็นไปได้ที่จะเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมกับรถยนต์ที่จะเข้ามาในพื้นที่แออัดแบบที่มีเมืองลอนดอน ประเทศอังกฤษ บังคับใช้ นางมาลินี ยอมรับว่าแนวคิดนี้กทม.อยากผลักดันให้เกิดมาก โดยเฉพาะในเขตพื้นที่กทม.ชั้นใน  เพราะหลายพื้นที่ประสบปัญหาการนำรถมาจอดซ้อนกันบนฟุตบาท จอดตามซอยแคบๆทำให้การเข้าออกยิ่งติดหนักมากขึ้น ซึ่งข้อเสนอเรื่องการเก็บภาษีนี้คิดว่า อาจถึงเวลาที่ต้องหารือกับทุกภาคส่วนและทำความเข้าใจกับผู้ใช้รถใช้ถนน เพื่อให้แก้ปัญหาการจราจรในเขตเมืองได้อย่างจริงจัง เพราะถ้าสามารถทำได้จะเป็นผลทางบวก เพราะอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้ามีการประเมินว่าประชากรที่เข้ามาอาศัยในกทม.และปริมณฑลจะมากถึง15 ล้านคน ดังนั้นการวางแผนเพื่อรองรับการเติบโตของเมืองจะต้องมองถึงปัญหาจากความแออัดของคน การใช้รถ และมลพิษที่จะเพิ่มขึ้นด้วย

สำรวจพบ 5 ถนนหลักขับรถต่อชั่วโมงช้าลง

               ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลการสำรวจของ สำนักการจราจรและขนส่ง กทม.ที่เพิ่งแล้วเสร็จเมื่อเดือนก.ย.55 เกี่ยวกับอัตราความเร็วเฉลี่ยการเดินทางบนถนนสายหลัก 5 สายโดยเทียบจากความเร็วที่ขับกม.ต่อชั่วโมง พบแนวโน้มแย่ลงมาก โดยระหว่างปี 2551-2555  เช่น ถนนพระรามที่ 1 บริเวณแยกเพลินจิต ถึงแยกกษัตริย์ศึก พบว่า ค่าเฉลี่ยในการเดินทางเข้า 12.66 กม.ต่อ ชั่วโมง เหลือเพียง 8.34 กม.ต่อชั่วโมง ส่วนขาออก 10.52 กม.ต่อชั่วโมง เหลือเพียง 6.59 กม.ต่อชั่วโมง  ขณะที่ถนนราชดำเนิน จากแยกป้อมเผด็จ ถึงแยกพระบรมรูปทรงม้า ปี 2551 ขาเข้าความเร็วเฉลี่ยขาเข้า 12.33 กม.ต่อชั่วโมง แต่ปี 55 เหลือเพียง 9.96 กม.ต่อชั่วโมง และขาออกความเร็วเฉลี่ย 17.81 กม.ต่อชั่วโมง เหลือเพียง 11.28 กม.ต่อชั่วโมง เป็นต้น  ส่วนถนนสีลม จากแยกศาลาแดงถึงแยกบางรัก ปี 2551 ความเร็วขาเข้า 10.66 กม.ต่อชั่วโมง เหลือเพียง 7.43 กม.ต่อชั่วโมง และขาออก 10.15 กม.ต่อชั่วโมงเหลือเพียง 9.41 กม.ต่อชั่วโมง สำหรับถนนสาทร แยกวิทยุถึงแยกสาทร-เจริญกรุง ความเร็วเฉลี่ย 10.65 กม.ต่อชั่วโมง เหลือเพียง 6.85 กม.ต่อชั่วโมง และขาออกความเร็วเฉลี่ย 9.11 กม.ต่อชั่วโมง เหลือเพียง5.40 กม.ต่อชั่วโมง และถนนราชวิถี ความเร็วเฉลี่ยขาเข้า 10.74 กม.ต่อชั่วโมง เหลือเพียง7.18 กม.ต่อชั่วโมง และขาออก 14.43 กม.ต่อชั่วโมง เหลือเพียง 13.30 กม.ต่อชั่วโมง

 จับมือกรมอนามัยแก้มลพิษสุขภาพ

               ขณะที่ นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรม ชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ขณะนี้กรมควบคุมมลพิษ ได้ลงนามร่วมมือด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 2 ปี 2555 - 2559 ระยะเวลา 5 ปี โดยมีแนวทางด้านอนามัย และสิ่งแวดล้อมที่ประชาชนจะได้รับการคุ้มครองมากยิ่งขึ้นใน 7 ด้าน ได้แก่ 1.คุณภาพอากาศ 2.น้ำ สุขาภิบาล และสุขอนามัย 3.ขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย 4.สารเคมี 5.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 6.การจัดการสิ่งแวดล้อมในภาวะฉุกเฉินฯ และ 7. การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ เนื่องจากปัจจุบัน สภาพแวดล้อมของโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง บวกกับประชากรที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติมีมากเกินไป ก่อให้เกิดมลพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยแผนยุทธศาสตร์ นี้จะเพิ่มการทำงานสู่ระดับองค์กรส่วนท้องถิ่นให้มีบทบาทในการป้องกันแก้ไขมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเข้าถึงความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างรวดเร็ว

               นายวิเชียร กล่าวถึงสถานการณ์คุณภาพอากาศในกทม.ว่า 'ถึงแม้จะมีปริมาณรถเพิ่มขึ้น แต่จากการตรวจสอบคุณภาพอากาศของกทม. ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ต.ค. 2555 ยังไม่พบแนวโน้มที่ชัดเจนของการเปลี่ยนแปลงคุณภาพอากาศ ที่อาจมีปริมาณมลพิษเพิ่มขึ้นแต่อย่างได แต่ยังคงต้องมีการติดตาม และประเมินผลการทบในระยะยาวต่อไป เพราะภาพรวมในเขตเมืองมีการจราจรหนาแน่นยังมีปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน ทั้งนี้ช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มลดลงจนอยู่ในระดับค่ามาตรฐานเฉลี่ยรายปีต้องไม่เกิน 50 ไมโคร กรัมต่อลูกบาศก์เมตรในปี 2554 จากเดิมที่เคยเกินมาตรฐานเฉลี่ยรายปีสูงถึง 80 ไมโครกรัมต่อลูก บาศก์เมตร โดยมีสถิติลดลงอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ปี 2551 ที่ลดลงมาจนเกือบแตะสถิติคือ 51-52 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

               ทั้งนี้ก็ยังพบบริเวณริมเส้นทางการจราจรหนา แน่น ในบางพื้นที่ก็ยังคงมีปัญหาฝุ่นขนาด 10 ไมครอนเกินมาตรฐานรายชั่วโมงเฉลี่ย สูงอยู่เป็นครั้งคราวแต่เฉลี่ยเหลือแค่ร้อยละ 1 ต่อปีเท่านั้น โดยเฉพาะถนนดินแดงในช่วงเวลา 1 ทุ่ม - 4 ทุ่ม ถนนพระราม 6 ถนนพหลโยธิน และถนนพระราม 4 นอกจากนี้ยังต้องจับตาสารเบนซิน กลุ่มสารอินทรีย์ระเหยง่าย (วีโอซี) ก่อมะเร็งด้วย หลังจากพบว่าผลการตรวจวัดทุกสถานีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดมาก ระหว่างปี 2553 กับ 2554 ที่กำหนดค่ามาตรฐานต้องไม่เกิน 1.7 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยเฉพาะสถานีราชภัฎธนบุรีจาก 2.8 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรในปี 53 เป็น 3.6 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สถานีปทุมวัน (ข้างโรงพยาบาลจุฬา) 4.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็น 6.1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สถานีวังทอง หลาง (โชคชัย4) 3.9 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็น 4.3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และสถานีดินแดง 5.2 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็น 6.3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

               นายวิเชียร กล่าวอีกว่า 'นอกจากนี้ยังมีกลุ่มโอโซน ที่เริ่มพบเกินมาตรฐานเป็นครั้งคราว ซึ่งกำลังศึกษาแนวโน้มการเพิ่มขึ้น เพื่อหาถึงสาเหตุและมาตรการลดผลกระทบแล้ว นอกจากนี้ยังมีสารฟอร์มัลดีไฮด์ ที่อยู่ในกลุ่มสารคาร์บอนิลที่่ก่อมะเร็งเช่นกัน'

ชี้บังคับใช้น้ำมันยูโร4 ลดสารเบนซิน1%

               ด้านนายเจนจบ สุขสด ผอ.ส่วนคุณภาพอากาศจากยานพาหนะ คพ. กล่าวว่าปัญหาสารเบนซินในบรรยากาศ ที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นมาจากสัดส่วนของเบนซินในน้ำมันเชื้อเพลิงที่เดิมกำหนดสัดส่วนไว้ 3.5% แล้วแต่ขณะนี้กระทรวงพลังงานได้ประกาศให้ลดสัดส่วนเหลือแค่ 1% ตั้งแต่กลางปี 2555 เพื่อให้น้ำมันเชื้อเพลิงเป็นไปตามมาตรฐานยูโร 4 ซึ่งจะมีผลต่อคุณภาพอากาศในกทม. ที่ประสบปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก 10 ไมครอนกินมาตรฐาน เนื่องจากการเผาไหม้น้ำมันดีเซลที่มีกำมะถันสูง และปัญหาก๊าซโอโซน ที่เกิดจากปฏิกิริยาระหว่างก๊าซโดรคาร์บอน กับออกไซด์ของไนโตรเจนจากไอเสียของรถยนต์ที่มีแสงแดดเป็นตัวเร่ง ดังนั้นแนวโน้มของสารเบนซินในบรรยากาศก็น่าจะลดลง

 

....................................................................

(หมายเหตุ : ภาพจาก postjung.com )