ไลฟ์สไตล์

บุหรี่ไฟฟ้าสุดอันตรายเสี่ยงหัวใจ-มะเร็ง

บุหรี่ไฟฟ้าสุดอันตรายเสี่ยงหัวใจ-มะเร็ง

30 เม.ย. 2557

บุหรี่ไฟฟ้าสุดอันตราย เสี่ยงหัวใจ-มะเร็งสธ.ดันกฎหมายควบคุม : พรรณทิพา จิตราวุฒิพรรายงาน

               ความพยายามในการเลิกบุหรี่ของหลายคน กลายเป็นช่องทางให้กลุ่มผู้ค้าหัวใส ลักลอบนำบุหรี่ไฟฟ้ามาจำหน่ายแทนโดยอวดอ้างสรรพคุณว่าสามารถช่วยให้เลิกบุหรี่ได้ ทั้งที่ความจริงแล้วอันตรายต่อสุขภาพยิ่งกว่า เพราะมีสารก่อมะเร็งหลายชนิดเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ชนิดนี้

               บุหรี่ไฟฟ้ามีการลักลอบนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยประมาณ 5 ปี โดยมีจำหน่ายที่ตลาดสินค้านำเข้าจากประเทศจีน เช่น คลองถม สะพานเหล็ก ห้างสรรพสินค้าที่จำหน่ายสินค้าเกรด 2 รวมถึงตลาดนัดสินค้าประเภทมือสอง แต่ระยะหลังพบว่ามีการจำหน่ายในอินเทอร์เน็ตและผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์มากขึ้น โดยผู้จำหน่ายมีการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณว่าผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ช่วยให้ผู้ต้องการเลิกบุหรี่สามารถเลิกบุหรี่ได้ อีกทั้งตัวผลิตภัณฑ์มีการออกแบบสวยงามพกพาได้สะดวก ราคาจำหน่ายมีตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักพัน ซึ่งเมื่อซื้อแล้วใช้งานได้นานในระยะยาวจะมีค่าใช้จ่ายถูกกว่า

               ผู้จำหน่ายยังอ้างว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ มีเพียงไอน้ำ เมื่อสูบไปแล้วจะไม่ทำให้ผู้สูบมีกลิ่นติดตัว ฟันไม่เหลือง และควันของบุหรี่ไม่มีอันตรายต่อคนรอบข้าง ซึ่งความจริงแล้วไม่เป็นความจริง โดย ภก.คฑา บัณฑิตานุกูล เครือข่ายเภสัชอาสาพาเลิกบุหรี่ ยืนยันว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายต่อผู้สูบมากกว่าการสูบบุหรี่ทั่วไปหลายเท่า

               "ปัจจุบันมีการเผยแพร่ข้อมูลว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยมากกว่าบุหรี่ทั่วไป โดยยกตัวอย่างว่า บุหรี่ปกติมีสารพิษกว่า 6,000 ชนิด แต่บุหรี่ไฟฟ้ามีแค่นิโคติน ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะในบุหรี่ไฟฟ้า จะมีปริมาณนิโคตินที่เข้มข้นสูงกว่าใบยาสูบทั่วไป และไม่สามารถควบคุมปริมาณนิโคตินได้ ซึ่งอันตรายคือ นิโคตินจะทำให้อัตราการเต้นหัวใจสูง และอาจส่งผลต่อความดันโลหิต และเมื่อมีการเผาไหม้ สารโพรไพลีน ไกลคอล (propylene glycol) ที่ใช้ในบุหรี่ไฟฟ้า จะเกิดสารตกค้างที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งได้ และการวิจัยที่ผ่านมายังพบว่า บุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่ได้ต่ำ หรือแม้จะหยุดสูบบุหรี่ธรรมดาได้ แต่ผู้สูบกลับต้องการบุหรี่ไฟฟ้าในปริมาณที่เพิ่มขึ้น อาการดังกล่าวคือการติดบุหรี่ไฟฟ้าแทน" ภก.คฑา กล่าว

               สอดคล้องกับ นพ.วันชาติ ศุภจัตุรัส หัวหน้าสำนักงานเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพ เพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ระบุว่า บุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ทั่วไปเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็ง และส่งผลต่อสุขภาพไม่แตกต่างกัน แต่ผู้ใช้เข้าใจผิดคิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีอันตราย เพราะเป็นการใช้ไอน้ำผ่านตัวดูด แต่สารที่ผสมในน้ำมันชนิดนี้ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และตัวของบุหรี่ไฟฟ้าไม่ผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรม

               ขณะที่น้ำมันระเหยที่ใช้ในบุหรี่ไฟฟ้า พบว่า มีสารนิโคตินเข้มข้นสูงกว่าใบยาสูบทั่วไป และยังมีสารตกค้างจำพวก ไกลคอล ตะกั่ว แมงกานิส สังกะสี ปรอท สารหนู และแคดเมียม ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง เมื่อสูบเข้าไปปริมาณมากจะทำลายระบบหายใจในระยะยาวจะเป็นมะเร็ง

               "ที่น่าเป็นห่วงคือปัจจุบันกลุ่มวัยรุ่นนิยมสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น ล่าสุดพบว่าเด็กนักเรียนชั้น ป.3 ยังติดบุหรี่ชนิดนี้เพราะเห็นผู้ปกครองสูบจึงเกิดการเลียนแบบ กลุ่มวัยรุ่นเห็นว่าเป็นแฟชั่น น้ำยาบุหรี่มีหลายกลิ่น หลายรส ชวนให้ลิ้มลอง ซึ่งอันตรายอย่างยิ่ง อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหามาตรการดำเนินการโดยเร่งด่วน" นพ.วันชาติ กล่าว

               บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่สามารถนำเข้าและจำหน่ายในประเทศไทยได้ แต่พบว่า ปัจจุบันมีจำหน่ายโดยทั่วไป ซึ่ง นพ.นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ยอมรับว่า บุหรี่ไฟฟ้ากำลังระบาดอย่างหนัก ทั้งที่มีกฎหมายห้ามไว้อย่างชัดเจน เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ร่างกฎหมายเพื่อบังคับให้บุหรี่ไฟฟ้าเข้าไปอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกันกับบุหรี่ทั่วไป เพื่อจะได้กำหนดขอบเขตของผู้สูบและผู้จำหน่ายเช่นเดียวกับบุหรี่ทั่วไป โดยกฎหมายได้ร่างเรียบร้อยแล้วอยู่ระหว่างรอเสนอเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร

               ปัจจุบันมีกฎหมาย 3 ฉบับ ที่ห้ามไม่ให้มีการนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า คือ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 เรื่องห้ามผลิตนำเข้าเพื่อขายหรือเพื่อจ่ายแจกที่มีรูปลักษณะที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นสิ่งเลียนแบบผลิตภัณฑ์ยาสูบ ผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท, พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต ขาย หรือนำ หรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งยาแผนปัจจุบัน เว้นได้แต่ได้รับอนุญาต ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท และ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ผู้ใดนำหรือพาของที่ยังมิได้เสียค่าภาษี โดยถูกต้องเข้ามาในราชอาณาจักรสยาม ความผิดครั้งหนึ่งจะมีโทษปรับเป็นเงิน 4 เท่าของราคาของ ซึ่งได้รวมค่าอากรขาเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

               แต่กลับพบว่ากฎหมายดังกล่าวยังไม่ถูกนำมาบังคับใช้อย่างจริงจัง โดยนายเอ (นามสมมุติ) ผู้จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ยอมรับว่า ทราบดีว่าการนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า เป็นการทำผิดกฎหมาย แต่ไม่กลัว เนื่องจากรายได้ดีคุ้มค่ากับการเสี่ยงต่อการถูกจับกุม ปัจจุบันลูกค้าหลักจะเป็นกลุ่มวัยรุ่นที่นิยมใช้ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ รูปร่างแปลกๆ สีสันสวยงาม ซึ่งผลิตภัณฑ์ชนิดนี้จะจำหน่ายได้อย่างต่อเนื่อง เพราะลูกค้าเมื่อซื้อบุหรี่ไฟฟ้าไปแล้วก็จะกลับมาซื้อน้ำยาบุหรี่ที่จำเป็นต้องนำไปเติมกับตัวบุหรี่เป็นประจำ

               "รู้ว่าผิดกฎหมาย จึงเลือกจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าให้แก่ลูกค้าเฉพาะทางอินเทอร์เน็ต โดยไม่เปิดหน้าร้าน มีคนใกล้ชิดเคยเปิดร้านที่ห้างสรรพสินค้าชื่อดังแห่งหนึ่งย่านรังสิตถูกจับกุม แต่ก็ไม่ได้มีการดำเนินคดี เพียงแต่มีค่าน้ำร้อนน้ำชา 20,000 บาท ก็กลับมาจำหน่ายสินค้าได้ต่อ และหลังจากนั้นก็ไม่ถูกจับอีกเพราะมีการแจ้งล่วงหน้าหากจะมีการกวาดล้างสินค้าประเภทนี้" ผู้ค้าบุหรี่ไฟฟ้ารายเดิม เปิดเผย

               การไม่เอาจริงเอาจังในการบังคับใช้กฎหมาย เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้บุหรี่ไฟฟ้า แพร่หลายอยู่ในสังคมไทยทุกวันนี้ หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เร่งดำเนินการกวาดล้างปราบปรามอย่างจริงจัง เด็กและเยาวชนไทยอีกไม่น้อยคงตกเป็นเหยื่อ ที่สำคัญสถิติผู้ป่วยหรือผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งคงเพิ่มขึ้นจนยากที่จะควบคุม

...............

(หมายเหตุ : บุหรี่ไฟฟ้าสุดอันตราย เสี่ยงหัวใจ-มะเร็ง สธ.ดันกฎหมายควบคุม : พรรณทิพา จิตราวุฒิพรรายงาน)