ย้อนรอย 'วัดกัลยาณมิตร' ที่แห่งมิตรดี เพื่อนดี ย่านฝั่งธนฯ
22 มี.ค. 2558
ย้อนรอย 'วัดกัลยาณมิตร' ที่แห่งมิตรดี เพื่อนดี ย่านฝั่งธนฯ : โดย...ผกามาศ ใจฉลาด
เมื่อเอ่ยถึง "วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร" เขตธนบุรี ทำให้คนไทยนึกถึงภาพวัดสวยสง่าแบบโบราณริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม้ในช่วงเวลาค่ำก็มีแสงไฟส่องสว่างต้องหลังคาโบสถ์ วิหาร หน้าบัน ศิลปะลายกระเบื้องจีนตามพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สวยเด่นชัดเจนตา ทั้งผู้ที่อยู่ในรถบนสะพานพุทธและผู้ที่นั่งเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา ”วัชรา พรหมเจริญ" ประธานที่ปรึกษาวัดกัลยาณมิตร อดีตผู้อำนวยการเขตธนบุรี บรรยายถึงความงดงามของวัดดังแห่งฝั่งธนบุรีไว้ในหนังสือชื่อ "ความจริงที่วัดกัลยาณมิตร วรมหาวิหาร" พิมพ์แจกจ่ายเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2555
ที่มาวัดเก่าแก่แห่งนี้ ทำให้รำลึกถึงพระคุณของผู้สร้างวัด คือ ท่านเจ้าพระยานิกรบดินทร (โต) ซึ่งบริจาคที่ดินบ้านของท่านก่อสร้างพระอาราม เริ่มลงมือเมื่อปีระกา พ.ศ.2368 เป็นปีที่ 2 ในสมัยรัชกาลที่ 3 แล้วถวายเป็นพระอารามหลวง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “วัดกัลยาณมิตร” นามพระราชทานวัดว่า “กัลยาณมิตร” ที่หมายถึง มิตรดี หรือเพื่อนดี มีที่มาจากความสัมพันธ์ส่วนพระองค์ที่มีต่อเจ้าพระยานิกรบดินทร ผู้สร้างวัดนั่นเอง
ในสมัยโบราณเรียกย่านนี้ว่า "หมู่บ้านกุฎีจีน" มีเส้นทางคมนาคมหลักเป็นเส้นทางน้ำ แต่ปัจจุบันใช้เส้นทางรถเป็นหลักและเมื่อมีการตัดถนนเส้นอรุณอมรินทร์ตัดใหม่ขึ้น ทำให้การเดินทางสะดวกยิ่งขึ้น วัดกัลยาณมิตรมีอายุถึงปัจจุบันเกือบ 190 ปี ทางกรมศิลปากร (ศก.) ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานตั้งแต่ปี 2492 โดยระบุว่า ภายในประกอบด้วยสิ่งสำคัญในโบราณสถานแห่งนี้ ประกอบด้วย พระวิหารหลวง พระอุโบสถ พระวิหารน้อย หอพระธรรมมณเฑียรเฉลิมพระเกียรติ ศาลาตรีมุข ศาลาราย เก๋งจีน ตึกหิน (เกชิ้น) ซุ้มประตู รั้วศิลา เจดีย์ถะ หอระฆัง ซุ้มประตู เสาศิลา ศาลาเสวิกุล ศาลาทรงปั้นหยา หอกลอง ตึกหอสวดมนต์กัลยาณาลัย กุฏิสงฆ์ อาคารเก็บอัฐิ สระน้ำ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีในส่วนของที่เผากระดาษเงินกระดาษทอง วิหารจตุรมุข โรงเรียนพระปริยัติธรรม ศาลาโถง ศาลาการเปรียญ ศาลาท่าน้ำ ศาลาอเนกประสงค์ หอฉัน สำนักงานเจ้าคณะภาค 13 เมรุ ศาลาสวดอภิธรรมศพ โรงครัว และโรงจอดรถ โดยโบราณสถานสำคัญ อันได้แก่ พระวิหารหลวงนั้น รัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระวิหารหลวงและพระประธาน เมื่อปี 2380 ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามพระประธานภายในพระวิหารหลวงว่า “พระพุทธไตรรัตนนายก” หรือหลวงพ่อโต ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่คนจีน เรียกกันตามแบบจีนว่า ซำปอฮุดกง หรือ ซำปอกง เมื่อถึงหน้าเทศกาลงานวัด ชาวจีนทั้งหลายจะร่วมกับทางวัดจัดงานนมัสการ มีการแสดงงิ้ว ทิ้งกระจาด และเสี่ยงทายเป็นประจำในวันสิ้นเดือน 9 ของทุกปี
สถาปัตยกรรม จิตรกรรมส่วนใหญ่ในวัดแห่งนี้ ผสมผสานระหว่างความเป็นไทยและจีน แสดงถึงความเป็นกัลยาณมิตรระหว่างศาสนา ศิลปวัฒนธรรมของไทยจีนอย่างชัดเจน พระอุโบสถ พระวิหารน้อย ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ก่อสร้างตามแบบพระราชนิยมในศิลปะจีน คือ ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ แต่ต่างกันที่จิตรกรรมฝาผนังของพระอุโบสถนั้น เดิมเคยเป็นภาพเครื่องบูชาแบบจีน ผนังระหว่างช่องหน้าต่างทั้งหมดมีภาพขนาดใหญ่ของแจกันจีนปักด้วยดอกไม้ ปัจจุบันผนังส่วนนี้ถูกทาสีขาวทับหมดแล้ว ส่วนภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระวิหารน้อย เป็นเรื่องอดีตพระพุทธเจ้า ทศชาติชาดก ซึ่งยังคงรักษาแบบอย่างจิตรกรรมประเพณีมากกว่าจิตรกรรมฝาผนังของพระอุโบสถ กาลเวลาผ่านไปเกือบ 190 ปี โบราณสถาน โบราณวัตถุส่วนใหญ่เริ่มชำรุดทรุดโทรม
17 มีนาคม 2558 นายบวรเวท รุ่งรุจี อธิบดีกรมศิลปากร หอบหลักฐานเอกสาร เดินทางเข้าพบ พ.ต.อ.ณัฏฐ์พัชร์ ผดุงจันทน์ ผกก.สน.บุปผาราม พนักงานสอบสวนผู้ทรงคุณวุฒิ สน.บุปผาราม เพื่อแจ้งความดำเนินการกับผู้สั่งการและคนงานซึ่งทำลายดัดแปลงแก้ไขโบราณสถานกุฏิคณะ 1 ภายในวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร โดยให้ดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งทางอาญาและแพ่งอย่างถึงที่สุด สร้างความสนใจว่า เกิดอะไรขึ้นกับวัดกัลยาณมิตรแห่งนี้ โดยเปิดเผยอีกว่า นี่ไม่ใช่การกระทำผิดครั้งแรก ก่อนหน้านี้กรมศิลปากรได้ดำเนินคดีทั้งหมด 15 คดี ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน โดยสรุปอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง 10 คดี โดยตัดสินว่าขาดเจตนา และเชื่อโดยสุจริตว่า ที่ดินที่ก่อสร้างมิใช่โบราณสถาน กระทำดังกล่าวจึงไม่เกิดความเสียหายแก่กรมศิลปากร หรือผู้ใดผู้หนึ่ง หรือกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า กรมศิลปากรยังไม่เคยชนะคดีเลย แต่ยังคงเหลืออีก 5 คดี อยู่ระหว่างการสอบสวนของ สน.บุปผาราม โดยมั่นใจว่า การแจ้งความดำเนินคดีครั้งล่าสุดนี้จะมีน้ำหนัก เพราะทางวัดกัลยาณมิตรจะอ้างไม่มีเจตนาหรือไม่รู้ว่าเป็นโบราณสถานไม่ได้แล้ว
ตลอดระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมา มีโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ได้รับความเสียหาย รื้อทำลายไปแล้วจำนวน 22 รายการ อาทิ หอระฆัง อาคารเสวิกุล ศาลาทรงปั้นหยา หอกลอง หอสวดมนต์กัลยาณาลัย ศาลาปากสระ กุฏิเก่าคณะ 7 จำนวน 3 หลัง รื้อราวระเบียงหิน พื้นหิน ตุ๊กตาหินอับเฉา กุฏิสงฆ์คณะ 4 และการถมสระน้ำภายในกุฏิสงฆ์คณะ 4 และถมสระน้ำภายในกุฏิสงฆ์คณะ 2 นอกจากการรื้อถอนทำลายโบราณสถานยังมีการก่อสร้างอาคารในเขตโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนแล้วโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมศิลปากร
“ความยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ด้านศาสนา ความสวยสดงดงามมีเพียงหนึ่งเดียว เหล่านี้ทำให้ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานตั้งแต่ปี 2492 ภายใต้ชื่อวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร หมายความว่า พื้นที่บริเวณของวัดกว่า 10 ไร่ทั้งหมด ทั้งเขตพุทธาวาส สังฆาวาส ถือเป็นเขตโบราณสถานที่ได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุฯ ซึ่งการคุ้มครองนั้นหมายความว่า กรมศิลปากรไม่ได้เป็นเจ้าของพื้นที่ แต่มีหน้าที่ดูแลรักษาโบราณสถานที่อยู่ในพื้นที่นั้นๆ เจ้าของยังเป็นวัด หรือ นิติบุคคล ใครก็แล้วแต่ เพียงแต่ว่า หากได้รับการขึ้นทะเบียนโบราณสถานแล้ว สิ่งที่ห้ามทำคือ ห้ามรื้อโบราณสถาน และในกรณีต้องการซ่อมแซมอาคารโบราณสถานต่างๆ ให้แจ้งมาที่กรมศิลปากร จะมีเจ้าหน้าที่ สถาปนิก วิศวกร ภูมิสถาปนิก ช่างศิลปกรรม ไปช่วยออกแบบเพื่อการอนุรักษ์โบราณสถานนั้นๆ เป็นหน้าที่กรมศิลปากรตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุฯ” นายบวรเวท รุ่งรุจี อธิบดีกรมศิลปากร กล่าว
ขณะที่เหตุผลของทางวัด พระพรหมกวี (ประกอบ ธมฺมเสฏฺโฐ) เจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตร ที่เข้ามารับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตรตั้งแต่ปี 2546 เคยทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด ลงวันที่ 3 มกราคม 2554 สรุปพอสังเขป อาทิ 1.กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนบัญชีโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 66 ตอนที่ 64 วันที่ 22 พฤศจิกายน 2492 ได้ใช้ถ้อยคำว่า โบราณสถานในวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร และอีก 27 วัด โดยตั้งแต่ขึ้นทะเบียน กรมศิลปากรไม่เคยเข้ามาจัดทำบัญชีว่าสิ่งใดเป็นโบราณสถาน สิ่งใดไม่เป็นโบราณสถาน โดยเฉพาะกุฏิสงฆ์ชำรุดทรุดโทรมจนไม่อาจซ่อมแซมได้ จนเมื่ออาตมภาพเข้ามาเป็นเจ้าอาวาสก็ได้ซ่อมแซมอาคารที่พักสงฆ์เช่นเดียวกับ 27 วัดที่ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน แต่กรมศิลปากรกลับใช้ดุลพินิจว่า วัดกัลยาณมิตรกำหนดเป็นเขตโบราณสถานแล้ว ห้ามอาตมภาพดำเนินการใดๆ และแจ้งความดำเนินคดีกับวัดและอาตมภาพ ซึ่งอาตมภาพเห็นว่าไม่เป็นธรรม
2.อาตมภาพจำเป็นต้องรักษาโบราณสถานที่เป็นอาคารมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ไว้ ซึ่งตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุฯ มาตรา 9 กำหนดว่า โบราณสถานใดที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้วและเป็นโบราณสถานที่มีเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายชำรุดหักพัง หรือเสียหายไม่ว่าด้วยประการใดๆ ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองโบราณสถานนั้นแจ้งการชำรุดหักพังหรือเสียหายเป็นหนังสือไปยังอธิบดีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่เกิดการชำรุดเสียหายหรือหักพังนั้น
อาตมภาพพบเห็นสภาพอาคารโบราณสถาน เช่น พระอุโบสถ พระวิหารหลวง พระวิหารน้อย หอพระธรรมมณเฑียรเถลิงพระเกียรติชำรุดทรุดโทรมมาก หนังคากระเบื้องแตกรั่ว น้ำฝนรั่วซึมลงไปทำลายอาคาร ภาพเขียนบนเพดานและฝาผนัง องค์หลวงพ่อโต ทองหลุดล่อนหลายแห่ง และได้ทำหนังสือขออนุญาตไปยังกรมศิลปากรเพื่อทำการบูรณะ แต่ปรากฏว่า อธิบดีกรมศิลปากรมิได้ดำเนินการแจ้งการอนุญาตและเข้าช่วยเหลือทางวัดในการซ่อมแซมอาคารโบราณสถานที่เสียหายโดยพลัน ปล่อยให้กาลเวลาล่วงเลยเป็นปี โดยไม่ได้ตอบหนังสือของทางวัดแต่อย่างใด จนในที่สุดอาตมภาพในฐานะผู้ครอบครองโบราณสถาน จำเป็นต้องบูรณะซ่อมแซมโดยช่างที่มีความชำนาญด้านศิลปกรรม ซึ่งขึ้นทะเบียนกับกรมศิลปากรไว้แล้ว มาเป็นผู้ซ่อมแซม ฯลฯ
3.การปรับปรุงบูรณะอาคารโบราณสถานวัดกัลยาณมิตร อาตมภาพได้กระทำไปด้วยเจตนาบริสุทธิ์ มุ่งหวังจรรโลงพระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่ ไม่ได้กระทำเพื่อประโยชน์ในทางพาณิชย์แต่อย่างใด มีผู้มาเที่ยวชมวัด นมัสการองค์หลวงพ่อโตเพิ่มมากขึ้น จนวัดกัลยาณมิตรได้รับการยกย่องให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมในกิจกรรมไหว้พระ 9 วัดของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และกรุงเทพมหานคร การพัฒนาบูรณะโบราณสถานของวัด จึงมิใช่เป็นการทำลายอย่างที่กรมศิลปากรกล่าวอ้างแต่อย่างใด
การต่อสู้กันมาอย่างยาวนานกว่าทศวรรษด้วยกระบวนการของเจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการนั้น ชัดเจนว่ายังไม่ได้ข้อยุติ และดูเหมือนว่ายิ่งจะยืดเยื้ออย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพราะแต่ละฝ่ายต่างยืนยันทำหน้าที่ตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุฯ เพียงแต่มองคนละด้าน คนร้องก็คงร้องต่อไป คนจับก็จับไป คนทุบก็ทุบต่อไป จนตอนนี้เหลือโบราณสถานในวัดไม่กี่แห่ง
ทางออกของเรื่องนี้จะเป็นวิธีแสนง่าย คือ หันหน้าเข้าหากันทั้งวัด กรมศิลปากร ชุมชน ช่วยกันหาทางออกเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อรักษาสมบัติของชาติไว้
---------------------
(ย้อนรอย 'วัดกัลยาณมิตร' ที่แห่งมิตรดี เพื่อนดี ย่านฝั่งธนฯ : โดย...ผกามาศ ใจฉลาด)