ทางออกการเรียนการสอนของไทย
26 ต.ค. 2558
เปิดวิสัยทัศน์ : 'ศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว' ถกเถียงในชั้นเรียน-ชนะด้วยข้อมูล ทางออกการเรียนการสอนของไทย : โดย...หทัยรัตน์ ดีประเสริฐ
"ประเด็นที่เป็นวิกฤติของการศึกษาของประเทศในวันนี้คือ เราสร้างเยาวชนให้เป็นนกแก้วนกขุนทอง ใครท่องเก่ง ใครจำได้มาก ใครหาคำตอบได้เร็ว ก็จะได้รับการยกย่องว่าเป็นคนเก่ง คนเหล่านี้ก็สอบเข้าศึกษาต่อและเลือกอาชีพได้ ผู้ปกครองก็ยินดี ครูก็ภาคภูมิใจ และสถานศึกษาก็ได้รับชื่อเสียง ในขณะที่ระบบการศึกษาของประเทศที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ มุ่งสร้างเยาวชนหรือคนรุ่นใหม่ให้เป็นนักคิด นักประดิษฐ์ ซึ่งคำที่ใช้เป็นเป้าหมายของการศึกษาในอนาคตที่ได้ยินติดหูคือ คิดนอกกรอบ คิดสร้างสรรค์ และพัฒนานวัตกรรม" ศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าว
ดังนั้น หัวใจของการรื้อระบบการศึกษาคือ การปรับการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เป็นนักคิด นักประดิษฐ์ ไม่ใช่เป็นนักจำ ในอนาคตอันใกล้นี้มือถือเครื่องเดียวก็จะสามารถจำอะไรได้มากกว่าสมองมนุษย์ เราไม่ต้องท่องต้องจำอีกแล้ว แต่ต้องรู้ว่า ถ้าจำอะไรไม่ได้ หรือถ้าอยากรู้เรื่องอะไร จะไปหาจากแหล่งไหน และจะกรองหรือแยกแยะให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องได้อย่างไร
ศ.ดร.สุพจน์ ตั้งคำถามว่า หากถามว่าการสร้างนักคิดจะทำอย่างไร คำตอบหาได้ไม่ยากเลย มีทั้งตัวอย่างในประเทศและต่างประเทศ เพียงแต่นำมาปรับให้เหมาะสมกับบริบทความเป็นไทย ตัวอย่างในประเทศที่ควรนำมาวิเคราะห์และนำมาปรับใช้คือ ประเทศไทยส่งนักเรียนไปแข่งขันวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์โอลิมปิกมานานกว่า 10 ปี ซึ่งในแต่ละปีมีประเทศที่ส่งเยาวชนเข้าร่วมมากกว่า 100 ประเทศ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏคือ ถ้าวัดด้วยจำนวนเหรียญรางวัลที่ได้จากการแข่งขัน ระดับความรู้ของเยาวชนไทยจัดอยู่ในระดับ 10 ประเทศแรกของโลก ในขณะที่ข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่จัดให้มีการวัดและเปรียบเทียบระดับการศึกษาของประเทศกลับชี้ออกมาว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 8 ในกลุ่มประเทศอาเซียน
ทว่าการที่นักเรียนส่วนใหญ่ของประเทศถูกจัดไว้ในอันดับรั้งท้ายในกลุ่มประเทศอาเซียน คงสรุปเป็นอื่นไปไม่ได้ว่า ระบบการศึกษาของไทยมีปัญหา ในขณะที่นักเรียนที่ถูกเก็บตัวเข้าค่ายติวเข้ม แม้จะเป็นระยะเวลาสั้นๆ แต่ก็สามารถคว้าเหรียญรางวัลได้เป็นอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งก็นำไปสู่ข้อสรุปว่าเยาวชนไทยมีความสามารถไม่แพ้ชาติใดในโลก และสิ่งที่น่าเรียนรู้และนำมาปรับใช้กับนักเรียนส่วนใหญ่ของประเทศคือ ระบบการเรียนรู้ในค่ายติวเข้ม ก่อนส่งนักเรียนไปแข่งขัน
ถ้าดูลึกลงไปว่า การเรียนและการวัดผลตามวิธีการของโอลิมปิกต่างจากการเรียนปกติอย่างไร สิ่งที่เห็นชัดเจนคือ ข้อสอบโอลิมปิกข้อเดียว อาจจะมีไม่กี่บรรทัด แต่ให้เวลาทำและเขียนออกมาหลายชั่วโมง นั่นหมายถึงว่า ผู้เรียนต้องเข้าใจแก่นของเนื้อหา ต้องฝึกกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ อธิบายด้วยข้อมูลอย่างมีเหตุมีผล
นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า หัวใจของวิธีการเรียนรู้เพื่อสร้างคนให้เป็นนักคิดอยู่ที่การเปลี่ยนบทบาทของครู จากที่เคยสอน พูดอยู่คนเดียวทั้งชั่วโมงและป้อนทุกอย่าง ซึ่งความรู้ที่เกิดใหม่ทุกวินาที มีจำนวนมหาศาล จะป้อนอย่างไรก็ไม่มันครอบคลุมทั้งหมด บทบาทใหม่ของครูที่ควรทำในเวลา 1 ชั่วโมงในชั้นเรียนคือ สรุปเฉพาะในส่วนที่เป็นแก่นของความรู้ในเรื่องนั้นๆ ให้ผู้เรียนได้เข้าใจ โดยใช้เวลาน้อยที่สุดขึ้นกับความยากง่ายของเนื้อหา และใช้เวลาที่เหลือในการยกกรณีที่ใกล้ตัวที่เกี่ยวข้อกับบทเรียนขึ้นมา ให้ผู้เรียนได้ “ถกเถียง” ถกระหว่างนักเรียนกับนักเรียน และระหว่างนักเรียนกับครู
“การถกเถียงในชั้นเรียน การโต้แย้งและเอาชนะกันด้วยขอมูล ฟังเสียงและความเห็นจากทุกคน รู้แพ้รู้ชนะด้วยเหตุด้วยผล เป็นหัวใจขอการศึกษารูปแบบใหม่ เป็นกระบวนการสร้างปัญญา ที่จะนำไปสู่การคิดนอกกรอบ สู่ความคิดสร้างสรรค์ และสู่การพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ และอีกประเด็นที่เป็นหัวใจสำคัญของการเรียนรู้แบบใหม่นี้คือ ครูได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับนักเรียนผ่านการถกเถียงและข้อมูลใหม่ๆ ที่มีจำนวนมหาศาลที่นักเรียนต่างคนต่างไปค้นคว้ามาแลกเปลี่ยนกัน อย่างไรก็ตาม พึงระวังไว้ว่า การถกเถียงโดยไม่รู้จริง จะเป็นการเพ้อฝันมากกว่าการสร้างสรรค์ ดังนั้น การให้แก่นของเนื้อหาที่ลึกซึ้งเพียงพอก่อนที่จะให้มีการถกเถียง จึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นและถือเป็นความรับผิดชอบของครู” นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ระบุ
รูปแบบของการศึกษาที่กล่าวมาทั้งหมดไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องเดียวกับที่กระทรวงศึกษาธิการ พยายามยามนำมาปฏิบัติเมื่อหลายสิบปีก่อนที่ใช้คำว่า “นักเรียนเป็นศูนย์กลาง” ซึ่งมาในยุคนี้อาจจะเปลี่ยนมาใช้คำใหม่เช่น สเต็ม (STEM) ซึ่งหมายถึงการตั้งโจทย์ที่บูรณาการระหว่างวิชาวิทยาศาสตร์ (S: Science) เทคโนโลยี (T: Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (E: Engineering) ซึ่งหมายรวมถึงทักษะงานช่างต่าง ๆ และวิชาคณิตศาสตร์ (M: Mathematics) เพื่อให้นักเรียนได้ถกเถียงและฝึกปฏิบัติ
หรืออีกหนึ่งคำที่ดูจะสร้างความฮือฮาในวงการศึกษามากคือคำว่า “ห้องเรียนกลับข้าง” (Flipped class room) นั่นหมายความว่า การเรียนการสอนต้องไปเดินดูและสัมผัสกับสภาพที่แท้จริงนอกห้องเรียน แล้วนำมาถกถียงกันในชั้นเรียน ความกลับข้างจะอยู่ที่ว่า เข้ามาในห้องเรียนต้องมาคุยกัน ซึ่งกฎเหล็กของโรงเรียนจำนวนมากยังคงเป็น “ห้ามคุยกันในชั้นเรียน”
จะเห็นได้ในทุกเวทีที่มีการเสวนาเรื่องการปรับระบบการศึกษา มักจะมีการพูดถึงอุปสรรคต่างๆ ตัวอย่างเช่น การถกเถียงไม่ใช่วัฒนธรรมไทย แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า เด็กไทยแรกเกิดจนถึงอนุบาล จะเป็นคนขี้สงสัยและจะตั้งคำถามทำไม ทำไม ตลอดเวลา แต่ระบบการศึกษาของไทยทำให้คุณลักษณะนั้นหายไป หรือมีการตั้งคำถามในเวทีต่างๆ เช่น นักเรียนจะมีส่วนร่วมในการคิด ในการถกไปทำไม เพราะไม่ได้ช่วยให้สอบเข้าศึกษาต่อในสถาบันและสาขาวิชาที่ต้องการได้ หรือครูที่ทุ่มเทและมุ่งมั่นปรับการเรียนเพื่อให้ผู้เรียนเป็นนักคิด แต่ไม่มีส่วนที่จะนำไปใช้ในการเติบโตในสายงาน รวมไปถึงการไม่ได้รับการส่งเสริมจากผู้บริหารโรงเรียนและการสนับสนุนจากผู้ปกครอง เพราะไม่ได้ช่วยให้นักเรียนสอบเข้าศึกษาต่อในสาขาวิชาที่ต้องการได้ เป็นต้น
“ทั้งหมดเป็นเพียงมิติเดียวคือการสร้างคนเก่ง ซึ่งอีกมิติที่มีความจำเป็นอย่างที่จะต้องควบคู่กันไปคือการสร้างคนดี คนที่มีภาคภูมิใจและหวงแหนความเป็นไทย การแก้วิกฤติการศึกษาที่เรื้อรังมานาน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องกำหนดให้เป็นนโยบายแห่งชาติที่เร่งด่วน ปรับให้ครอบคลุมทั้งระบบ อย่างจริงจังและต่อเนื่อง” ศ.ดร.สุพจน์ กล่าวทิ้งท้าย
---------------------
(เปิดวิสัยทัศน์ : 'ศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว' ถกเถียงในชั้นเรียน-ชนะด้วยข้อมูล ทางออกการเรียนการสอนของไทย : โดย...หทัยรัตน์ ดีประเสริฐ)