ไลฟ์สไตล์

เปิดพันธุ์ข้าวน้ำตาลต่ำช่วยผู้ป่วยเบาหวาน

เปิดพันธุ์ข้าวน้ำตาลต่ำช่วยผู้ป่วยเบาหวาน

06 พ.ย. 2558

ม.มหิดล - ม.เกษตร ร่วมวิจัยปรับปรุงพันธุ์ข้าวไทย มีดัชนีน้ำตาลต่ำ ช่วยผู้ป่วยเบาหวาน - คนลดอ้วนกินแล้วย่อยได้น้ำตาลน้อยกว่า เล็งส่งเสริมคนไทยรับประทาน

 
                      6 พ.ย. 58  เมื่อเวลา 10.00 น.  ที่สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล  รศ.ดร.รัชนี คงคาฉุยฉาย ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล (ม.มหิดล) แถลงข่าว เรื่อง “การกินข้าวพื้นเมืองและข้าวปรับปรุงพันธุ์ช่วยควบคุมเบาหวานและควบคุมน้ำหนักได้” ว่า ปี 2014 ทั่วโลกมีประชากรที่เสี่ยงโรคเบาหวานราว 387 ล้านคน โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน ที่คาดว่าในปี 2035 จะเพิ่มขึ้นถึง 71% สถาบันฯ จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ในการพัฒนาพันธุ์ข้าวที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำช่วยควบคุมเบาหวานและควบคุมน้ำหนักได้ เบื้องต้นคัดเลือกสายพันธุ์ข้าวได้ประมาณ 20 - 30 ชนิด นำมาทดสอบดัชนีน้ำตาลต่ำ ซึ่งหมายถึงเมื่อทานข้าวแล้วย่อยออกมาได้น้ำตาลน้อยเหลือ 5 - 6 สายพันธุ์ เลือกสายพันธุ์ที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำที่สุด คือ สายพันธุ์ ปิ่นเกษตร +4#20A09 ขณะนี้ยังไม่มีการตั้งชื่อสายพันธุ์จึงเรียกชื่อตามรหัสการพัฒนาสายพันธุ์ดังกล่าว
 
                      รศ.ดร.รัชนี กล่าวอีกว่า สถาบันฯ ได้นำข้าวขัดที่เป็นสายพันธุ์ที่ปรับปรุงและมีดัชนีน้ำตาลต่ำ มาจัดทำเป็นข้าวผัดเพื่อเปรียบเทียบกับข้าวสายพันธุ์ที่มีดัชนีน้ำตาลสูง โดยมีปริมาณข้าวเท่ากันที่ 110 กรัม มีพลังงานและสารอาหารชนิดต่างๆ เท่ากันแล้วให้อาสาสมัครที่เป็นผู้ป่วยเบาหวานแต่ยังไม่ได้เข้ารับการรักษา ไม่มีการกินยาและอาหารเสริมต่างๆ จำนวน 15 คน รับประทาน พบว่า อาสาสมัครที่รับประทานข้าวที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ มีระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดต่ำกว่าการรับประทานข้าวที่มีดัชนีน้ำตาลสูง และมีการตอบสนองของฮอร์โมนอินซูลินดีขึ้น ในขณะที่ระดับฮอร์โมนที่กระตุ้นความอยากอาหารมีแนวโน้มต่ำกว่า
 
                      นอกจากนี้ ข้าวที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำยังสามารถเพิ่มระดับของฮอร์โมนที่มีผลต่อกระบวนการทำงานของเบต้าเซลล์ของตับอ่อน กระตุ้นให้มีการสร้างอินซูลินได้ดีขึ้น และมีผลต่อการควบคุมศูนย์อิ่มและศูนย์หิว ทำให้ผู้ป่วยที่รับประทานข้าวที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำรู้สึกอิ่มได้นานกว่า เนื่องจากอาหารอยู่ในลำไส้ได้นานขึ้น และช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีการผลิตออกมาจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ แต่เชื่อว่าในอนาคตจะมีการส่งเสริมให้รับประทานมากขึ้น แต่หากคนไทยไม่สนใจที่จะรับประทานเพราะข้าวแข็งจะส่งออกไปขายประเทศแถบตะวันออกกลางที่นิยมรับประทานข้าวแข็ง
 
                      "ข้าวที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ ซึ่ง ม.มหิดล และ มก.ร่วมกันพัฒนาขึ้นนี้เหมาะแก่การส่งเสริมให้ผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักและผู้ป่วยที่ต้องการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากข้าวสายพันธุ์นี้มีดัชนีน้ำตาลต่ำและมีการตอบสนองต่ออินซูลินดีขึ้น ทำให้เมื่อรับประทานข้าวชนิดนี้เข้าไปจะย่อยแล้วได้น้ำตาลออกมาน้อย บวกกับอินซูลินมีการทำงานดีขึ้น อินซูลินก็จะนำน้ำตาลเข้าสู่เซลล์ได้ดีขึ้น นำไปสร้างเป็นพลังงานให้กับร่างกาย ระดับน้ำตาลในเลือดก็จะน้อย แต่เป็นข้าวที่ย่อยแล้วได้น้ำตาลออกมามากหากอินซูลินจับไม่ได้ น้ำตาลก็จะลอยอยู่ในเลือด ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงและรู้สึกหิวบ่อย"
 
                      รศ.ดร.รัชนี กล่าวด้วยว่า ข้าวสายพันธุ์ใหม่และข้าวพื้นเมือง เช่น ข้าวไรซ์เบอรี่ ข้าวนิลสวรรค์ และข้าวมะลิแดง ที่มีสีม่วงเข้มเป็นข้าวที่มีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระสูง เช่น วิตามินอี แอนโทไซยานิน โพลีฟีนอล และประสิทธิภาพต้านอนุมูลอิสระกว่าพันธุ์ข้าวทั่วไป เหมาะแก่การแนะนำให้ผู้รักสุขภาพ คนที่ต้องการลดน้ำหนักและผู้ป่วยเบาหวาน แต่ควรรับประทานที่เป็นข้าวกล้องเพราะหากนำไปขัดขาวจะทำให้สารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่างๆ หายไปจำนวนมาก เหมือนกับทิ้งยาอายุวัฒนะ แต่สำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะไตวาย ไม่เหมาะที่จะรับประทานข้าวกล้องเนื่องจากข้าวกล้องมีฟอสฟอรัสและแคลเซียมสูง แต่สามารถรับประทานข้าวดัชนีน้ำตาลต่ำได้ เพราะแม้นำข้าวไปขัดขาวแล้วก็ยังมีดัชนีน้ำตาลต่ำ
 
                      "จากการศึกษางานวิจัยจากต่างประเทศ ยังพบว่า พฤติกรรมการกินข้าวด้วยการใช้ตะเกียบ การใช้ช้อนและการใช้มือ มีผลต่อการตอบสนองของระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือด โดยการใช้ตะเกียบมีผลต่อการตอบสนองของระดับน้ำตาลในเลือดน้อยที่สุด เนื่องจากการกินด้วยตะเกียบในแต่ละครั้งจะได้ปริมาณข้าวน้อยกว่า และการเคี้ยว และการกลืนข้าว รวมถึง การกินข้าวอย่างรวดเร็วทำให้มีการย่อยน้ำตาลจากแป้งใช้เวลานานกว่าจึงส่งผลให้น้ำตาลกลูโคสในเลือดขึ้นได้ช้า แต่การเคี้ยวที่ใช้ระยะเวลานานจะทำให้การตอบสนองของน้ำตาลกลูโคสขึ้นสูงกว่า"