ไลฟ์สไตล์

‘วิกฤติ’ปลาทูไทยทางรอดไม่ใช่แค่‘ปิดอ่าว’

‘วิกฤติ’ปลาทูไทยทางรอดไม่ใช่แค่‘ปิดอ่าว’

17 เม.ย. 2559

“วิกฤติ” ปลาทูไทยทางรอดไม่ใช่แค่ “ปิดอ่าว” : คอลัมน์ หลากมิติเวทีทัศน์

 
          หากเอ่ยถึง “ปลาทู” คงไม่มีใครไม่รู้จัก ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่
 
          ด้วยเหตุผลที่ว่า ปลาทูเป็นอาหารที่อยู่คู่คนไทยมาอย่างยาวนานจากรุ่นสู่รุ่น ทั้งในรูปปลาทูสด ปลาทูนึ่ง และที่รังสรรค์เป็นเมนูต่างๆ กระจายไปสู่ผู้บริโภคทั่วทุกภูมิภาค ปลาทูจึงเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ทางอาหาร ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงลักษณะทางธรรมชาติของประเทศและคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในสังคมไทย
แต่การเปลี่ยนแปลงทางด้านภูมิอากาศ (ไคลเมท เชนจ์) ตลอดจนการใช้เครื่องมือทางการประมงที่ผิดชนิด เห็นประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อความอุดมสมบูรณ์ของปลาทูเชื่อมโยงเป็นห่วงโซ่หลายมิติ ทั้งสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม
 
          “เมื่อก่อน ไต๋เรือเขาจะสังเกตสีน้ำทะเล ซึ่งมองลงไปจะเห็นหลังปลาทูสะท้อนเป็นเงาใต้น้ำว่ายวนเป็นฝูง และจะขึ้นมามากหากอุณหภูมิประมาณ 29 องศา แต่ถ้า 30 องศาขึ้นไปจะขึ้นมาน้อย” เสียงสะท้อนของ สุชาติ มากมี ผู้ประกอบการธุรกิจเรือประมงพาณิชย์ (ไต๋เรือ) จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่อาจนำไปวิเคราะห์ได้ว่า การเปลี่ยนแปลงทางด้านภูมิอากาศนั้น มีผลต่อจำนวนของประชากรปลาทู และสัตว์ทะเล ซึ่งการให้ข้อสังเกตดังกล่าวมาจากประสบการณ์ในการออกเรือหาปลามากว่าครึ่งชีวิต จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ไต๋เรือจะรู้หมดว่าช่วงไหนน่าจะเหมาะกับการจับปลาทู
 
          ไต๋เรือคนเดิมเล่าอีกว่า สมัยก่อนไม่มีเครื่องมือในการจับปลาที่ทันสมัยอย่างเช่นทุกวันนี้ ก็อาศัยการสังเกตพระอาทิตย์ อุณหภูมิน้ำ และการแลกเปลี่ยนข้อมูลของเรือประมงแต่ละลำว่าเจอปลาบริเวณไหน เป็นการทำงานเป็นเครือข่าย ต่างกับปัจจุบันที่ชาวประมงบางคน บางกลุ่ม ใช้เครื่องมืออันทันสมัยที่สามารถหาฝูงปลาทูผ่านจอเรดาร์ และคิดหาทางจับสัตว์น้ำให้ได้มากที่สุด เท่าที่เวลา น้ำมัน แรงงาน หรือศักยภาพของเรือประมงพาณิชย์จะทำได้
 
          “การกระทำที่ว่าทำให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากร กลายเป็นการทำประมงที่ไม่สามารถควบคุมได้ กระทั่งรัฐบาลต้องออกมาตรการในการควบคุมโดยการประกาศ “ปิดอ่าว” ช่วง 15 กุมภาพันธ์-15 พฤษภาคม ของทุกปี ซึ่งกฎหมายกำหนดให้เป็นช่วงห้ามทำประมงพาณิชย์ เพื่อคุ้มครองการแพร่พันธุ์ปลาทูและให้โอกาสลูกปลาทูเจริญเติบโต เพราะการจับในช่วงเวลาดังกล่าวจะได้ปลาขนาดเล็กจำนวนมหาศาล ในขณะเดียวกันถือเป็นการตัดโอกาสในการเจริญเติบโตของลูกปลา จนส่งผลเชื่อมโยงต่อจำนวนประชากรปลาของอนาคต
 
          ยิ่งนานวันผลกระทบเรื่องปลาทูยิ่งชัด สังเกตได้จากจำนวนและราคาของปลาทูไทย เมื่อเทียบกับช่วง 5-10 ปี ย้อนหลัง ที่ปริมาณปลาทูลดลงอย่างน่าใจหายทำให้แหล่งโปรตีนหาง่ายใต้ท้องทะเลราคาขยับสูงขึ้นจากตัวละ 10-20 บาท ไปเป็นครึ่งร้อย ซึ่งสวนทางกับปลาทูนำเข้าจากต่างประเทศที่ทั้งตัวใหญ่และเนื้อแน่น หรือนี่จะเป็นยุคของ “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” เนื่องจากปลาทูเป็นทรัพยากรส่วนกลางที่ผู้บริโภคเข้าถึงได้ ไม่ว่าจะอยู่ภาคไหน หรือแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านของไทย อย่างประเทศลาว เมียนมาร์ ก็สามารถหาซื้อมารับประทานได้
 
          นักวิชาการคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผศ.เมธี แก้วเนิน อธิบายปรากฏการณ์ปลาทูอัพราคาว่า พฤติกรรม “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” ในการจับปลาทู และสัตว์ทะเลอื่นๆ ส่งผลต่อราคาปลาทู ซึ่งก็เป็นไปตามอุปสงค์ อุปทาน ถ้ามีน้อยราคาก็จะแพง และเมื่อความต้องการมีมาก ปลาทูในประเทศมีจำนวนไม่เพียงพอ ก็ต้องอาศัยปลาทูจากต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย อินเดีย พม่า เป็นต้น
 
          ปัญหาที่เกิด และเป็นอยู่ จึงต้องได้รับการแก้ไข โดยอาจารย์และทีมได้ร่วมกันศึกษาวิจัย ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในสิ่งที่นักวิจัยพยายามหาว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมมีผลต่ออุณหภูมิและแพลงก์ตอนพืชซึ่งเป็นอาหารของปลาทูอย่างไร การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมีผลต่อการเจริญเติบโตหรือไม่ ช่วงเวลาที่เจอปลาทูแต่ละระยะเวลาต่างๆ พบความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง
 
          โดยอาจารย์เมธี อธิบายว่า ในอดีตกรมประมงได้เคยมีการศึกษามาบ้างแล้ว แต่ข้อมูลนั้นค่อนข้างนานไม่มีการอัพเดทในส่วนของการแก้ปัญหา “วิกฤติปลาทู” กรมประมงได้ออกมาตรการปิดอ่าวเพื่อคุ้มครองการแพร่พันธุ์ปลาทูและให้โอกาสลูกปลาทูเจริญเติบโต แต่ยังขาดข้อมูลเชิงลึกว่า มาตรการตรงนี้ยังจะใช้ได้อยู่หรือไม่ หมายถึงสถานที่และระยะเวลาที่กำหนดว่าช่วงไหนบริเวณใดที่ควรปิดอ่าว เพราะฉะนั้นโดยภาพรวมของโครงการนี้จึงมี 3 งานหลักๆ คือ
 
          1.การศึกษาว่าบริเวณใดมีแพลงก์ตอนพืชอาหารของปลาทู โดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียมย้อนหลัง 10 ปี ที่ดูตัวคลอโรฟิลด์ A หลังจากนั้นมีการเก็บข้อมูลภาคสนามเก็บตัวอย่างลูกปลาทูในระยะเวลาต่างๆ เก็บตัวอย่างแพลงก์ตอนพืชที่มีอยู่จริงในทะเล เก็บตัวอย่างคุณภาพน้ำว่าทั้งหมดนั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างไร ถ้าเราหาเจอ ก็สามารถคาดเดาได้ว่าบริเวณใดมีลูกปลาทู ซึ่งจะทำให้ในอนาคตเราสามารถบริหารจัดการการจับปลาทูได้ดีขึ้น เร็วขึ้น
 
          2.คือการเก็บตัวอย่างปลาทูจากเรือประมง โดยการผ่าท้องดูรังไข่ อัณฑะ และดูความสัมพันธ์กับฤดูปิดอ่าว ซึ่งเป็นช่วงที่คาดว่าเป็นฤดูวางไข่ ศึกษาเวลาเดิมของการปิดอ่าวยังใช้ได้หรือไม่ อาหารที่พบเป็นแพลงก์ตอนพืชชนิดใด ในส่วนนี้มีการเก็บข้อมูลจากของเดิม อย่างกรมประมงที่เก็บเป็นปกติอยู่แล้ว ก่อนที่จะนำมาเชื่อมโยงกับข้อมูลที่เราเก็บมาใหม่
 
          3.การสำรวจข้อมูลทางเศรษฐกิจ สังคม ความคิดเห็นของชาวประมง แม่ค้า แพปลา ว่าในสถานการณ์การค้าปลาทูเป็นอย่างไรบ้าง จับได้มากน้อยแค่ไหน กลไกการตลาดเป็นอย่างไร เราพยายามหาคุณค่าที่สูญเสียทางเศรษฐกิจให้ได้ เช่น ถ้าจับแต่ตัวเล็กจะสูญเสียคุณค่าทางเศรษฐกิจ โดยภาพรวมจะได้ข้อมูลพื้นฐานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ประโยชน์ได้
 
          งานวิจัยจะตอบโจทย์วิกฤติปลาทูไทยได้จริงหรือ? ยังเป็นข้อสงสัยของสังคม แต่นักวิชาการด้านประมง ยืนยันว่า ความรู้จากงานวิจัย จะเป็นข้อมูลพื้นฐานให้รัฐนำไปกำหนดเป็นนโยบายต่อไปในอนาคต ซึ่งข้อมูลวิจัยสามารถนำไปสนับสนุนได้ว่า ช่วงระยะเวลาปิดอ่าว 3 เดือน ยังใช้ได้หรือไม่ และควรมีการขยับเดือนปิดอ่าวออกไปอย่างไร
 
          เพราะการเก็บข้อมูลได้จากการตั้งท้อง การวางไข่ของปลา ว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือไม่ อย่างไร ถ้าเราสามารถกำหนดเวลา พื้นที่ใหม่ ต้องใช้ข้อมูลประกอบกันหลายๆ ส่วน ต้องเก็บข้อมูลต่อเนื่องและเชิงลึกมากขึ้น ตอนนี้เท่าที่พบ คือ การวางไข่ช่วงเดือนพฤษภาคม ถือเป็นการวางไข่นอกฤดูกาล ทั้งนี้มีความเป็นไปได้สูงว่า นอกจากการจับปลาทูมากเกินควร และการจับในช่วงที่ปลาทูยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่ โดยเครื่องมือการทำประมงบางชนิด เช่น อวนล้อมจับ อวนล้อมปั่นไฟ การเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมของธรรมชาติ ก็มีผลต่อจำนวนประชากรปลาทูไทย
 
          นักวิชาการคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผศ.สมหมาย เจนกิจการ อธิบายเพิ่มเติมว่าปกติปลาทูจะไข่ทุกเดือน แต่ในช่วงปิดอ่าวพบว่า เปอร์เซ็นต์ในการไข่ของปลาทูจะน้อยกว่าใกล้ๆ เปิด ซึ่งเป็นผลมาจากการที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงทำให้ไข่ดีเลย์ออกไป นอกจากนี้ยังพบว่าปลายๆ ปิดอ่าว พบตัวที่มีไข่ 80-90 % แต่หลังจากนั้นจะลดลงเหลือ 40-50% สรุปได้ว่ามีไข่ แต่ความพีคที่ว่ามากๆ จะลดลง
 
          ผศ.สมหมาย อธิบายถึงความเป็นไปได้ถึงกรณีที่ปลาทูจะกลับเข้าเป็นสัตว์เศรษฐกิจเหมือนเดิมว่า คงต้องเพิ่มจำนวน ซึ่งมีหลายวิธี เช่น หนึ่ง การเพาะเลี้ยง สองคือการฟื้นฟูทะเล ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ไม่ใช่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ทั้งภาครัฐเอกชน เพื่อที่ปลาทูจะอยู่คู่กับทะเลไทยไปนานแสนนาน นอกจากนี้เราเองก็ไม่คิดว่าน้ำทิ้งจากบ้านเราที่ไหลลงสู่แม่น้ำและทะเล มีผลกระทบไปยังปลา ส่งผลไปยังฮอร์โมนปลา มีช่วงเวลาสืบพันธุ์ได้น้อยลง การเพิ่มขึ้นของปลาจึงน้อยลง ดังนั้นเรื่องของการบำบัดน้ำเสียก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะชุมชนริมทะเล เป็นเมืองที่ปล่อยน้ำเสียปีละหลายสิบตัน
 
          ส่วนความเป็นไปได้ในเพาะเลี้ยงปลาทูเองนั้น ผศ.สมหมาย อธิบายว่า ตอนนี้ยังไม่มีการศึกษาอย่างชัดเจน แต่เท่าที่ข้อมูลของกรมประมงมีอยู่ พบว่า ถ้าเพาะเลี้ยงจะโตช้ากว่าที่เรามาจับในทะเล แต่ในอนาคตอาจมีความเป็นไปได้ ถ้าพัฒนาเรื่องการเพาะเลี้ยง อย่างเช่นเราเลี้ยงปลาหมอตัวโตที่ตลาดต้องการได้ ในอนาคตปลาทูก็อาจเป็นเช่นเดียวกัน
 
          หลายคนใคร่รู้ว่า ทำอย่างไรคนไทยถึงจะได้กินปลาทูราคาถูก อาจารย์วรัณทัต ดุลยพฤกษ์ นักวิชาการคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบาย และย้อนถามว่า ผู้บริโภคเต็มใจที่จะกินราคาแพงขึ้นหรือไม่ ถ้าปลาทูมีคุณภาพดีกว่า ถ้ามีตรงกลางระหว่างคนขายกับผู้บริโภคจะดีมาก ฝั่งผู้ผลิตก็ต้องคำนึงถึงผู้บริโภค ทุกวันนี้มูลค่าสัตว์น้ำที่ขายตลาดมันไม่ใช่ราคาต้นทุนที่แท้จริง ในส่วนของภาครัฐ ควรพยายามบริหารจัดการไม่ให้ปลาทูออกมาน้อยหรือมากจนเกินไป อาจมีการออกมาตรการที่ชัดเจนขึ้น
 
          อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้ลงมาดูแค่ปีเดียว ถ้าจะให้ดีควรศึกษาระยะยาว นอกจากนี้หากโฟกัสไปที่ชาวประมง จะพบว่าพวกเขามีความเสี่ยงในอาชีพเหมือนกัน ที่ต้องทำงานกลางทะเล ดูทิศทางสภาพล้มฟ้า อากาศ ผู้บริโภคมองเห็นตรงส่วนนี้ได้จะดีมาก ในอีกมุมหนึ่ง เราจะพบว่า อาหารทะเลเป็นอาหารของคนระดับกลางขึ้นไป ที่มีกำลังซื้อ อาหารทะเลต้องรอแบบพิเศษมาในพื้นที่ เมื่อก่อนคงมีเยอะถึงเอามาคลุกข้าวให้แมวกินได้ ดังนั้นหากอยากได้สินค้าคุณภาพ ผู้บริโภคคงต้องทำใจยอมรับในเรื่องของราคาที่สูงกว่าด้วยเช่นกัน
 
          ทั้งหมดที่กล่าวมาในข้างต้น เป็นข้อมูลบางส่วนของการศึกษาวิจัย ซึ่งจะเป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญในการกำหนดนโยบาย และแนวทางแก้ไขในอนาคต “เสมือนว่าเป็นการต่อลมหายใจให้กับปลาทูไทย” ให้กลับมาสู่สัตว์เศรษฐกิจของชาติต่อไป