ไลฟ์สไตล์

แนะรมว.ศึกษาธิการ  แก้ปัญหาร.ร.ไอซียู 10,000 กว่าโรง

แนะรมว.ศึกษาธิการ แก้ปัญหาร.ร.ไอซียู 10,000 กว่าโรง

03 ม.ค. 2560

“สมพงษ์” แนะรมว.ศึกษาธิการ มองการศึกษามุ่งกว้าง เปิดใจรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วน เดินหน้าแก้ปัญหาโรงเรียน ไอซียู่ 10,000 กว่าโรง เร่งสายต่อปฎิรูปการศึกษา

        ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี บริหารประเทศมา 2 ปีกว่า เปลี่ยน รมว.ศึกษาธิการ 3 คน ที่ผ่านมาก็ใช้เวลานานในการคลำหาโจทย์ปฏิรูปการศึกษา ทั้งแต่ละคนก็จะกำหนดนโยบายการศึกษาตามความสนใจของตนเอง และนำนโยบายนั้นมาลองผิดลองถูก ดังนั้นเวลาที่เหลือของรัฐบาลอีก 1 ปี จึงทำให้ประชาชนไม่ค่อยมั่นใจในอนาคตของการปฏิรูปการศึกษาว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ อย่างไรก็ตาม 2 ปีที่ผ่านมา ผลงานที่โดดเด่นคือ การใช้มาตรา 44 แก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษาและการแก้ไขปัญหาคอรัปชั่นในระบบการศึกษา

        อาจารย์คณะครุศาสตร์ กล่าวต่อว่า อยากเสนอ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ คนปัจจุบันว่า อยากให้มองการศึกษาในมุมกว้าง เปิดใจรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วน ทั้งนี้การเดินหน้าแก้ปัญหาโรงเรียนไอซียู 10,000 กว่าโรงนั้น แสดงให้เห็นว่า นพ.ธีระเกียรติ ได้รับฟังปัญหาจากโรงเรียนในพื้นที่แล้ว แต่อยากเสนอให้ฟังมากกว่านี้ โดยอย่าอยู่ที่กระทรวงศึกษาธิการ 1 เดือน โดยใช้เวลา 1 เดือนนี้ เดินสายรับฟังปัญหาจากครู นักเรียน ผู้บริหาร ผู้ปกครอง ในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะทำให้เห็นโจทย์ของการปฏิรูปการศึกษาและปัญหาของประเทศอย่างแท้จริง จะได้แก้ปัญหาได้ตรงตรงจุดตั้งแต่ระดับล่าง หากพบว่าปัญหาของคนระดับล่างตรงกับโจทย์ที่ผู้บริหารระดับบนเสนอมา ก็แสดงว่าเรามาถูกทาง การปฏิรูปการศึกษาก็จะเกิดผลเร็ว เพราะตรงกับสิ่งที่ระดับพื้นที่ต้องการ การทำงานจะเกิดการประสานงานร่วมกันเพื่อผลักดันงานให้เห็นผลเร็วขึ้น

        “เวลา 1 ปีที่เหลืออยู่ อยากให้รมว.ศึกษาธิการ เร่งสานต่อข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษาของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทั้งเร่งผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ,ร่าง พ.ร.บ.ครูและบุคลากรทางการศึกษา และร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องอีกกว่า 10 ฉบับ รวมทั้งปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่เอื้อต่อการปฏิรูปการศึกษาและระบบการศึกษา อย่างไรก็ตามในส่วนของ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ นั้น ควรจัดเวทีประชาพิจารณ์เพิ่ม เพื่อให้ประชาชนรับรู้และมีส่วนร่วมกับกฎหมายฉบับนี้ให้มากขึ้น” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว