ไลฟ์สไตล์

แพทย์ชี้“คอมพ์-แทบเลต-สมาร์ทโฟน"ทำเด็กไทยสายตาผิดปกติ

แพทย์ชี้“คอมพ์-แทบเลต-สมาร์ทโฟน"ทำเด็กไทยสายตาผิดปกติ

31 ม.ค. 2560

เด็กไทยมีปัญหาสายตาผิดปกติ 6.6 % ต้องใส่แว่น 4.1 % ไม่มีความต่างระหว่างเด็กเมือง-ชนบท เหตุพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีระยะใกล้มาก คอมพิวเตอร์-แทบเลต-สมาร์ทโฟน

         นพ.ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เปิดเผยว่า  เด็กไทยมีสายตาผิดปกติประมาณ 6.6 %ในจำนวนนี้ต้องใส่แว่นสายตา 4.1 % สาเหตุมีทั้งเป็นเพราะพันธุกรรมและพฤติกรรม โดยในส่วนของพฤติกรรม เด็กปัจจุบันมีการอ่านหนังสือ ใช้คอมพิวเตอร์ แทบเล็ตและสมาร์ทโฟนจำนวนมาก ซึ่งต้องใช้สายตามาก ส่งผลให้เด็กที่มีปัญหาสายตาสั้นเพิ่มมากขึ้น ลักษณะไม่แตกต่างกันทั้งเด็กในเขตเมืองและเขตนอกเมือง ซึ่งเปลี่ยนแปลงจากเมื่อ 10 ปีก่อน ยังมีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงคอมพิวเตอร์ระหว่างคนในเขตเมืองและนอกเขตเมือง ซึ่งเดิมเด็กในเขตกรุงเทพฯจะมีปัญหาสายตา 10 % ขณะที่เด็กนอกเขตเมืองจะมีปัญหาสายตาเพียง  3-4 % แต่ปัจจุบันเด็กเข้าถึงคอมพิวเตอร์ได้เหมือนกันทั่วประเทศ เด็กจึงมีการใช้งานสายตามากขึ้น ส่งผลต่อความผิดปกติทางสายตาไม่แตกต่างกันระหว่างในและนอกเมือง  

         “เด็กที่สายตาสั้นหากไม่ได้รับการแก้ไขที่ถูกต้องในช่วงวัยก่อน 6 ขวบ อาจจะส่งผลให้เด็กมีปัญหาตาขี้เกียจตามมา โดยการมองเห็นของดวงตาข้างใดข้างหนึ่งด้อยกว่าอีกข้างหนึ่ง โดยดวงตาข้างที่เป็นสายตาขี้เกียจจะมองเห็นภาพต่าง ๆ มัวกว่าดวงตาอีกข้างที่เป็นปกติ  นอกจากนี้ เด็กที่สายตาสั้นอาจจะตาเหล่ตามมา เนื่องจากการมองเห็นที่ไม่ชัดเจน จึงต้องเพ่งสายตา ทำให้กล้ามเนื้อตาเข อาจจะเป็นลักษณะตาเขเข้าในหรือเขออก”นพ.ปานเนตรกล่าว  

       นพ.ปานเนตร กล่าวอีกว่า การพัฒนาของสายตาจะเริ่มตั้งแต่แรกคลอด จนสมบูรณ์เต็มที่เมื่ออายุประมาณ 10 ปี แล้วสายตาจะคงที่จนกระทั่งโตเป็นผู้ใหญ่ ความผิดปกติของตาตั้งแต่เด็กจึงมีผลอย่างมากต่อการมองเห็นไปตลอดชีวิต จึงขอให้พ่อแม่ ผู้ปกครองสังเกตอาการผิดปกติของสายตาและการมองเห็น เช่น ตาเข ตาเหล่ ตาลอยซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะตาขี้เกียจและสายตามัวตามมา เอียงหน้าหรือเอียงคอมอง ดูหนังสือหรือดูโทรทัศน์ในระยะใกล้ บ่นปวดศีรษะในตอนเย็นหรือหลังเลิกเรียน บ่นว่ามองกระดานไม่ชัด ขอให้พาไปพบจักษุแพทย์ หรือปรึกษาครูประจำชั้น เพื่อคัดกรอง ส่งต่อเข้าระบบการดูแลต่อไป  

      อนึ่ง ในปี 2560 กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดโครงการ “เด็กไทยสายตาดี” ตั้งเป้าหมายตรวจคัดกรองสายตาเด็กนักเรียน ป.1 ในโรงเรียนทุกสังกัดทั่วประเทศ รวม 1,040,000 คน พร้อมมอบแว่นสายตาอันแรกแก่เด็กที่มีสายตาผิดปกติ ฟรี 43,006 คน แบ่งเป็นปีการศึกษา 2559 จำนวน 400,000 คน มอบแว่นสายตา 18,006 คน และปีการศึกษา 2560 จำนวน 640,000 คน มอบแว่นตา 25,000 คน โดยจะอบรมครู เจ้าหน้าที่วัดแว่นตาเพิ่มในรพ.อีก 25 แห่ง และสนับสนุนแว่นตากระจายไปยังเขตสุขภาพ พร้อมประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดระบบการส่งต่อเด็กมารับการตรวจวัดสายตาที่โรงพยาบาล เพื่อให้เด็กได้รับความสะดวกในการเดินทางและได้รับแว่นตาเร็วขึ้น