ว่ากันว่ากรณีนี้เป็นกระจกสะท้อนให้เห็นปัญหาว่า คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ต้องหันมาต้องกลับมาทบทวนตัวเองมากขึ้น ว่าผลิตบัณฑิตได้ตรงต้องการประเทศหรือไม่ ตรงนี้ต้องมาช่วยกันกระตุ้นให้วิชาชีพครูให้เข้มแข็งมีคุณภาพ ดึงคนดี คนเก่ง มีคุณภาพตั้งใจมาเป็นครูสอบเข้าเรียนครูมากขึ้นได้หรือไม่ : เกศกาญจน์ บุญเพ็ญ ผู้สื่อข่าวคมชัดลึกออนไลน์ มีรายละเอียด
อย่างไรก็ตามเรื่องที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ต้องการเปิดโอกาสให้คนที่ไม่จบตรงวิชาชีพครู แต่เป็นคนเก่งมีความรู้ ความสามารถ มีใจรักที่จะเป็นครูสามารถสอบสอบบรรจุเพื่อข้าราชการครู ด้วยหวังได้คนเก่งมาเป็นครูเพื่อช่วยพัฒนาเด็ก โดยเฉพาะครูสาขาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ที่มีปัญหาขาดแคลนอย่างหนัก นั้นได้มีความพยายามมาโดยตลอด ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากนักวิชาการ ฝ่ายผลิตอย่างคณะศึกษาศาสตร์/ครุศาสตร์..
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์
กระทั่งล่าสุด 20 มี.ค.ทีผ่่านมานพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) มีมติ.เห็นชอบการปรับหลักเกณฑ์การสรรหาบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปี 2560 กรณีทั่วไปเปิดทางให้คนที่ยังไม่มีใบอนุญาตฯ หรือใบอนุญาตปฏิบัติการสอน ที่คุรุสภาออกให้ สามารถสมัครสอบแข่งขันครูผู้ช่วยครั้งนี้ได้ หากสอบผ่านได้รับบรรจุเข้ารับราชการตำแหน่งครูผู้ช่วย จะต้องเข้าสู่กระบวนการเพื่อให้ได้ใบอนุญาตฯ ที่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนคุรุสภา
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ
เรื่องนี้ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฟันธงว่าเขาไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ เพราะแต่ละวิชาชีพมีกฎระเบียบกฎเกณฑ์ในการคัดและผลิตคนเข้าสู่วิชาชีพ ซึ่งแต่ละคนที่เลือกเรียนได้ตัดสินใจแต่ต้นแล้วว่าจะเลือกเส้นทางชีวิตสู่วิชาชีพใด ซึ่งวิชาชีพครูมีหลักปรัชญาในตัวเอง มีองค์ความรู้ มีศาสตร์ มีคุณธรรมจริยธรรมในแง่ของจรรยาบรรณวิชาชีพครู ต้องใช้ระยะเวลาถึง 5 ปีในการบ่มเพาะผลิตคนๆหนึ่งเพื่อมาเป็นครู ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู แต่ขณะนี้วิชาชีพครูกำลังถูกมองว่าเหมือนวิชาชีพทั่วไป ใครอยากเป็นครูเป็นได้ ทั้งที่ผ่านมาให้ความสำคัญกับครู เพราะเป็นคนสำคัญ เป็นแก่น เสาหลักของการปฏิรูปการศึกษา
“เวลานี้คนในแวดวงการศึกษาไม่สบายใจกับเรื่องนี้ ซึ่งผมไม่ได้ปฏิเสธคนที่เรียนในสาขาอื่นๆ เพราะทุกวิชาชีพก็มีระเบียบ กฎเกณฑ์ต่างกัน แต่การที่บอกว่าเราขาดครูวิทย์ คณิตแล้วเปลี่ยนระเบียบให้คนอื่นๆสาขาอื่นมาสอบโดยที่ไม่รู้เขาอยากมาเป็นครูจริงหรือไม่ แม้อาจจะเก่งเนื้อหา แต่ก็ต้องมองถึงประสบการณ์ด้วยว่าผ่านการสอนเด็กมาหรือไม่ และแม้ว่าจะต้องเข้าสู่กระบวนการอบรมต่างๆที่คุรุสภากำหนด แต่ระยะเวลา 1 ปีกับเวลาเรียน 5 ปีย่อมแตกต่างกันเพราะเด็กที่เรียนครูต้องผ่านการปลูกฝัง เรียนรู้ในแต่ละชั้นปี ”ศ.ดร.สมพงษ์ ระบุ
เช่นเดียวกับ แนน-ภัทรนันท์ สงเดช นักศึกษาปี 4 คณะครุศาสตร์ สาขาประถมศึกษา มหาวิทยาลัยสวนดุสิต (มสด.) บอกว่า ตอนที่ทราบข่าวรู้สึกจิตตก เพราะรู้สึกว่าต้องทุ่มเทเวลาในการเรียนอย่างหนักถึง 5 ปีเริ่มปี 1 เริ่มเขียนแผนการสอน เรียนรู้เทคนิคต่างๆ ฝึกสอนอีก 1 ปีเต็มเพื่อที่จะพร้อมออกไปเป็นครูที่มีคุณภาพ
พอมีการปรับเปลี่ยนเปิดให้สาขาอื่นๆซึ่งเรียนเพียง 4 ปีมาสอบแข่งขันได้ เหมือนถูกแย่งงาน ซึ่งยอมรับว่าเขาอาจจะมีจุดเด่นความรู้เฉพาะด้าน แต่ส่วนตัวมองว่าในแง่ของจรรยาบรรณ ความรักในวิชาชีพ และจิตวิญญาณความเป็นครูเหล่านี้เป็นสิ่งที่บ่มเพาะและหล่อหลอมคนเรียนครู โดยเฉพาะความรักในวิชาชีพครูและจิตวิญญาณความเป็นครูเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก แน่นอนว่าคงไม่สามารถปรับเปลี่ยนอะไรได้แล้ว แต่ก็ตั้งใจจะทำหน้าที่ตนเองให้ดีที่สุดต่อไป
ส่วนความเห็นของผู้ที่เรียนจบสาขาอื่นแต่อยากเป็นครูอย่าง มิว-วงศ์วิจิตร ทรัพย์พานิชย์ นักศึกษาปี 2 คณะวิทยาการจัดการ สาขาเลขานุการทางการแพทย์ มสด. มองว่า ที่ผ่านมาติดตามข่าวสารการสอบครูมาโดยตลอด พอมีการปรับเปลี่ยนรู้สึกดีใจ มองว่าเป็นโอกาสที่ดีสำหรับคนที่เรียนในหลักสูตรอื่นๆ ที่อยากเป็นครูได้มีโอกาสสอบแข่งขัน
ส่วนตัวแม้จะเรียนสาขาเลขานุการทางการแพทยฯก็อยากเป็นครู อย่างไรก็ตาม รู้เช่นกันว่าคนที่เรียนครูโดยตรงไม่ค่อยสบายใจกับแนวทางนี้ แต่ก็อยากให้เปิดใจ เพราะไม่ใช่ว่าคนที่จบสาขาอื่นแล้วจะเป็นครูได้ทันที แต่ก็ต้องไปเรียนรู้เพิ่มเติมให้มีความรู้เหมือนที่ทุกคนมี เป้าหมายเพื่อสามารถเป็นครูที่มีคุณภาพได้