CHES ถก สกอ. กันสมองไหล!!!
CHES ถก สกอ. กันสมองไหล เล็งผุด ร่าง พ.ร.บ.สิทธิประโยชน์บุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ชี้พนง.ไม่มีสิทธิสมัครกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ-กองทุนกบข.
เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2560 รศ. ดร. วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะเลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ หรือ CHES เผยว่า เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 60 เวลาประมาณ 19.00-21.30 น.ตนพร้อมด้วยคณะ ประกอบด้วย ผศ. ดร. รัฐกรณ์ คิดการ ประธานที่ประชุมสภาคณาจารย์แห่งประเทศไทย (ทปสท) ผศ. ดร. พัทธนันท์ หรรษาภิรมย์โชค รองเลขาธิการฯ CHES และสมาชิกส่วนหนึ่ง ได้เข้าร่วมประชุมกับ ดร. สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการการอุดมศึกษา(เลขาฯกกอ.) และคณะทำงานด้านการยกร่าง พ.ร.บ. ที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา
"ที่ประชุมเป็นการพูดคุยกันหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา ที่ขณะนี้ ใน 80 มหาวิทยาลัย ทั้งในมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ(ม.นอกระบบ)และมหาวิทยาละยของรัฐนั้น มีบุคลากรที่เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยจำนวนมาก ประมาณ 1.9 แสนคน และมีข้าราชการที่จำนวนลดลงเหลือประมาณ 2 หมื่นคน นอกจากนี้ ยังมีบุคลากรประเภทต่างๆที่สังกัดอยู่ในระบบ เช่น พนักงานจากเงินรายได้ พนักงานราชการ ลูกจ้างต่างๆ ซึ่งสิทธิสวัสดิการความมั่นคงในอาชีพต่างกัน โดยเฉพาะเรื่องสิทธิ์รักษาพยาบาล ที่พนักงานมหาวิทยาลัยต้องใช้ร่วมกับระบบประกันสังคมอยู่ขณะนี้ ส่วนข้าราชการก็ใช้สิทธิ์ราชการต่อ ประกอบกับปัญหาสมองไหลที่พนักงานมหาวิทยาลัยที่เก่งๆ ลาออกจากอาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัย เพื่อไปสมัครรับราชการในกรมกองต่างๆ ด้วยอยากได้สิทธิ์รักษาพยาบาลและสิทธิประโยชน์ของข้าราชการ"รศ.ดร.วีรชัยกล่าว
รศ. ดร. วีรชัย กล่าวต่อว่า อีกปัญหาหนึ่งของระบบพนักงานมหาวิทยาลัยคือ ไม่มีสิทธิ์ในเรื่องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มั่นคง พนักงานมหาวิทยาลัยไม่สามารถเข้าร่วมกองทุน กบข. ได้ และแต่ละมหาวิทยาลัยไปดำเนินการจัดตั้งสิทธิ์ทั้งสองอย่างเอง ตามอัตภาพ เป็นเบี้ยหัวแตก ที่ประชุมมีความเห็นพ้องในเบื้องต้น ในการที่จะยกร่าง พรบ. สิทธิประโยชน์บุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ซึ่งจะโพกัสไปที่ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และสิทธิรักษาพยาบาล ของบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาเป็นหลัก
‘’ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ถกกันอย่างมาก ถึงร่าง พ.ร.บ. บริหารงานบุคคล ซึ่งกำลังมีความแตกแยกในหมู่ประชาคมอุดมศึกษาอยู่ในขณะนี้ และร่วมกันถกประเด็นที่ต้องแก้ไขปรับปรุ่งก่อนนำเสนอรัฐบาลตามลำดับ ทั้งนี้ ทาง CHES เห็นว่า เมื่อแก้ไขเสร็จแล้ว อาจต้องเปลี่ยนชื่อร่าง พ.ร.บ. นี้ ด้วยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่ใช่พนักงานมหาวิทยาลัยเป็นหลัก แต่ยังมีข้าราชการและบุคลากรอีกหลายประเภท ในเบื้องต้น ได้เสนอให้เปลี่ยนชื่อร่าง พ.ร.บ.เป็นพ.ร.บ. ระเบียบบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ’’ รศ. ดร. วีรชัย กล่าวในที่สุด