ครูแห่ยื่นกู้แก้หนี้วิกฤตจังหวัดละ200คน
“พิษณุ” เผยคืบหน้าแก้หนี้ครูวิกฤต ยังอยู่ในขั้นตอนคกก.จังหวัดคัดเลือก เหตุครูสมัครมากจังหวัดละ 200-500 คน
จนถึงเวลานี้ยังไม่สามารถสรุปยอดผู้สมัครที่ผ่านการพิจารณาคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการสวัสดิการเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สิน ที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) จับมือกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครู 16 แห่งใน 15 จังหวัด มีวงเงินเตรียมไว้ปล่อยกู้ ประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งตามแผนที่ ดร.พิษณุ ตุลสุข รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สกสค.วางไว้ตั้งใจจะเริ่มปล่อยกู้ซึ่งตั้งแต่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา ถึงเวลานี้ล่วงเลยมาเกือบครึ่งเดือนแล้วยังไม่มีทีท่าจะปล่อยกู้ได้
โดย ดร.พิษณุ ชี้แจงว่า มีครูสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก เท่าที่ทราบแต่ละจังหวัดไม่ต่ำกว่า 200-500 คน ซึ่งขณะนี้การคัดเลือกในแต่ละจังหวัดยังไม่แล้วเสร็จ เพราะคณะกรรมการในระดับจังหวัดที่ตั้งขึ้น จะต้องตรวจสอบประวัติ ตรวจสอบภาพหนี้ ฯลฯ กระบวนการเหล่านี้ต้องใช้เวลา เมื่อเรียบร้อยจึงเสนอมาให้ สกสค.พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม พยายามจะดำเนินการเรื่องนี้โดยเร็วๆ ที่สุด และทำอย่างรอบคอบเพราะเป้าหมายของการปล่อยกู้ คือ ครูที่มีหนี้วิกฤต
ส่วนความคืบหน้าในการจัดทำร่าง บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) และธนาคารออมสิน จำกัด (มหาชน) ฉบับใหม่ นั้น เร็วๆ นี้จะเชิญธนาคารออมสิน มาหารือในรายละเอียดร่วมกัน โดยมีพล.ท.โกศล ประทุมชาติ ที่ปรึกษารมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน โดยจะพยายามดำเนินการให้ได้ข้อสรุปโดยเร็วที่สุด เพราะก่อนหน้าที่มีการหารือร่วมกันของ 2 หน่วยงานที่มีนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน นอกจากมีมติให้ยกเลิกเอ็มโอยู ฉบับเดิมที่ลงนามกับอดีตเลขาธิการ สกสค. แล้วนั้น ยังมีข้อตกลงร่วมกันว่า ธนาคารออมสินจะต้องหยุดหักเงินจากกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษฯ เพื่อใช้หนี้แทนครูที่ค้างชำระ 3 งวดขึ้นไปตั้งแต่เดือนมิถุนายนนี้ เพราะฉะนั้น จำเป็นต้องลงนามเอ็มโอยูฉบับใหม่โดยเร็ว
ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการ สกสค. ที่มีนพ.ธีระเกียรติ เป็นประธาน วันที่ 16 มิถุนายนนี้ จะรายงานความคืบหน้าการทำงานและการแก้ปัญหาต่าง ๆ ของสกสค. ทั้งเรื่องหนี้สินครู และการแก้ปัญหาทุจริตต่าง ๆ