Lifestyle

โชว์ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมภูมิปัญญาไทย 4.0

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

The Art Thai Market โชว์ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมภูมิปัญญาไทย 4.0 ใช้สินค้าไทย ก้าวไกลการตลาดสื่ออนไลน์

        กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  และ บริษัทเอชโปร (Hpro) จัดเทศกาลThe Art Thai Market  ชม ชิม ช็อป สืบสานภูมิปัญญาไทย หัวใจ 4.0 งานที่รวบรวมผลิตภัณฑ์ OTOP ที่เด่นดังจากกลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน จำนวน 46 ราย จากการเข้าร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ในโครงการพัฒนาเครือข่ายผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนตลอดห่วงโซ่อุปทาน ร่วมกับ โครงการพัฒนาและการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ที่ K Village สุขุมวิท 26 เมื่อเร็วๆ นี้

           นายเพทาย ล่อใจ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าการยกระดับและการมีช่องทางทางการตลาดให้ผู้ประกอบการและเพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มหัตถกรรมประยุกต์ของเครือข่ายผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนตลอดห่วงโซ่อุปทาน จำนวน 46 รายและกลุ่มเครือข่ายไทยดีดีของการรวมกลุ่มและการพัฒนาผู้ประกอบการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ จำนวน 39 ราย ผ่านกระบวนการพัฒนาและฝึกอบรมและการแนะนำเชิงลึก และการศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง ในการจัดงานแสดงสินค้า The Art Thai Market  ชม ชิม ช็อป สืบสานภูมิปัญญาไทย หัวใจ 4.0 ครั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มเครือข่ายได้นำผลิตภัณฑ์มาทดลองตลาดและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จัก ตลอดจนทำให้กลุ่มผู้ประกอบการและผู้เที่ยวชมงานได้เห็นความสำคัญของการดำเนินธุรกิจในรูปแบบของเครือข่าย

โชว์ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมภูมิปัญญาไทย 4.0

       กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ทำร่วมกับ มศว โดยศูนย์บริการวิชาการที่ได้อบรมบ่มเพาะเทคนิคการพัฒนาผลิตภัณฑ์และช่องทางการจำหน่ายสินค้า โดยเรายึดทุนทางวัฒนธรรมภูมิปัญญาเป็นตัวตั้ง พัฒนาสินค้าตามกลุ่มเป้าหมายคือนักท่องเที่ยวที่จะสร้างรายได้ให้ชุมชนได้ เป็นสินค้าของฝากของที่ระลึก แนวทางที่ 2 คือยึดสินค้าตามความต้องการของตลาดเป็นหลักจาก 5 ประเภท อาหาร เครื่องดื่ม ผ้าและเครื่องแต่งกาย ของใช้ ของตกแต่ง สมุนไพร ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดปัจจุบันที่ต้องการสินค้าที่ไม่เหมือนกัน ต้องเป็นสินค้าเฉพาะที่มีการออกแบบหลากหลาย รวมทั้งการยกระดับศักยภาพในการดำเนินธุรกิจให้ผู้ประกอบการใน 4 ช่วง คือ ช่วง Start up ให้มีผู้ประกอบการใหม่ๆ / การพัฒนาทายาทของธุรกิจเดิม / การสร้างความเจริญเติบโตให้กับธุรกิจโดยเน้นคุณภาพมาตรฐานสินค้า เช่น มพช. มาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อมแบบย่อ (Green) การพัฒนาบรรจุภัณฑ์และรูปแบบสินค้า ไปสู่ช่วงการสร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจเช่นการนำดิจิทัล สื่อออนไลน์ที่เป็นช่องทางการตลาดที่สำคัญตอนนี้ การใช้ผ่านโมบายได้ในการวางแผนธุรกิจ เป็นต้น ทั้งนี้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมั่นใจว่ากิจกรรมการนำเครือข่ายผู้ประกอบการมาแสดงและจำหน่ายสินค้าในครั้งนี้จะช่วยให้ประเทศไทยเรามีสินค้าดีเด่นเพื่อยกระดับผู้ผลิตและกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมั่งคั่งและยั่งยืน”

       ปิลันธนา นามวงศ์ ผู้ผลิตและจำหน่ายงานถักแฮนด์เมดจากไหมพรม ย้อมสีธรรมชาติ “จุ๊บเจลเนอรัลกล่าวว่า “กลุ่มเราอยู่ที่เขตภาษีเจริญ มีจุดเด่นใช้ไหมพรมย้อมสีธรรมชาติ เช่น หมวกถักสีม่วงเทากะปิย้อมมาจากเปลือกมังคุด สีครีมจากยูคา เป็นต้น สินค้าขายดีจะเป็นสินค้าที่พัฒนารูปแบบและการใช้งานให้สามารถเป็นของชิ้นเดียวกันแต่ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น หมวกเป็นผ้าพันคอ เป็นสายคาดเอวได้ เป็นผ้าคลุมไหล่ ชิ้นนี้ ราคา 750 บาท งานถักสายหุ้มกระเป๋าแบรนด์เนมทุกรุ่น สินค้าเราได้เป็นสินค้าอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย”

โชว์ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมภูมิปัญญาไทย 4.0

  ปิลันธนา นามวงศ์

      เอกฉันท์ จันอุไรรัตน์ เจ้าของสินค้า “เครื่องลงยาสีโบราณ” กล่าวว่า “ตอนนี้มีผู้ที่ทำเครื่องลงยาสีเหลือน้อยแล้ว ส่วนตนเองรับช่วงต่อมาจากรุ่นแม่ ทำมา 50 ปีแล้ว อยู่ที่นนทบุรี เสน่ห์ของสินค้าคือเป็นสินค้าไทย มีลายไทยอย่างลายกนก ลายพุดตาน  เครื่องลงยาสีเป็นงานศิลปะที่ใช้ตกแต่งเครื่องเงินเครื่องทองของไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยการนำหินที่มีสีสันต่างๆ มาเผาให้ละลายติดอยู่บนเครื่องประดับที่ต้องการ เป็นภูมิปัญญาไทย มีเอกลักษณ์ความเป็นไทย สินค้าของเราผลิตโดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเครื่องลงยาสีโบราณตามมาตรฐาน OTOP ห้าดาว จากการที่ได้ร่วมในโครงการก็ทำให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนารูปแบบสินค้าให้หลากหลายและทันสมัยขึ้น สินค้าส่วนใหญ่เป็นของฝากของที่ระลึก มีราคาตั้งแต่หลักร้อยไปถึงหลักหมื่น กลุ่มลูกค้ามีทั้งหน่วยงานราชการต่างๆ ที่สั่งสินค้าลงยาสีประทับตราหน่วยงานเพื่อเป็นของที่ระลึกมอบให้กับบุคคลสำคัญบ้าง ชาวต่างชาติบ้าง หรือแม้แต่เด็กๆ รุ่นใหม่ที่หันมาสนใจมากขึ้น ซื้อเป็นของฝากเวลาไปเรียนต่อต่างประเทศเพราะสินค้าบ่งบอกเอกลักษณ์ความเป็นไทย สินค้ามีตั้งแต่ชิ้นเล็กไปจนถึงชิ้นใหญ่ที่ทำมามีประมาณ 2,000 แบบ เครื่องประดับและของใช้ เช่น เข็มกลัดติดเสื้อ ตลับใส่นามบัตร แหวน ขวดยาดมลงยา ที่คั่นหนังสือ กรอบรูป โดยเฉพาะ ‘กล่องเครื่องประดับลงยาสีนพเก้า’ ที่เป็นสินค้าเด่นของกลุ่ม”

โชว์ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมภูมิปัญญาไทย 4.0

เอกฉันท์ จันอุไรรัตน์

       พิรุณ ศรีเอี่ยมสะอาด ผู้ผลิตและจำหน่าย “บางกอกหุ่นไทย” พลิกผันชีวิตจากสถาปนิกเพราะพิษเศรษฐกิจยุคฟองสบู่แตกมาสู่การสร้างงานศิลปะให้เป็นของที่ระลึกมีคุณค่าและมีมูลค่าได้สำเร็จในวันนี้ โดยการปั้นหุ่นพระรามเป็นหุ่นกระบอกใส่ตู้ตั้งโชว์ ออกขายและขายได้ในราคา 800 บาทในช่วงเริ่มอาชีพ ตอนนี้ตัวละหลายพันหลังจากนั้นก็ลองผิดลองถูกสร้างสรรค์ชิ้นงานขายตามตลาดเปิดท้าย ขายในห้าง สอนด้วย ทำมาจนสินค้าได้รางวัล OTOP ของกรุงเทพมหานคร และเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแสดงสินค้าให้กับอาคันตุกะในทำเนียบรัฐบาลก็หลายครั้ง ได้รับออร์เดอร์เป็นสินค้าของที่ระลึกให้กับบุคคลสำคัญๆ พิพิธภัณฑ์บางแห่งก็เคยสั่งให้ทำเป็นหุ่นกระบอกชุดยกรบ รามเกียรติ์ ตัวละครในวรรณคดีไทย ราคาเฉลี่ยหลักร้อยไปถึงหลักแสนบาท ทุกวันนี้ก็พัฒนารูปแบบสินค้าตามความต้องการของลูกค้าซึ่งมักจะเป็นโจทย์ใหม่ๆ ให้ได้เรียนรู้สร้างชิ้นงานที่แปลกใหม่มากขึ้นและมีช่องทางการตลาดทางออนไลน์ด้วยขณะนี้”

โชว์ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมภูมิปัญญาไทย 4.0

พิรุณ ศรีเอี่ยมสะอาด 

        สมชาย น้อยจินดา ประธานกลุ่ม “แก้วเป่าประยุกต์ศิลป์ไทย” และผู้ผลิตจำหน่ายสินค้าแก้วเป่าที่สร้างชื่อเสียงคือ เรือสุพรรณหงส์แก้วเป่าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ยาว 2.50 เมตร ตลอดจนยังได้สิทธิบัตรการออกแบบตู้หรือบรรจุภัณฑ์ที่สามารถมองเห็นความงดงามของสินค้าได้รอบด้าน “ปัจจุบัน เรือสุพรรณหงส์ก็ยังผลิตอยู่ มี 3 ขนาด เดิมผมขับรถแท็กซี่เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้วแต่อยากทำอะไรที่คนอื่นไม่ทำ ใหญ่ที่สุด จึงคิดว่าเรือสุพรรณหงส์แสดงเอกลักษณ์ความเป็นไทยที่คนไทยและต่างชาติรู้จัก เลยไปดูศึกษาจากคนที่รู้มาบ้าง ครูพักลักจำ กระทั่งได้ทำมาถึงทุกวันนี้จนอยากทำเป็นพิพิธภัณฑ์ ซึ่งตอนนี้ก็หันมาเพิ่มสีสันและรูปแบบสินค้าให้หลากหลายกับความต้องการของคนรุ่นใหม่และตลาดทั้งเครื่องประดับและของที่ระลึก ราคาเฉลี่ยหลักร้อยไปจนถึงหลักแสน เช่น ที่ชงน้ำ ตุ๊กตานักษัตร สัตว์ปีเกิด ชุดม้า ยากกว่านั้นก็มีการเป่าแก้วแบบยุโรป อิตาลี เอาลายมาใส่ เป่าแก้วเป็นดอกเห็ด ดอกลีลาวดีใส่ลงไปในกบตัวจิ๋วก็เป่ามาจากแก้วทั้งชิ้น เพราะคนไม่ค่อยรู้ว่าแก้วทำอะไรต่างๆ ได้มากมาย เราได้เรียนรู้เทคนิคการสร้างชิ้นงานใหม่ๆ ทำให้เพิ่มมูลค่าได้และมีกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ๆ”

         ประสาท ขันธพัฒน์ ผู้ผลิตและจำหน่ายแบรนด์เสื้อผ้า INLADAA BLOUSE หนึ่งในตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการเครื่องนุ่งห่ม เล่าว่า “ผมเติบโตมากับการได้ช่วยกลุ่มสตรีมุสลิมที่แถวบ้านอยุธยาทำงานรับจ้างปักจักร เย็บปักถักร้อย ทำเสื้อ จนที่สุดผมก็ทำเสื้อยี่ห้อ อาลาดิน แนวมุสลิมผู้ชายๆ จนเปลี่ยนมาทำเสื้อผู้หญิงอินลดา นี้ก็เลยสลับคำว่าอาลาดินเป็นอินลดาให้รู้สึกถึงความเป็นผู้หญิง มีแต่ใจที่อยากทำเสื้อขาย ทำมา 12 ปีแล้วก็ได้เข้ามาเรียนรู้การปรับปรุงสินค้าให้ทันสมัย เหมาะกับลูกค้า เพิ่มช่องทางการตลาดเพราะโลกเปลี่ยนเป็นสังคมออนไลน์ ดิจิทัลมากเราต้องตามให้ทัน ก็พัฒนาตัวแบบเสื้อ ล่าสุดก็เป็นเสื้อคลุมตัวยาวแต่ยังคงเอกลักษณ์ของแบรนด์ไว้คือ เป็นเสื้อแขนเป้า เสื้อคลุมตัวสั้นที่ตัดเย็บด้วยผ้าไหมใส่ได้ 2 ด้าน ตอนหลังก็มีงานปักลวดลายต่างๆ แต่เป็นการปักจักรที่ละเอียดร่วมด้วย 

                   โชว์ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมภูมิปัญญาไทย 4.0 โชว์ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมภูมิปัญญาไทย 4.0

             The Art Thai Market  ชม ชิม ช็อป สืบสานภูมิปัญญาไทย หัวใจ 4.0 งานที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจับมือร่วมกับสถาบันการศึกษาภาครัฐ เพื่อขยายช่องทางการเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ OTOP ดีเด่นหลากหลายประเภท เพื่อให้คนไทยได้ภาคภูมิใจว่าสินค้าไทยเป็นสินค้าดี มีมาตรฐานและมีคุณภาพระดับประเทศ สนับสนุนให้สินค้าไทยมีเวทีโชว์และเพิ่มช่องทางการตลาดทางสื่อสังคมออนไลน์ ให้สินค้าไทยคงความเป็นภูมิปัญญาไทยที่ทรงคุณค่าและมีมูลค่าอย่างสมศักดิ์ศรี.

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ