3 ม.ดังใช้ผู้สอนร่วมกันแก้วิกฤตขาดอาจารย์นิเทศฯ
"นิเทศฯ จุฬาฯ ร่วมนิเทศฯ นิด้า และวารสารฯ ธรรมศาสตร์" ลงนามใช้อาจารย์สอนร่วมกัน หลังวิกฤติ เด็กรุ่นใหม่ สนใจเรียน แต่ขาดแคลนผู้สอน
วิกฤตวงการสื่อ ไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะในองค์กรสื่อสารมวลชนเท่านั้น แวดวงวิชาการก็เข้าขั้นวิกฤตเช่นกัน เมื่อนับวันคณาจารย์ บุคลากรด้านนิเทศศาสตร์น้อยลงเรื่อยๆ
3 สถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศไทยที่จัดการเรียนการสอนด้านการสื่อสาร ได้แก่ คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) ได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) ทางวิชาการ เพื่อแลกเปลี่ยน ใช้บุคลากรร่วมกัน ลดการขาดแคลนคณาจารย์บุคลากรด้านนิเทศศาสตร์
ถือเป็นครั้งแรกของประเทศที่ทั้ง 3สถาบันด้านนิเทศศาสตร์ ได้รวมตัวกัน ศ.ดร.ยุบล เบ็ญจรงค์กิจ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ นิด้า เล่าถึงจุดเริ่มต้นของความร่วมมือครั้งนี้ว่า จริงๆ ทั้ง3 สถาบันได้มีการแลกเปลี่ยน ใช้บุคลากรด้านนิเทศศาสตร์ร่วมกันมานานแล้ว แต่ยังไม่มีการลงนามชัดเจน เพราะต้องยอมรับว่าบุคลากรด้านนิเทศศาสตร์ โดยเฉพาะอาจารย์นั้น มีจำนวนจำกัด ต่อให้มีนิสิตนักศึกษาหรือบุคลากรที่ทำงานด้านสื่อสารมวลชนจำนวนมาก แต่มีสัดส่วนน้อยที่อยากเป็นอาจารย์
“อาจารย์เงินเดือน ค่าตอบแทนไม่สูง แถมยังต้องทำผลงานวิชาการ และมีภาระงานมากมาย ทำให้หลายคนไม่อยากเป็นอาจารย์ ที่ผ่านมา ทั้ง3สถาบันมีความร่วมมือแลกเปลี่ยนหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านอาจารย์ วิชาการ ซึ่งการลงนามความร่วมมือครั้งนี้ เป็นการสร้างเครือข่ายทางวิชาการร่วมกันเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ด้านวิชาการ ยกระดับการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการแก่สังคม”
“ศ.ดร.ยุบล” อดีตอาจารย์จุฬาฯ เมื่อเกษียณอายุได้มาทำงานที่นิด้า และมีอาจารย์นิด้าหลายท่านที่ทำงานที่จุฬาฯ มธ.และเมื่อเกษียณอายุก็มาเป็นอาจารย์ที่นิด้า และไปเป็นอาจารย์สอนที่สถาบันเดิมของตนเอง ปัจจุบัน ทรัพยากรบุคคลหาคนที่มีคุณสมบัติตามมาตรฐาน หรือเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.)เข้ามาสอน ค่อนข้างยาก สิ่งที่ทำมาตลอด คือแลกเปลี่ยนบุคลากรร่วมกันแต่ไม่ได้เป็นทางการ เป็นอาจารย์ผู้สอนด้วย เป็นอาจารย์พิเศษ
แม้ในทางปฏิบัติจะมีการทำงานร่วมกันอยู่แล้ว แต่การทำทุกอย่างให้เป็นทางการ นอกจากสร้างการรับรู้ถึงความร่วมมือร่วมใจกันของสถาบันการศึกษาในไทยในการพัฒนานิสิตนักศึกษา ไม่ใช่ต่างคนต่างทำแล้ว ยังได้ทำข้อตกลงในการจัดกิจกรรมทางวิชาการร่วมด้วย
ศ.ดร.ยุบล กล่าวต่อว่าในวันที่ 29 ก.ค.นี้ ที่มธ.จะมีการจัดประชุม สัมมนา ผลงานทางวิชาการร่วมกัน เพื่อเป็นการเปิดพื้นที่ให้นักศึกษา นิสิตปริญญาโท ปริญญาเอกได้มานำเสนอผลงานทางวิชาการ รวมถึงจัดสัมมนาทางวิชาการเกี่ยวกับนิเทศศาสตร์ยกระดับบุคลากร นิสิตนักศึกษานิเทศศาสตร์ยุคดิจิตอล
“ปีนี้ มธ.เป็นเจ้าภาพ ครั้งหน้าก็เป็น จุฬา และนิด้า สลับเปลี่ยนกันไป เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน องค์ความรู้ด้านวิชาการ ผลงานที่เกิดจากความร่วมมือ อาทิ การจัดพิมพ์ ตำรา วารสารทางวิชาการ เป็นต้น และในอนาคตอาจจะจัดตั้งเป็นสมาคม ออกเป็นวารสารเชิญชวนให้ทุกๆ สถาบัน ผลงานที่ทำวิจัย มาตีพิมพ์ร่วมกัน หรือในรูปแบบอื่นๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการเพิ่มขึ้น รวมถึงการอบรม พัฒนา เพิ่มเติมศักยภาพบุคลากรด้านนิเทศศาสตร์ให้มีคุณภาพ นำไปสู่ผลิตบัณฑิตสาขานิเทศศาสตร์ที่ไม่ใช่เพียงเก่งเชี่ยวชาญในสาขาของตนเองแต่ต้องบูรณาการ ปรับตัว มีองค์ความรู้รอบด้าน”
ความร่วมมือจะเริ่มมีการเชิญอาจารย์ทั้ง 3 สถาบันไปสอนข้ามสถาบัน ไปเป็นผู้สอน วิทยากร ช่วยทำให้ทรัพยากรของประเทศถูกนำมาใช้ อย่างคุ้มค่ามากขึ้น เพราะต่างคนต่างเปิดหลักสูตรของตัวเอง อาจขาดแคลนบุคลากร อาจารย์ผู้สอน
ศ.ดร.ยุบล กล่าวอีกว่าสังคมอาจมองว่านักศึกษา นิสิตเยอะ แต่คนที่จะตัดสินใจมาทำงานอาจารย์กลับมีไม่มาก และไม่สามารถดึงดูดให้คนที่มีศักยภาพทุกคนเป็นอาจารย์ได้ ตอนนี้ ใช้ทรัพยากรจากวิชาชีพมาช่วยสอน เพราะนิเทศศาสตร์ เป็นสายวิชาชีพ อาชีพทางด้านข่าว การตลาด การสื่อสารอื่นๆ ช่วยทำให้หลักสูตรดำเนินการไปได้อย่างคล่องตัว
ปัจจุบัน แต่ละสถาบันมีอาจารย์ประจำประมาณ 70-75% และมีอาจารย์พิเศษ ประมาณ 25-30 %อีกทั้งการเรียนการสอน ก็ไม่ได้เป็นในลักษณะเดิม อาจารย์จะมาสอนแบบเดิมๆ ไม่ได้
"ตอนนี้ทุกสถาบันที่เปิดการเรียนการสอนด้านนิเทศศาสตร์มีความตื่นตัวในการปรับการเรียนการสอนให้สอดรับกับยุคดิจิตอลมากยิ่งขึ้น เพราะคนสอนนิเทศศาสตร์แบบยุคเดิมไม่ได้ เนื่องด้วยเทคโนโลยีมันเปลี่ยน อย่างอดีต สื่อวิทยุโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์อาจเป็นสื่อกระแสหลัก แต่ตอนนี้ ย้ายฐานไปสู่ออนไลน์หมดแล้ว"
เมื่อสังคมเปลี่ยน เด็กเปลี่ยน หลักสูตรการเรียนการสอนของนิเทศศาสตร์ก็ต้องเปลี่ยนตาม คณบดีคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ นิด้า นกล่าวว่า เด็กต้องเรียนรู้ทางดิจิตอลมากขึ้น และต้องเรียนแบบบูรณาการ ต้องรู้จักการสื่อสารการตลาด การทำโฆษณา การเขียนข่าวที่ไม่ใช่ใช้เฉพาะในหนังสือพิมพ์ หรือโทรทัศน์ แต่ต้องเข้าใจรูปแบบของสื่อออนไลน์ สื่อโซเซียลมีเดีย หลักสูตรต้องปรับตาม
ศ.ดร.ยุบล กล่าวอีกด้วยว่า เด็กต้องเข้าใจพื้นฐานเรื่องการสื่อสาร เข้าใจสื่อ ที่เป็นทั้งสื่อเก่าและสื่อใหม่ทั้งหมด ต้องมีทักษะเรื่องสื่อใหม่ สอดรับกับอุตสาหกรรมสื่อไทยที่มีการเปลี่ยนโฉมไปหมดแล้ว รวมถึงต้องคำนึงด้วยว่า เมื่อก่อนสื่อเป็นผู้ผลิตเนื้อหา แต่ตอนนี้ใครๆ ก็ผลิตเนื้อหา รายการด้วยตนเองผ่านออนไลน์ได้
“คนเรียนนิเทศศาสตร์ต้องผลิตเนื้อหาได้ดีกว่าคนที่ใช้สื่อต่างๆและไม่ได้เรียนนิเทศศาสตร์ เพราะการผลิตเนื้อหาไม่ใช่เพียงใช้ออกอาการแต่ต้องเพื่อการเรียนรู้ สร้างสรรค์สื่อให้มีคุณภาพ เป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อที่ต้องเข้าใจเนื้อหา ผู้รับสารในยุคดิจิตอล การศึกษายังทำผ่านสื่อออนไลน์ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นการเรียนรู้ คณะนิเทศศาสตร์ต้องสอนให้เด็ก เข้าไปดูแล และทำได้ดีกว่าคนไม่ได้เรียน ต้องเข้าใจทุกกระบวนการผลิตสื่อน้ำดี มีคุณภาพ มีความรับผิดชอบต่อสังคม มีจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อ”
เด็กที่เรียนนิเทศศาสตร์ ไม่ใช่เป็นผู้ผลิตสื่อ ทำสื่ออย่างเดียว ศ.ดร.ยุบล ฝากทิ้งท้ายว่า ควรมีความสนใจในความเป็นไปรอบๆ ตัวเอง ถ้าเป็นคนชอบอยู่เฉยๆ ไม่สนใจอะไรเลย ไม่ควรเรียนนิเทศศาสตร์ ต้องมีความกระตือรื้อที่อยากเรียนรู้ สนใจใคร่รู้ ติดตามอะไรใหม่ๆ ติดตามการเปลี่ยนแปลงของโลก เทคโนโลยี มีความรับผิดชอบที่จะเข้าใจว่าเราจะทำหน้าที่อะไร และทำอย่างไรให้การเป็นวิชาชีพสื่อที่สมบูรณ์ ไม่ใช่สื่อสารอะไรออกไปโดยไม่รับรู้ ผลกระทบที่จะตามมา ต้องมีจรรยาบรรณ จริยธรรมในวิชาชีพ เป็นสื่อน้ำดี