มารู้จัก แอปฯเพื่อผู้พิการใช้ชีวิตไร้ขีดจำกัด
วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สจล. วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ พัฒนาแอปฯ “This is able” ในมือถือ ช่วยผู้พิการทางการได้ยิน การมองเห็น การสื่อความหมาย ผ่าน6ฟังก์ชั่น
ทุกวันนี้สมาร์ทโฟนถือเป็นอุปกรณ์สื่อสารที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนเรา ไม่เฉพาะสำหรับคนปกติทั่วไปเท่านั้นที่ใช้ประโยชน์ในติดต่อสื่อสารและติดตามข่าวสาร สำหรับผู้พิการเองสมาร์ทโฟนก็เป็นหนึ่งในอุปกรณ์สำคัญ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกการดำเนินชีวิตด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่เทคโนโลยีก้าวหน้าพัฒนาไปไกล ได้ช่วยให้ผู้พัฒนาสามารถอัพเกรดฟังก์ชั่นและความสามารถของสมาร์ทโฟนได้มากขึ้น สาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ จึงพัฒนาแอพพลิเคชั่น “This is able” ขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการทางการได้ยิน การมองเห็น และการพูดหรือสื่อความหมาย ให้สามารถสื่อสารได้ง่ายและตรงความหมายมากขึ้น
ในภาพรวมช่วยให้ผู้พิการสามารถพึ่งพาตนเองและอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข โดยล่าสุดผลงานชิ้นนี้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทบุคคลทั่วไป จากโครงการประกวดแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์สมาร์ทโฟนสำหรับผู้พิการทางการเห็น การได้ยิน หรือสื่อความหมาย โดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มาครอง
ผศ.ดร.เกษมสุข เสพศิริสุข
ผศ.ดร.เกษมสุข เสพศิริสุข อาจารย์สาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์ สจล. วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่น “This is able” ร่วมกับอาจารย์อรรถศาสตร์ นาคเทวัญ เปิดเผยว่าแอพพลิเคชั่นนี้พัฒนาบนระบบแอนดรอย์ด้วยภาษาจาวา มีการใช้ภาพร่วมกับข้อความสำหรับผู้พิการทางการได้ยิน ใช้ไอคอนต่างๆ สำหรับผู้พิการทางการสื่อความหมาย และใช้ Talkback เพื่อออกเสียงเมื่อกดปุ่มต่างๆ สำหรับผู้พิการทางสายตา โดยความสามารถของแอพพลิเคชั่นแบ่งออกเป็น 6 โปรแกรมย่อย
โดยรูปแบบการทำงานแต่ละโปรแกรมจะถูกแยกออกเป็น 6 ไอคอน แบ่งเป็น 3 แถวจากบนลงล่าง แถวละ 2 ไอคอนซ้ายและขวา ดังนี้ 1. บนซ้าย – โปรแกรมบอกสีและลวดลาย 2. กลางซ้าย – โปรแกรมอ่านวันหมดอายุ 3. ล่างซ้าย – โปรแกรมอ่านเอกสาร 4. บนขวา – โปรแกรมแผนที่และการระบุตำแหน่งรอบตัว 5. กลางขวา – โปรแกรมล่ามสื่อสาร และ 6. ล่างขวา – โปรแกรมเซนเซอร์เฝ้าระวังบ้าน
เมื่อผู้ใช้งานกดปุ่มไอคอนต่างๆ โปรแกรมจะเริ่มทำงาน โดยกดครั้งแรกจะมีเสียงบอกและกดครั้งที่สองโปรแกรมถึงเริ่มทำงานจริง จากนั้นเมื่อเข้าสู่หน้าจอการทำงานแต่ละโปรแกรมเพื่อให้ง่ายต่อการจดจำและใช้งาน จึงได้ออกแบบให้ทุกโปรแกรมจัดวางตำแหน่งไอคอนเหมือนกัน คือ “มุมล่างขาว” เป็นปุ่มช่วยเหลือและสอนวิธีการใช้งาน “ตรงกลาง” เป็นปุ่มโฮมกลับไปยังหน้าหลัก “มุมล่างซ้าย” เป็นปุ่มสั่งงานต่างๆ เพื่อให้ใช้งานมือเดียวได้อย่างสะดวก
ผศ.ดร.เกษมสุข อธิบายต่อว่าโปรแกรมทั้ง 6 ในแอพพลิเคชั่น ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาที่ผู้พิการต้องพบเจอกับความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวันเป็นหลัก โดยแต่ละโปรแกรมมีรูปแบบการทำงาน ดังนี้
1. โปรแกรมอ่านค่าสี ใช้งานด้วยการแตะหน้าจอถ้าเป็นสีพื้นจะออกเสียง “ไม่มีลวดลาย” ตามด้วยสีของวัตถุนั้นๆ แต่ถ้าเป็นสิ่งของมีลวดลายจะออกเสียง “มีลวดลาย” ตามด้วยสีของลวดลายบนวัตถุนั้นๆ แต่โปรแกรมจะจับค่าสีหลักที่กินพื้นที่ส่วนใหญ่ของวัตถุไม่เกิน 3 สี ประโยชน์ของโปรแกรมนี้จะช่วยให้ผู้พิการทางสายตา ได้ทราบถึงสีและลวดลายของวัตถุสิ่งของโดยเฉพาะเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เพื่อให้สะดวกต่อการสวมใส่ให้เหมาะสมกับงานหรือวัฒนธรรมประเพณี
2. โปรแกรมอ่านวันหมดอายุ ใช้งานด้วยการส่องกล้องที่ฉลากสินค้าเมื่อพบข้อความ EXP. 28.05.60 จะออกเสียง “28 พฤษภาคม 2560” หรือเมื่อพบข้อความ BBF. 20/05/2017 จะออกเสียง “ยี่สิบ ศูนย์ห้า สองพันสิบเจ็ด” สามารถใช้ได้ทั้งรูปแบบวันที่ 6 และ 8 ตัวอักษร ประโยชน์ของโปรแกรมนี้จะช่วยออกเสียงบอกวันหมดอายุของสินค้าและผลิตภัณฑ์อาหาร โดยกล้องจะพยายามหาตัวย่อของวันหมดอายุ เช่น EXP – Expire date หรือ BBF – Best ผู้ใช้งานอาจต้องรอให้กล้องปรับโฟกัสอัตโนมัติระหว่างอ่านค่า
3. โปรแกรมอ่านเอกสาร ใช้งานโดยการกด “ปุ่มมุมซ้ายล่าง” เพื่อเปิดโปรแกรมถ่ายรูปของสมาร์ทโฟน จากนั้นให้กดที่ชัตเตอร์เพื่อถ่ายภาพแล้วกดยืนยัน โปรแกรมจะส่งภาพไปคำนวณที่เซอร์เวอร์ เมื่อได้ผลกลับมาจะอ่านออกเสียงให้ผู้ใช้งานฟัง หากต้องการฟังซ้ำให้กดปุ่มอ่านอีกครั้ง ประโยชน์ของโปรแกรมนี้นอกจากช่วยให้ผู้พิการ ได้เข้าใจตัวอักษรและข้อมูลสำคัญต่างๆ เช่น ฉลากยา สินค้า จดหมาย และหนังสือแล้ว ขณะเดียวกันยังเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่อ่านหนังสือไม่ออกด้วย
4. โปรแกรมแผนที่และการระบุตำแหน่งรอบตัว ใช้งานผ่านปุ่มสั่งงาน 3 ปุ่มด้านซ้ายเรียงจากล่างขึ้นบน ดังนี้ “ซ้ายล่าง” คือที่อยู่ของฉัน เมื่อกดจะออกเสียงตามตำแหน่งที่ผู้ใช้งานอยู่ เช่น “65 ซอยร่มเกล้า 25 แขวงลาดกระบัง “ซ้ายกลาง” คือที่ตั้งร้านค้า เมื่อกดจะออกเสียงบอกที่ตั้งร้านสะดวกซื้อในรัศมี 1 กม. และ “ซ้ายบน” คือที่ตั้งโรงพยาบาล เมื่อกดจะออกเสียงที่ตั้งโรงพยาบาลในรัศมี1 กม. ประโยชน์ของโปรแกรมนี้ช่วยให้ผู้ใช้งานทราบถึงตำแหน่งปัจจุบันของตนเองแล้ว ยังช่วยให้ทราบถึงทิศทางและที่ตั้งของร้านค้าและโรงพยาบาลช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางได้ โดยขณะที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาให้โปรแกรมสามารถนำทางด้วยเสียง เพื่อเพิ่มความสะดวกในการนำทางขึ้นไปอีกระดับ
5. โปรแกรมล่ามสื่อสาร ใช้งานโดยการกดปุ่มเชื่อมต่ออุปกรณ์กับ NetPie ซึ่งเป็น Cloud Platform ที่ออกแบบและพัฒนาขึ้นเพื่อการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ เมื่อพร้อมใช้งานจะออกเสียง “เชื่อมต่อ NetPie แล้ว จากนั้นผู้ใช้งานกดปุ่ม “กดพูด” เพื่อเริ่มต้นการสนทนา เมื่อพูดแล้วโปรแกรมจะส่งข้อความไปยังห้องสนทนา ในทางกลับกันเมื่อคนอื่นส่งข้อความมาโปรแกรมจะออกเสียงให้ฟัง ประโยชน์ของโปรแกรมนี้ช่วยให้ผู้พิการทางสายตา การได้ยิน และคนทั่วไปสื่อสารถึงกันได้สะดวกขึ้น โดยแปลงข้อความจากเสียงเป็นอักษรและจากอักษรเป็นเสียง
6. โปรแกรมเซนเซอร์เฝ้าระวังบ้าน ใช้งานโดยทำงานร่วมกับชุดเซนเซอร์ IoT เพื่อช่วยรักษาความปลอดภัยในบ้าน เช่น เซนเซอร์อุณหภูมิเฝ้าระวังไฟไหม้ เซนเซอร์แสงตรวจสอบการเปิดปิดหลอดไฟ เซนเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหวใช้จับการเคลื่อนไหวของคน โดยเมื่อเกิดความผิดปกติขึ้นภายในบ้าน ที่ตรงกับเงื่อนไขการตั้งค่าจะมีเสียงเตือนที่อุปกรณ์ เช่น “แสง 196 อุณหภูมิ 23 องศา คนเคลื่อนไหวไม่มี” เป็นต้น
“จุดประสงค์ที่ได้ร่วมกับอาจารย์สาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์ สจล. วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ พัฒนาแอพพลิเคชั่น This is able ขึ้นมา เนื่องจากเล็งเห็นว่าทุกวันนี้สมาร์ทโฟนเป็นอุปกรณ์พื้นฐานที่คนมีติดตัว จึงเป็นการดีหากสามารถพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่ดึงศักยภาพต่างๆ ของสมาร์ทโฟน เพื่อตอบสนองหรืออำนวยความสะดวกการใช้ชีวิตประจำได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้พิการซึ่งมีความยากลำบากในการดำเนินชีวิต ซึ่งในภาพรวมนอกจากช่วยให้ผู้พิการสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างภาคภูมิ ยังช่วยให้สื่อสารอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมอย่างมีความสุขด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ สำหรับแผนการพัฒนาต่อยอดในอนาคตนั้น ขณะนี้อยู่ระว่างการพัฒนารูปแบบการทำงานแต่ละโปรแกรม ให้สามารถทำงานเสถียรและใช้งานได้ง่ายขึ้น” ผศ.ดร.เกษมสุข กล่าว
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์
ด้าน ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวเสริมว่า การให้ความสำคัญกับผู้พิการผ่านการพัฒนาเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิตประจำวัน ถือเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของ สจล. โดยที่ผ่านมาได้ผลักดันในคณาจารย์และนักศึกษาสาขาวิชาและคณะต่างๆ สร้างสรรค์ผลงานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตกลุ่มผู้พิการทุกรูปแบบ อาทิ คีย์บอร์ดเท้าสำหรับคนพิการ ห้องสมุดเสียง หนังสืออักษรเบลล์ รถวีลแชร์แบบปรับยืนได้
ซึ่งนอกจากผลงานของสาขาวิชาด้านวิศวกรรมศาสตร์แล้ว ในสาขาวิชาอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ คอมพิวเตอร์ ก็ได้มีการพัฒนาโปรแกรมหรือแอพพลิเคชั่นสำหรับผู้พิการอย่างต่อเนื่อง หรือสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบทางสถาปัตยกรรม ก็เน้นให้นักศึกษาเข้าใจและเห็นถึงความสำคัญในการออกแบบ เพื่อรองรับหรืออำนวยโดยเฉพาะทางขึ้นอาคารและห้องน้ำเฉพาะสำหรับผู้พิการ ผ่านการผลักดันการจัดตั้ง "ศูนย์นวัตกรรมเพื่อผู้พิการและผู้สูงอายุแห่งอาเซียน" ขึ้นในอนาคต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางสำหรับการสรรค์สร้างนวัตกรรมไอเดียใหม่ๆ ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการและผู้สูงอายุ ให้สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคมหรือปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นการใช้ประโยชน์ในตัวอาคาร ระบบขนส่งมวลชน และการเข้าถึงบริการสาธารณะทุกรูปแบบ
นอกจากนี้ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2558 สจล. ยังได้ผลักดันแนวคิด "The Gifted of The Gifted" สร้างโอกาสแห่งการพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพทางการศึกษาให้กับนักเรียนผู้พิการ โดยนำร่องร่วมมือกับมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ เปิดโอกาสให้นักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพขั้นสูง (ปวส.) และคนพิการทั่วไปภายใต้มูลนิธิฯ ที่มีผลการเรียนดีอยู่ในเกณฑ์ที่ สจล.กำหนด เข้าศึกษาต่อในคณะหรือวิทยาลัยต่างๆ ของทางสถาบัน พร้อมส่งเสริมองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการจัดการศึกษาให้กับครู อาจารย์ และบุคลากร ภายใต้มูลนิธิฯ ผ่านการอบรม และสัมมนาเชิงวิชาการ ตลอดจนพัฒนางานวิจัยเชิงปฏิบัติการและนวัตกรรมใหม่ๆ ร่วมกัน เพื่อเป็นการเติมเต็มวัฏจักรแห่งการเรียนรู้และประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้พิการด้วย
นักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111 หรือเข้าไปที่ www.kmitl.ac.th