ไลฟ์สไตล์

09 ส.ค. 2560

“โรคตา”เป็นปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยใน “ผู้สูงวัย” ส่วนใหญ่มักคิดว่าเกิดจากความเสื่อมตามวัยจึงละเลย เมื่อมาพบแพทย์ก็มีอาการรุนแรง ซึ่งอาจถึงขั้นสูญเสียดวงตา

     จากการสำรวจคนตาบอดในประเทศไทยล่าสุดในปี 2014  พบว่า มีคนไทยเข้าเกณฑ์สายตาเลือนราง มองเห็นไม่ชัดประมาณ 11.5% และเข้าเกณฑ์ตาบอด ประมาณ 0.7% (จากผลสำรวจ 1,000 คน จะมี 7 คนที่เข้าเกณฑ์ตาบอด) ซึ่งปัญหาสายตาเลือนรางที่เข้าเกณฑ์ตาบอดที่พบบ่อยในคนไทยกว่า 90% นั้นเป็นสาเหตุที่ป้องกันได้ หรือรักษาให้ดีขึ้นได้ หากได้รับการรักษาที่ถูกวิธี

       เพื่อกระตุ้นเตือนให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญของการใส่ใจดูแลรักษาสุขภาพดวงตาก่อนสายเกินแก้ โรงพยาบาลราชวิถี จัดกิจกรรมรณรงค์ “รักแม่...รักษ์สุขภาพ (ดวงตา) แม่” เนื่องในวันแม่แห่งชาติ  ภายในงานมีนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลและรักษาสุขภาพดวงตาอย่างถูกวิธี การเสวนาเคล็ดลับการดูแลและถนอมดวงตา โดยจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ  พร้อมบริการตรวจสุขภาพตาสำหรับผู้ร่วมงาน อาทิ การตรวจวัดความดันตา เพื่อคัดกรองต้อหิน การถ่ายรูปดูจอประสาทตา เพื่อตรวจหาความเสี่ยงจอประสาทตาเสื่อม ต้อหิน เบาหวานขึ้นจอตา และการตรวจตาโดยจักษุแพทย์ ณ OPD ชั้น 10 อาคารเฉลิมพระเกียรติฯ โรงพยาบาลราชวิถี

     นพ.มานัส  โพธาภรณ์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลราชวิถี  กล่าวว่า โรคตาในผู้สูงอายุเป็นปัญหาที่ทุกคนควรตระหนัก เนื่องจากประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยในปี 2568  คาดว่าจำนวนผู้สูงอายุจะมีประมาณ 14.4 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นเกินร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด  และพบว่าส่วนใหญ่ผู้สูงวัยเหล่านี้มักมีปัญหาสายตาเลือนราง มองเห็นไม่ชัดเจน หรืออาจตาบอดถ้าไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่แรก

วัย 40 อัพระวัง!เสี่ยงโรคตา รีบตรวจก่อนตาบอด

        ได้แก่ ต้อกระจกซึ่งผู้ที่เป็นต้อกระจกส่วนใหญ่ยังไม่เข้าถึงการรักษา รองลงมาคือ เบาหวานขึ้นจอตา ต้อหิน และโรคจอตาอื่นๆ ทั้งนี้กว่า 90% ของโรคทางตาเป็นสาเหตุที่ป้องกันได้ หรือรักษาให้ดีขึ้นได้ หากได้รับการตรวจแต่เนิ่นๆ โดยผู้ที่อยู่วัย 40 ปีขึ้นไป แม้ไม่มีโรคก็ควรได้รับตรวจตาอย่างละเอียดกับจักษุแพทย์ทุก 2 ปี และผู้ที่อายุ 65 ปีขึ้นไปควรตรวจตาปีละ 1 ครั้ง รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัว อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไทรอยด์ จำเป็นต้องทำการรักษาแบบควบคู่กันไป และตรวจตาตามแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด ในแต่ละปีศูนย์จักษุ โรงพยาบาลราชวิถีได้ช่วยแก้ไขปัญหาให้กับผู้ป่วยที่ประสบปัญหาสุขภาพทางตามากกว่า 100,000 ราย 

     นพ.ธีรวีร์ หงษ์หยก จักษุแพทย์  โรงพยาบาลราชวิถี  กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคตา คือ อายุ ที่มากขึ้น ตาถูกแสงแดดจัด ขาดวิตามินเอ กรรมพันธุ์ มีโรคเรื้อรังต่างๆโดยเฉพาะเบาหวาน และบุหรี่ ทั้งนี้เมื่อเป็นโรคตา โอกาสสูญเสียการมองเห็นขึ้นอยู่กับสาเหตุ และการพบแพทย์หรือจักษุแพทย์ได้ทันการหรือไม่ ซึ่งอาจเกิดเพียงชั่วคราว หรือถาวรตลอดไป อาจเป็นการสูญเสียการมองเห็นชนิดพอมองเห็นบ้าง หรือในลักษณะตาบอดถาวรก็ได้ ดังนั้นหากสังเกตเห็นความผิดปกติ เช่น  มองเห็นภาพไม่ชัด เป็นหมอกเบลอๆ มองเห็นเป็นจุดดำๆ หรือมองเห็นภาพบิดเบี้ยว หรือการมองเห็นแคบลง หรือมีอาการปวด เคือง แดง ควรรีบพบจักษุแพทย์เสมอ เพราะการแก้ปัญหาต่างๆ ทางตาจะได้ผลดีกว่าหากเริ่มรักษาแต่เนิ่นๆ

          “ปัญหาโรคทางตาที่น่าวิตกของผู้สูงอายุคือส่วนใหญ่มักคิดว่าเกิดจากความเสื่อมถอยของร่างกายตามวัย และไม่คิดว่าเป็นโรคร้ายที่ต้องระวัง หรือต้องรีบมาพบแพทย์ ทำให้ส่วนใหญ่เมื่อมาพบแพทย์ก็มักมีอาการที่รุนแรง และยากต่อการรักษา ซึ่งบางรายอาจต้องสูญเสียดวงตา หรือสูญเสียการมองเห็นแบบถาวรไปในที่สุด” นพ.ธีรวีร์ กล่าว

         การมองเห็นเป็นประสาทสัมผัสที่เราใช้มากที่สุดในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ดวงตาของเรามองเห็นสวยสดใสไปนานๆ ควรป้องกันก่อนที่จะเกิดโรค ซึ่งเคล็ดลับการดูแลรักษาดวงตา มีดังนี้  1. ปกป้องดวงตาจากแสงแดด ควรใส่แว่นกันแดดที่ป้องกันดวงตาจากแสง UV ได้ 100% รังสีจากแสงแดดโดยเฉพาะแสง ultraviolet (UV) ทำให้เกิดความเสื่อมของตาได้มาก โดยในระยะสั้นอาจทำให้เจ็บแสบเคือง ตาแห้ง หรือกระจกตาอักเสบฉับพลันได้ ในระยะยาวอาจทำให้เป็นโรคต้อลม ต้อเนื้อ และอาจทำให้ต้อกระจกมาเร็วกว่าวัย  หรืออาจเพิ่มความเสี่ยงเรื่องจอประสาทตาเสื่อมได้

วัย 40 อัพระวัง!เสี่ยงโรคตา รีบตรวจก่อนตาบอด

            2. ใส่แว่นกันอุบัติเหตุถ้าจำเป็นต้องทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อดวงตา  3. ตรวจสุขภาพตากับจักษุแพทย์ หรือบุคคลากรทางจักษุวิทยา เป็นระยะ  ในเด็กเล็กควรต้องตรวจเช็คดูการมองเห็น ตาเหล่ แสงสะท้อนจากจอตา (red reflex)  เด็กก่อนวัยเรียน ควรตรวจตาเพื่อดูเรื่องสายตาสั้นยาวเอียงและโรคตาในเด็กที่อาจจะซ่อนอยู่  อายุเกิน 40 ปี แม้ไม่มีอาการ หรือเป็นโรค ก็ควรจะตรวจตาอย่างละเอียดกับจักษุแพทย์ เพราะโรคตาหลายๆอย่าง เช่น ต้อหิน ระยะแรกจะไม่มีอาการอะไรเลย ถ้าไม่ตรวจก็ไม่ทราบ ถ้าถึงระยะที่มีอาการก็ มักจะเป็นระยะหลังที่เส้นประสาทเสียไปมาก เอากลับคืนมาไม่ได้ คนที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคตา เช่น คนที่มีโรคตาต่างๆในครอบครัว โดยเฉพาะต้อหิน หรือมีโรคประจำตัว กินยาประจำที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคตาก็อาจจะต้องตรวจเช็คตาเป็นระยะ

             4. ควบคุมโรคประจำตัวให้ดี โดยเฉพาะเบาหวาน ผู้ที่เป็นเบาหวาน ถ้าคุมไม่ดีก็เหมือนมีน้ำเชื่อมไหลอยู่ในเส้นเลือดตลอดเวลา ทำให้เส้นเลือดเสื่อมได้เร็วทั่วๆร่างกาย ที่ตาก็อาจมีเส้นเลือดที่จอประสาทตาผิดปกติ รั่วซึม หรือมีการกระตุ้นเส้นเลือดใหม่ เลือดออกในตา หรือจอประสาทตาหลุดลอกได้ ดังนั้น ถ้าเป็นเบาหวาน ควรตรวจขยายม่านตาดูจอประสาทตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อเฝ้าระวังและดูแลรักษาภาวะแทรกซ้อน 5. อย่าขยี้ตา หรือนวดตา เพราะดวงตาเป็นอวัยวะที่บอบบาง การขยี้ตา หรือนวดตา จะทำให้เกิดโรคอื่นตามมาได้ เช่น โรคกระจกตาโป่งพอง และเลนส์เคลื่อน เป็นต้น 

            6. รับประทานอาหารให้ครบหมู่ โดยเฉพาะผักและผลไม้ที่ช่วยบำรุงสายตา เช่น ผักบุ้ง แครอท ตำลึง ผักคะน้า ฟักทอง มะละกอสุก มะม่วงสุก และ ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ เป็นต้น 7. หมั่นสังเกตการมองเห็นของตัวเองทีละข้าง ควรหลับตา หรือปิดตาดูทีละข้าง เพื่อดูว่าตาแต่ละข้างมองเห็นผิดปกติหรือไม่ เช่น มัวเป็นส่วนๆ (ตรงกลาง หรือด้านข้าง) หรือหมอกฝ้าไปทั่ว อ่านหนังสือไม่ชัดทั้งที่ใส่แว่นเหมาะสมแล้ว ภาพบิดเบี้ยว มีจุดดำๆลอยไปมา หรือแสงแว๊บเหมือนฟ้าแลบ ภาพซ้อน เป็นต้น หากมีอาการเหล่านี้ ควรรีบไปตรวจรักษา 

            8. ใช้ยาหยอดตาอย่างเหมาะสม ไม่พร่ำเพรื่อ  9. มือไม่สะอาดอย่ามาจับตา ควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนจับตา 10. ถ้าจำเป็นต้องใส่คอนแทคเลนส์ ต้องดูแลรักษาความสะอาดอย่างดีสม่ำเสมอ ไม่ใส่นอน ไม่ใส่ว่ายน้ำ ไม่ใส่อาบน้ำ "ถู”  และ “ล้าง” เลนส์ก่อนนำไปแช่ฆ่าเชื้อเสมอ เพราะถ้าดูแลไม่ดีกระจกตาติดเชื้อจะมีจุดขาวๆขึ้นที่ตา ปวดแดงและเคืองมาก ถึงรักษาหายดีก็จะมีแผลเป็นที่กระจกตา ถ้าอยู่ตรงกลางก็จะรบกวนการมองเห็นอย่างถาวรได้ 

             11. ดูแลก่อนการตั้งครรภ์ ระหว่างการตั้งครรภ์ และฝากครรภ์ให้ดี ควรเช็คภูมิ หรือฉีดวัคซีนป้องกันหัดก่อนตั้งครรภ์ และลดความเสี่ยงที่จะทำให้คลอดก่อนกำหนด เพราะอาจทำให้เด็กมีความพิการได้หลายอย่างรวมทั้งทางตา และเด็กที่คลอดก่อนกำหนดจอประสาทตายังไม่พัฒนาเต็มที่ ก็จะมีโรคตา retinopathy of prematurity ได้