รพ.จิตเวชฯเลยใช้การละเล่นพื้นบ้านฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชแห่งแรก
รพ.จิตเวชเลยฯ ดึงการละเล่นพื้นบ้าน“เป่ากบ อีตัก มอญซ่อนผ้า”ฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชแห่งแรกในประเทศ เตรียมระบบดูแลรักษาสอดคล้องกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมของผู้ป่วย
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ในภาพรวมของการจัดบริการเพือเพิ่มการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยจิตเวชผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตทั่วไปที่อยู่ในความดูแลของรพ.จิตเวชเลยซึ่งมี 4 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี เลย หนองบัวลำภู และหนองคาย ประชาชนประมาณ 3 ล้านกว่าคน พบว่าการเข้าถึงบริการมีแนวโน้มดีขึ้น จำนวนผู้ป่วยจิตเวชฉุกเฉินมากขึ้นจาก เฉลี่ย10 คน เป็น 20คน พบผู้ป่วยรายใหม่ปีละ 2,800 คน ผู้ป่วยจิตเภทเข้าถึงบริการเกินกว่าร้อยละ70 โรคซึมเศร้าเข้าถึงเกินกว่าร้อยละ50
ในกลุ่มเด็กอายุ2-5 ปี ก็ดีขึ้น เช่นเด็กออทิสติกเข้าถึงบริการเฉลี่ยร้อยละ 41 สามารถดูแลผู้ป่วยจิตเวชได้อย่างมีคุณภาพ โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการรุนแรง ยุ่งยากซับซ้อน มีความเสี่ยงก่อความรุนแรงในชุมชนได้สูง ขณะนี้มีผู้ป่วยกลุ่มนี้อยู่ในความดูแล200 กว่าคน พบว่าดูแลควบคุมอาการได้ทั้งหมด ไม่มีก่อความรุนแรงแม้แต่รายเดียว อย่างไรก็ดียังมีข้อจำกัดในด้านบุคลากร เช่นพยาบาลวิชาชีพ ขณะนี้เพียง 56 คน ขณะที่มีผู้ป่วยในวันละ 140-150 คน จะพิจาณาจัดสรรจำนวนพยาบาลรวมทั้งวิชาชีพอื่นๆเพิ่มขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับภาระงานที่ดูแลจริง จะไม่ขึ้นกับขนาดโรงพยาบาล
โรงพยาบาลจิตเวชเลยฯเป็นพื้นที่ชายแดนมีวัฒนธรรมเชื่อมโยง 2 ฝั่ง คือไทยและลาว ขณะนี้ได้ศึกษาวิจัยและคัดเลือกการละเล่นพื้นบ้านที่ผู้ป่วยคุ้นเคยกันคือ เป่ากบ มอญซ่อนผ้า และอีตัก มาใช้ฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชผู้ใหญ่ทุกโรค โดยนำมาจัดเป็นกิจกรรม นันทนาการ ซึ่งทั้ง3 การละเล่นนี้มีผลดี ต่อการฝึกสติ สร้างสัมพันธภาพระหว่างผู้ป่วยเองและผู้ป่วยกับเจ้าหน้าที่ ฝึกการสร้างการอยู่ร่วมสังคม การวางแผนแก้ไขปัญหา ฝึกการให้กำลงใจและคำชื่นชม และฝึกการเคารพกติกาสังคม ซึ่งให้ผลดีต่อการปรับตัวของผู้ป่วยจิตเวชดีขึ้น
ผลทดลองใช้ในหอผู้ป่วยฟื้นฟูในปีนี้ พบว่าให้ผลดี ผู้ป่วยกล้าพูดคุยกับเจ้าหน้าที่มากขึ้น ยอมรับและให้ความร่วมมือการรักษา สภาพจิตใจดีขึ้น มีสัมพันธภาพดีขึ้น คาดว่าจิตเวชศาตร์วัฒนธรรม จะทำให้การดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่สอดคล้องกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมของผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี
ด้านนพ.อาทิตย์ เล่าสุอังกูร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชเลย ฯ กล่าวว่า ขณะนี้โรงพยาบาลฯได้ทำการวิจัยเรื่องอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ซึ่งสามารถพัฒนามาเป็นแบบสัมภาษณ์ผู้ป่วยข้ามวัฒนธรรม ซึ่งมี 5 กลุ่มได้แก่ ชาติพันธุ์ กลุ่มนักบวช กลุ่มเพศทางเลือก กลุ่มภาษาเช่นม้ง พม่า ลาว และกลุ่มความเชื่อเฉพาะถิ่น เช่นผีเข้า ปอบเข้าเป็นความเชื่อที่พบเฉพาะในภาคอีสาน เพื่อใช้คัดกรองและประมวลอัตลักษณ์ตัวตนของผู้ป่วย และอยู่ระหว่างการจัดทำแนวปฏิบัติในการเปิดให้บริการในคลินิกเฉพาะทาง พร้อมทั้งได้จัดทำหลักสูตรด้านนี้ จำนวน3 หลักสูตรได้แก่ 1.หลักสูตรจิตเวซศาสตร์วัฒนธรรม ผ่านการรับรองจากกรมสุขาพจิต 2. หลักสูตรการพยาบาลข้ามวัฒนธรรม และ3. หลักสูตรการให้คำปรึกษาข้ามวัฒนธรรม เพื่อใช้ในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้มีวคามเชี่ยวชาญ สามารถดูแลผู้ป่วยที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมได้
ขณะเดียวกันในปี 2559- 2560 ได้ทำการศึกษาวิจัยเพื่อสร้างมาตรฐานทางวิชาการ จำนวน 4 เรื่อง ได้แก่การเข้าใจความหมายและการจัดการกับการเจ็บป่วยของโรคจิตเภท การเข้าใจความหมายและการจัดการกับความเจ็บป่วยของโรคซึมเศร้า การพัฒนาและทดสอบแบบสัมภาษณ์การก่อรูปแบบทางวัฒนธรรม และความชุกและปัจจัยทางอัตลักษณ์วัฒนธรรมของความเจ็บป่วยทางจิต ซึ่งเมื่อสำเร็จจะทำให้เรามีเครื่องมือสำหรับประมวลวัฒนธรรมผู้ป่วยแต่ละคน นำมาสู่การจัดระบบริการที่เหมาะสมและสอดคล้องต่อวัฒนธรรมของผู้ป่วย
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบกับต่างประเทศพบว่าผู้ป่วยจิตเวชของไทยมีความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรมความเชื่อและชาติพันธุ์เป็นหลัก ขณะที่ในต่างประเทศมีความหลากทางด้านชาติพันธุ์และภาษา การเข้าใจถึงรากเหง้าวัฒนธรรมจะนำมาสู่การให้บริการที่เห็นคุณค่าต่อการเป็นมนุษย์ ลดความเหลื่อมล้ำ ให้คนทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างเท่าเทียม