ส่งจิตแพทย์ดูแลแม่ลงมือฆ่าลูกออทิสติกใกล้ชิด
จิตแพทย์ระบุพ่อแม่เด็กออทิสติกร้อยละ 50 เครียด บางรายกลายเป็นโรคซึมเศร้า
เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2560 พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)กล่าวถึงกรณีที่มารดาก่อเหตุฆ่าลูกที่ป่วยเป็นโรคออทิสติกและพยายามฆ่าตัวเองตายตาม ว่า เด็กรายนี้มีข้อจำกัดจริงๆ มีความพิการจากตัวโรค ครอบครัวยากจน ดูแลลูกด้วยความยากลำบาก พ่อเด็กยังมาเสียชีวิตตั้งแต่ช่วงที่เด็กเองก็ยังไม่พร้อมที่จะดูแลตัวเอง แม่ก็ยังไม่เข้มแข็งเพียงพอ แม่ซึ่งเป็นแม่บ้านก็ต้องออกมาหาเลี้ยงลูกกลายเป็นคุณแม่ที่ต้องเลี้ยงลูกตามลำพัง ความเหน็ดเหนื่อย ยากลำบากมากขึ้น สิ่งที่รุมเร้าก็ซ้ำเติมให้แม่มีสภาพจิตใจที่ย่ำแย่ จนอาจจะมองไม่เห็นทางออกของชีวิต และเลือกตัดสินใจที่ไม่ถูกทิศทาง ซึ่งที่จริงนอกจากการแก้ไขพฤติกรรมส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาที่สมวัยมากที่สุด แม่ยังสามารถขอรับการดูแลทางสังคมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ ซึ่งรายนี้ก็เคยได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อสถาบันราชานุกูล
“จากประวัติที่ติดตามมา พบว่าแม่ท่านนี้พากเพียรดูแลลูกมาตลอด แบกความเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวมานาน อาจจะไม่ได้รับโอกาสจากสังคมมากนัก เชื่อว่าแม่ก็คงต่อสู้มาอย่างถึงที่สุด ที่น่าห่วงคือแม่อาจจะอยู่ในภาวะทางอารมณ์บางอย่างที่ไม่สามารถตัดสินใจได้ดี และการทำร้ายครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากความจงเกลียดจงชัง แต่สะท้อนถึงความสิ้นหวังในชีวิตทั้งของตัวเอง และของลูกด้วยหรือเปล่า ถึงแม้จะไม่ได้มีเจตนาร้ายกับลูก แต่ก็ไม่อยากให้ทำร้ายลูก ดังนั้นอยากฝากสังคมเมื่อเกิดเหตุขึ้น การตัดสินคุณแม่ว่าใช่ หรือไม่ใช่ คงไม่ใช่ประเด็นสำคัญ และไม่ต้องไปคิด แต่เราเห็นแม่ที่อยู่ในภาวะลำบากเช่นนี้แล้วจะช่วยเหลือให้เขาเห็นความสวยงามของชีวิตได้ดีกว่านี้ตั้งแต่ที่เขายังมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร เราอาจจะไม่เสียไปแม้แต่ชีวิตเดียว อย่างแม่ท่านนี้พยายามทำร้ายตัวเองด้วย ตอนนี้ก็ส่งทีมจิตแพทย์ลงไปดูแลอย่างใกล้ชิดแล้ว” พญ.อัมพร กล่าว
พญ.อัมพร กล่าวอีกว่า โรคออทิสติก แตกต่างจากโรคอื่นๆ อย่างมาก และเป็นความแตกต่างอย่างน่าเห็นใจ ถ้าเปรียบเทียบความพิการทางกาย พ่อ แม่จะเห็นรูปลักษณ์ความผิดปกติอย่างชัดเจน และคงที่ แต่ออทิสติก ความเครียดของพ่อแม่จากการที่ลูกสื่อสารไม่ได้ตามวัย พัฒนาการล่าช้า ลูกไม่มีทักษะทางสังคม มีปัญหาพฤติกรรมซึ่งเปลี่ยนแปลงตลอด สร้างความตระหนก ไม่เชื่อมั่นให้พ่อ แม่เรื่อยๆ ยิ่งผนวกกับการที่ชีวิตพ่อ แม่ต้องแบกรับภาระต่างๆ ก็ยิ่งเครียดกระทบปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว การงาน การเงินตามมา ยิ่งเครียดและปรับตัวในการใช้ชีวิตได้ยาก ซึ่งพบได้เกินร้อยละ 50 ขณะที่บางรายอาจกลายเป็นโรคซึมเศร้า ดังนั้นการดูแลต้องดูแลทั้งครอบครัว
พญ.อัมพร กล่าวด้วยว่า โรคออทิสติก เป็นความผิดปกติในแง่ของพัฒนาการที่เกิดขึ้นมากในเรื่องทักษะในการสื่อสารทั้งภาษาพูด และภาษากาย มีข้อจำกัดทางสังคม สื่อสารความต้องการของตัวเองไม่เป็น และไม่เข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น อาจจะแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมก้าวร้าว พฤติกรรมซ้ำซาก เกรี้ยวกราด เมื่อโตขึ้น ในรายที่อาการรุนแรงอาจจะใช้พละกำลังของตัวเองไม่ถูกทิศทาง พฤติกรรมที่คนอื่นมองเห็นแล้วไม่เข้าใจว่าคืออะไร เกินครึ่งมีสติปัญญาบกพร่อง พัฒนาการล่าช้าร่วมด้วย การเกิดโรคยังไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัด แต่ส่วนหนึ่งพบว่ามาจากคุณแม่อายุมาก พันธุกรรมมีส่วนแต่ไม่ได้ตรงเหมือนกับโรคเบาหวาน การติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งก็ยังไม่สามารถระบุได้ว่าติดเชื้ออะไร การรักษา หากรักษาเร็วก็เพิ่มโอกาสในการทำให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้
สำหรับการให้บริการผู้ป่วยออทิสติกในปัจจุบัน หากพ่อแม่สังเกตเห็นว่าลูกไม่สบตา ไม่พาที ไม่ชี้นิ้วสามารถรับบริการเพื่อคัดกรองออทิสติกได้ตั้งแต่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.)หรือโรงพยาบาลชุมชน(รพช.) เพื่อส่งต่อเข้ารับการดูแลจากจิตแพทย์ต่อไป อย่างไรก็ตาม โดยปกติจะมีการคัดกรองออทิสติกในเด็กไทยในช่วงอายุ 9 เดือน,18 เดือน ,30 เดือน และ42 เดือนช่วงที่เด็กมาตรวจสุขภาพและรับวัคซีนด้วย หากตรวจพบก็จะให้เข้าสู่กระบวนการรักษา ทั้งนี้ การรักษาจะต้องเน้นที่ความรู้ความเข้าใจในพฤติกรรมตัวเด็กของพ่อแม่เป็นสำคัญ ยอมรับกับพฤติกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงของเด็กให้ได้ และร่วมมือในการช่วยฟื้นฟูเด็ก