ไลฟ์สไตล์

“ศาสตร์พระราชา”รากฐานพัฒนาที่ยั่งยืน

“ศาสตร์พระราชา”รากฐานพัฒนาที่ยั่งยืน

17 ต.ค. 2560

 “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่”แนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานแก่ประชาชนคนไทยนำไปปรับใช้เพื่อยกระดับชีวิตให้ดีขึ้น

     

       3 สถาบันการศึกษาชั้นนำของไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(มก.) ได้ร่วมจัดทำงานวิจัยแนวทางขับเคลื่อนแนวทางพระราชดำริเพื่อสร้างความอยู่ดีมีสุขให้แก่ประชาชน ภายใต้ชื่องาน “ร่วมวิจัยถวายพระองค์” เพื่อสืบสานแนวพระราชดำริของพระองค์ท่าน ภายใต้ความร่วมมือกับมูลนิธิปิดทองหลังพระ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมการพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมการเกษตร รวมถึงชุมชนต่างๆ

“ศาสตร์พระราชา”รากฐานพัฒนาที่ยั่งยืน

      พิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นหน่วยงานหนึ่งที่นำศาสตร์ของพระราชามาใช้ในการขับเคลื่อนพัฒนาสหกรณ์ในพื้นที่ต่างๆ โดยที่ผ่านมาไม่มีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสหกรณ์เพื่อให้เกิดความยั่งยืน มีเพียงเป็นแนวทางและกำกับดูแลเท่านั้น

     ดังนั้น งานวิจัยของ 3 สถาบันการศึกษานี้ ซึ่งดำเนินการโดยลงพื้นที่จริง และเป็นการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับสหกรณ์ การรวมกลุ่มของสหกรณ์เพื่อให้เกิดความยั่งยืน เป็นงานวิจัยที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่การพัฒนาสหกรณ์และชุมชนอย่างมาก โดยเฉพาะการรวมกลุ่ม เพราะทุกวันนี้หลายครั้งที่มีการรวมกลุ่มแต่เมื่อนานไปกลับไม่เป็นไปตามเป้าประสงค์อย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์จะนำงานวิจัยทั้งหมด ไปขับเคลื่อนในทางปฏิบัติ โดยปีนี้จะเริ่มนำผลงานวิจัยไปขับเคลื่อนในสหกรณ์โครงการพระราชดำริ ก่อนขยายไปสู่สหกรณ์อื่นๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน และสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชน

“ศาสตร์พระราชา”รากฐานพัฒนาที่ยั่งยืน

       การรวมกลุ่มเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพื่อสร้างอำนาจต่อรองและการเชื่อมโยงตลาด ตลอดจนแหล่งทุนภายนอก ปัจจุบันพบว่า ในกรณีสหกรณ์การเกษตร ที่มีอยู่กว่า 8,000 แห่ง ได้มีประชาชนที่เป็นสมาชิกกว่า 11 ล้านราย ปริมาณธุรกิจรวมกว่า 2 ล้านล้านบาท รวมแล้วมากกว่า 16.53 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ขณะที่ผู้ผลิตสินค้าโอท็อป 31,740 ราย มีสินค้ากว่า 127,100 รายการ อย่างไรก็ตาม มีกลุ่มจำนวนมากที่ไม่ประสบความสำเร็จและต้องการความช่วยเหลือ

      รศ.จุฑาทิพย์ ภัทราวาท ผู้อำนวยการสถาบันวิชาการด้านสหกรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงงานวิจัย "เรื่อง 3 ขั้นตอนเรียนรู้จากสหกรณ์สู่ทฤษฎีใหม่" ว่า งานวิจัยได้ดำเนินการตาม 3 ขั้นตอนการเรียนรู้ ตามศาสตร์พระราชา ซึ่งได้นำไปใช้ใน 4 พื้นที่ ได้แก่ สามพรานโมเดล กลุ่มวิสาหกิจชุมชนข่าวสัจธรรม คิชฌกูฎโมเดล และ Farmer shop พบว่า ต้องเริ่มจาก 1.ยกระดับสมรรถนะ 3 มิติแก่ปัจเจกบุคคล ได้แก่ ปลุกจิตสำนึก ปรับวิธีคิด และเพิ่มพูนความรู้ทักษะ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงในบริบทโลกใหม่ 

“ศาสตร์พระราชา”รากฐานพัฒนาที่ยั่งยืน

        2.การยกระดับขีดความสามารถกลุ่ม/สหกรณ์ เพื่อเป็นเครื่องมือของประชาชนในการแก้ปัญหาอพยพและยกระดับชีวิตความเป็นอยู่บนหลักการพึ่งพาและร่วมมือกัน และขั้นที่ 3 การเชื่อมโยงเครือข่ายภายใต้โซ่คุณค่า เพื่อการยกระดับมูลค่าเพิ่ม โดยต้องเป็นการสร้างสรรค์พื้นที่เศรษฐกิจแนวใหม่ใส่ใจการค้าที่เป็นธรรม เน้นการสร้างสรรค์นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ใหม่ การลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม การยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ การสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์แก่เกษตรรายย่อย การลดต้นทุนเพิ่มผลิตภาพการผลิตผ่านการเรียนรู้ในบริบทโลกใหม่ การสร้างโอกาสการตลาดใหม่ เพื่อการค้าที่เป็นธรรมนำการพัฒนาที่ยั่งยืน

       "ต้องเชื่อพระองค์ท่าน เชื่อว่าศาสตร์พระราชาจะทำให้ประเทศไทยยั่งยืน คนไทยจะไม่ไปไหนถ้ายังมีที่ดิน มีบ้านเรือน มีหลักแหล่ง แต่ 7 ปีที่ผ่านมาเจ้าของที่เป็นที่ดินของตนเองลดลงครึ่งหนึ่ง ดังนั้น เราต้องถามตัวเองว่า อีก 10 ปี คนไทยจะอยู่ไหน ซึ่งหากทุกคนสร้างที่ดินบนหลักเศรษฐกิจพอเพียง บนพื้นฐานทางการค้าที่เป็นธรรม ทำนาต้องได้นา ทำสวนต้องมีทายาทคนสวน ทุกคนสามารถช่วยกันได้ โดยเริ่มจากตัวเอง ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเอาประชาชนเป็นตัวตั้ง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง การช่วยเหลือชาวเกษตรกร อย่าให้เขาจอดเรือที่ฝั่งนาน อยากให้หน่วยงานที่ต้องการช่วยเหลือ เข้าไปให้ถึงเกษตรกรรายย่อยจริงๆ ว่าเขาต้องการอะไร จะได้ช่วยเหลือ ติดอาวุธทางปัญญา ทำอย่างไรให้เกิดการเชื่อมโยงตั้งแต่การรวมกลุ่มในชุมชน ไปจนถึงหน่วยงานภายนอก โดยผลประโยชน์ต้องกลับมาสู่เกษตรกร" รศ.จุฑาทิพย์ กล่าว

“ศาสตร์พระราชา”รากฐานพัฒนาที่ยั่งยืน

        ขณะที่ ดร.นฤมล อรุโณทัย นักวิจัยประจำสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ เล่าถึงผลงานวิจัย เรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียงในบริบทของชนพื้นเมือง กรณีชาวเลมอแกน จ.พังงา และชาวกะเหรี่ยงโผล่ว จ.กาญจนบุรี” ว่า แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวคิดที่เริ่มจากครอบครัว ชุมชน และขยายไปสู่ภายนอก โดยในงานวิจัยนี้ใช้เศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่เป็นแนวทางวิเคราะห์ ดูว่าชุมชนที่ไม่ใช่เกษตรกรจะสามารถใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในการพัฒนาชีวิตได้ โดยได้นำกระบวนการเชิงปฏิบัติการเพื่อทำความเข้าใจและส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงสำหรับชนพื้นเมือง

     แบ่งเป็น ขั้นตอนที่ 1 การค้นหาและทำความเข้าใจรากฐานของความพอเพียง ซึ่งชาวมอแกน หมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา เดิมมีวิถีแบบนักเก็บนักหาทางทะเล หาสัตว์ทะเลเพื่อยังชีพ การค้าขาย แลกเปลี่ยน ขณะที่ชาวกะเหรี่ยงบ้านคลิตี้ล่าง จ.กาญจนบุรี เดิมทำไร่หมุนเวียน อาศัยความรู้พื้นบ้านในการทำไร่ข้าวซึ่งมีพืชพันธุ์อาหารกว่า 30 ชนิด เน้นเพื่อการยังชีพเป็นหลัก กินเอง ใช้เอง แบ่งกันไม่ขายเอากำไร

       ขั้นตอนที่ 2 การติดตามความเปลี่ยนแปลง เรื่องการพึ่งพาและหนี้สิน พบว่าประมาณครึ่งหนึ่งของครัวเรือนมอแกนมีพอกินพอใช้ ส่วนครัวเรือนที่เหลือเก็บประมาณ 1 ใน 4 ขณะที่ครัวเรือนกะเหรี่ยงมีพอกินพอใช้ถึง 3 ใน 4 แต่ไม่พอสำหรับการลงทุนเพาะปลูกในรอบต่อไป รายจ่ายสอง 2 อันดับแรกของครัวเรือนชาวมอแกน คือ ขนมขบเคี้ยว และข้าวสาร ส่วนครัวเรือนชาวกะเหรี่ยงคือ สารเคมีการเกษตรและน้ำมันเชื้อเพลิง

“ศาสตร์พระราชา”รากฐานพัฒนาที่ยั่งยืน

      ขั้นตอนที่ 3 การสนับสนุน "การเรียนรู้และความเท่าทัน โดยศึกษาทดลองการทำบัญชีครัวเรือน เพื่อทบทวนเรื่องรายได้-รายจ่าย พบว่าครัวเรือนมอแกนซื้อของที่ไม่จำเป็น เช่น ขนมขบเคี้ยวจากโรงงาน เหล้า ยาเส้น กาแฟ น้ำมันปั่นไฟฟ้าเพื่อดูโทรทัศน์ ส่วนครัวเรือนกะเหรี่ยงมีค่าใช้จ่ายประจำวันไม่มากนักแต่ว่าหนี้สินที่มาจากการลงทุนทำไร่พืชเชิงพาณิชย์มีสูง และขั้นตอนที่ 4 การพัฒนากลุ่มที่เชื่อมโยงระหว่างทุนทางวัฒนธรรมดั้งเดิมกับสิ่งใหม่ๆ ที่เข้ามาสู่ชุมชน อาทิ ทำงานร่วมกับชาวมอแกน เกิดเป็นกลุ่มมอแกนพาเที่ยว พัฒนาโปรแกรมการท่องเที่ยว เดินชมหมู่บ้าน เดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติ-วัฒนธรรมและลงเรือแบบดั้งเดิม ดำน้ำดูปะการัง เป็นต้น

      "สภาวะการเปลี่ยนผ่านของชุมชนทั้งมอแกนและกะเหรี่ยงเกิดจากการผลักดันเข้าสู่ระบบตลาด การยอมรับกระแสใหม่ การขาดโอกาสและทางเลือก ขณะเดียวกันการพัฒนากระแสแบบทุนนิยม สังคมบริโภควัตถุนิยม ระบบการศึกษา ดังนั้น ต้องมุ่งเน้นให้ชุมชนพึ่งพาตนเอง รักษาและฟื้นฟูรากเหง้าทางวัฒนธรรมที่มีฐานคิดแบบเศรษฐกิจพอเพียง เน้นพอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี มีเงื่อนไขความรู้ และคุณธรรม นอกจากนั้น สิ่งหนึ่งที่มีความกังวล คือ ขณะนี้ ชาวมอแกนไม่สร้างเรือแล้ว ซึ่งเป็นภูมิปัญญาสำคัญที่อาจจะเหลือที่เดียวในโลก อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาก่อนที่จะสูญเสียไป"

       “เศรษฐกิจพอเพียงเชื่อมโยงสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยังยืน” ซึ่งเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่ใช้เฉพาะชุมชน แต่ระดับสากลก็สามารถนำไปใช้ได้ เพื่อให้ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันอย่างเป็นธรรม โดยใช้เศรษฐกิจพอเพียงและหลักทฤษฎีใหม่เป็นแว่นส่องขยายที่จะทำให้คนทั้งประเทศเข้าใจ และกลายเป็นสังคมอุดมคติ

“ศาสตร์พระราชา”รากฐานพัฒนาที่ยั่งยืน

        ผศ.ดร.อรพรรณ คงมาลัย อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงงานวิจัย “เรื่องการรวมกลุ่มอย่างเข้มแข็งเพื่อการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างยั่งยืน" ว่าจากการศึกษา โดยได้รวบรวมพระราชดำริ ตลอดจนลงพื้นที่ศึกษาสภาพการพัฒนาในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศเป็นเวลา 3 ปี จนพบพระอัจฉริยภาพจากการค้นพบแนวปฏิบัติในการนำเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ไปสู่การพัฒนาพื้นที่สู่ความยั่งยืนอย่างเป็นขั้นตอนดังนี้

      1.ครัวเรือนพึ่งพาตนเอง ต้องบริหารจัดการนำและป่าให้ได้ประโยชน์ตลอดปี ทำกิจกรรมเกษตรพออยู่พอกิน บริหารจัดการที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด 2.ชุมชนร่วมกลุ่มพึ่งพาตนเองได้ ต้องมีการรวมกลุ่มและดูแลความเป็นสมาชิก พัฒนาการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และส่งเสริมการเกษตรสมาชิก และ 3.ชุมชนออกสู่ภายนอก ต้องสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้า เชื่อมโยงกับหน่วยงานภายนอกที่น่าเชื่อถือและมีความเชี่ยวชาญจริง

       คณะวิจัยได้ถอดบทเรียนความสำเร็จ บันได 7 ขั้นสู่การรวมกลุ่มอย่างยั่งยืน คือ 1.ตรวจสอบความพร้อมของกลุ่ม โดยต้องหาสาเหตุ ความสามารถผู้นำ การเงิน การผลิต และผลการบริหารกลุ่มที่ผ่านมา 2.สร้างความเข้าใจในสิทธิหน้าที่และจัดสรรประโยชน์ให้เป็นธรรม ซึ่งสิทธิหน้าที่ของผู้นำ กรรมการ สมาชิก ฝ่ายบริหาร เจ้าหน้าที่ จัดสรรผลประโยชน์ ดูแลชุมชน

      ซึ่งขั้นที่ 1 และ 2 ต้องมีการพูดคุยเรื่องผลประโยชน์ และสิทธิ์ต่างๆ ถ้าคุยกันไม่ลงตัวอย่ารวมกลุ่มกัน เพราะหลายครั้งที่รวมกลุ่มแล้วไม่พร้อมก็เกิดความล้มเหลว 3.พัฒนาโมเดลธุรกิจและระบบการจัดการกลุ่มให้ทันสมัย ต้องมีโมเดลธุรกิจ กฎกติกาในการอยู่ร่วมกัน ระบบบัญชีการเงิน ฐานข้อมูลและการรายงานผลรวมถึงการควบคุมภายนอก

“ศาสตร์พระราชา”รากฐานพัฒนาที่ยั่งยืน

      4.เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการขาย ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต/เพิ่มมูลค่าผลผลิต และเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงตลาด/กลุ่มเป้าหมาย 5.กระตุ้นการมีส่วนร่วมของสมาชิกในขั้นตอนหลักของกลุ่มตามหลักการของสหกรณ์ การประชุมกลุ่มย่อยและประชุมกลุ่มใหญ่อย่างสม่ำเสมอ ให้ความรู้ใหม่และร่วมแก้ปัญหาการเกษตรของสมาชิก จัดกิจกรรมดูแลความเป็นอยู่สมาชิก/ช่วยเหลือชุมชน และสมาชิกมีสิทธิและร่วมออกเสียงในขั้นตอนหลักตามหลักการของสหกรณ์

       6.ส่งเสริมการใช้ฐานข้อมูลและองค์ความรู้ เพื่อปรับปรุงการบริหารกลุ่ม วิเคราะห์และใช้ประโยชน์จากรายงานทางการเงิน และหาความรู้ใหม่มาปรับปรุงการบริหารกลุ่ม และ 7.สร้างทักษะการทำงานร่วมกับหน่วยงานให้ตรงกับจุดสำคัญและต่อเนื่อง  รู้บทบาทการให้บริการของแต่ละหน่วยงาน และรู้จักใช้ประโยชน์จากความรู้และทรัพยากรของหน่วยงาน ซึ่งหากทุกชุมชนมีการรวมกลุ่มอย่างเข้มแข็งได้โดยแท้จริงจะสามารถขับเคลื่อนทฤษฎีใหม่เพื่อการพัฒนาพื้นที่ตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

        “บันได 7 ขั้น ถ้าทำให้ครบจะทำให้ชุมชน ประเทศเกิดความยั่งยืน ซึ่งแต่ละขั้นต้องสามารถนำไปประยุกต์พัฒนาให้เหมาะสมแต่ละชุมชนท้องถิ่นเพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง รากฐานที่มั่นคง อยากฝากหน่วยงานส่งเสริมผู้นำชุมชนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนากลุ่ม ให้เกิดการรวมกลุ่มตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งหลักดังกล่าวเป็นมรดกที่พระองค์ท่านฝากไว้ให้แก่พวกเราทุกคน หากนำมาใช้ย่อมเป็นเครื่องชี้นำพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน” ผศ.ดร.อรพรรณ กล่าวทิ้งท้าย

         0 ชุลีพร อร่ามเนตร 0 [email protected]