“เหนื่อยก็พัก ขอแค่รักก็พอ”
“เหนื่อยก็พัก ขอแค่รักก็พอ” การ์ตูนออนไลน์อธิบายโรคซึมเศร้า สร้างความรับรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักให้กับประชาชน
ประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคซึมเศร้า1.5 ล้านคน หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจเกิดอาการเรื้อรัง และเป็นภัยแก่ชีวิตได้ โครงการ “Idea for change” : จุดประกายความคิด สร้างสรรค์สื่อดีสู่สังคม ครั้งที่ 1 จัดโดย กรมสุขภาพจิตร่วมกับสถาบันการศึกษา และทีมผู้ผลิตสื่อ เพื่อสร้างความรับรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักต่อปัญหาโรคซึมเศร้า ทำให้เกิดทัศนคติที่ดี ส่งเสริมการเข้าถึงรูปแบบการสื่อสารที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายและยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป
โดยเปิดโอกาสให้ผู้เข้าแข่งขัน 13 ทีม แบ่งเป็นสถาบันการศึกษาจำนวน 10 ทีม ได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 3 ทีม , มหาวิทยาลัยมหิดล 3 ทีม , มหาวิทยาลัยรังสิต 2 ทีม , มหาวิทยาลัยสยาม 1 ทีม และมหาวิทยาลัยบูรพา 1 ทีม ส่วนทีมผู้ผลิตสื่อจำนวน 3 ทีม ได้แก่ สถานีความคิดช่อง NBT, Rama Channel (โรงพยาบาลรามาธิบดี) และไบรท์ทีวี
ผลกรากฏว่าทีมจากสถาบันการศึกษาที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ พร้อมเงินรางวัล 30,000 บาท คือ ทีม MET-DESCI นักศึกษาสาขาเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล สมาชิกประกอบด้วย ณัฐนนท์ ซ่อนกลิ่น ,อัญชลี สาระคร และกมลพร สุขสมพืช
ทีมฟิลิกซ์ คณะนิเทศศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยสยาม ผลงานชื่อว่า “เหนื่อยก็พัก ขอแค่รักก็พอ” งานชิ้นนี้เริ่มต้นจากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ คนรอบข้างของผู้ป่วย เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการเขียนโครงเรื่อง การออกแบบตัวละคร และนำไปสู่การผลิตในรูปแบบการ์ตูนคอมมิคออนไลน์
ทีมฟิลิกซ์ เป็นหนึ่งในตัวแทน 13 ทีมที่เข้าร่วมประกวดประกอบด้วย “วาวา” แพรพรรณ เมธาปรีชากุล “หมี” อภิชญา ไชยสนาม และ “นุ่น” กมลวรรณ ศรีฉลองรัตน์
“วาวา” แพรพรรณ เมธาปรีชากุล
ภาพจาก https://www.facebook.com/wawagspong.zko
“วาวา” แพรพรรณ เมธาปรีชากุล เล่าว่า ด้วยความที่ชอบอ่านการ์ตูน จึงอยากนำเสนอเรื่องโรคซึมเศร้าในรูปแบบการ์ตูนออนไลน์ เพื่อที่จะทำให้กลุ่มเป้าหมายเข้าใจและรู้วิธีการแก้ปัญหา
จุดเริ่มต้นของโครงการมาจากอาจารย์แนะนำให้มาร่วมฟังบรรยาย จึงรู้สึกสนใจโครงการนี้เลยรวมทีมกับเพื่อน 3 คน ร่วมกันคิดไอเดียในการนำเสนอ จนได้เข้ามาร่วม workshop ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา และได้ผลิตผลงานออกมา
ผลงาน “เหนื่อยก็พัก ขอแค่รักก็พอ”
“เหนื่อยก็พัก ขอแค่รักก็พอ” จะมีภาพประกอบ 50 ภาพ โดยเนื้อเรื่องจะนำเสนอผ่านตัวละครที่ชื่อว่า “อบอุ่น” และ “อุ่นใจ” ซึ่งสองคนนี้เป็นพี่น้องด้วยกันมาตั้งแต่เด็กๆ วันหนึ่งอบอุ่นได้สังเกตว่าน้องชายมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เลยไปศึกษาหาข้อมูลและได้ปรึกษากับแฟนหนุ่มแต่ว่าไม่เป็นผล เพราะแฟนหนุ่มไม่ได้ใส่ใจ เนื่องจากเป็นคนที่เอาแต่ใจตนเอง
จนเขาได้เจอกับปกป้องเป็นหนุ่มนักเรียนแพทย์ได้ให้คำปรึกษาซึ่งกันและกัน จนทำให้เกิดรักสามเศร้าขึ้นมาและเรื่องราววุ่นๆ อีกมากมาย และในเรื่องจะสอดแทรกวิธีการแก้ปัญหาต่างๆ ของโรคซึมเศร้า
“หมี” อภิชญา ไชยสนาม
ภาพจาก https://www.facebook.com/miemie.apichaya.
ขณะที่ “หมี” อภิชญา ไชยสนาม นักเรียนนอกที่สนใจการวาดการ์ตูนตั้งแต่มัธยม หมีเรียนโรงเรียน Weissenbach Schule ประเทศออสเตรีย สาขาการวาดภาพการ์ตูนออนไลน์ เรียนจบกลับมาเมืองไทย สอบเข้าคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม
“หมี” บอกว่า ที่มาเข้าร่วมโครงการนี้เพราะตัวเองสนใจที่จะนำความรู้จากการเรียนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และโดยส่วนตัวชอบวาดการ์ตูนอยู่แล้ว จึงนำความรู้ตรงนี้มาใช้ในงานประกวด
เพราะโดยส่วนใหญ่ในสื่อออนไลน์จะทำเป็นวีดีโอหรือไม่ก็เป็นอินโฟกราฟิก จึงหาแนวคิดที่แปลกใหม่ ผลงานชิ้นนี้หมีเป็นตัวหลักในการวาดการ์ตูนในเรื่องทั้งหมด และเพื่อนในทีมช่วยกันวาดเส้นและลงสี
“หมี” เล่าต่อว่า ภูมิใจที่ได้นำความรู้จากที่เรียนมาทำประโยชน์ให้กับสังคม เพราะในประเทศไทยมีประชากรที่เป็นโรคซึมเศร้าจำนวนมากโดยเฉพาะในกลุ่มของวัยรุ่น จึงอยากนำเสนอเรื่องราวด้วยการ์ตูนออนไลน์ที่เข้ากับกลุ่มเป้าหมายให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
“นุ่น” กมลวรรณ ศรีฉลองรัตน์
ภาพจาก https://www.facebook.com/kmwnoon
อีกคนในทีมคือ “นุ่น” กมลวรรณ ศรีฉลองรัตน์ จบจากโรงเรียนสมุทรสาครบูรณะ และเป็นอีกคนที่ชอบวาดการ์ตูนจึงเลือกเรียนในคณะนิเทศศาสตร์ เอกการวาดการ์ตูน
“นุ่น” เล่าว่าที่เข้ามาแข่งขันโครงการนี้เพื่ออยากให้ทุกคนตระหนักรู้ถึงอาการและวิธีการแก้ปัญหาของโรคซึมเศร้า ที่สำคัญเขาอยากเผยแพร่สิ่งที่มีประโยชน์ให้แก่สังคม จึงนำเสนอเนื้อหาใน Web comics เช่น ookbee comics, web toonที่ตรงกับกลุ่มวัยรุ่น
โดยในเว็บจะมีการ์ตูนมากมายที่เด็กวัยรุ่นสนใจ การอ่านการ์ตูนไม่ใช่เฉพาะเรื่องความรักที่ไร้สาระ มีทั้งให้ความรู้ เช่นพระราชกรณียกิจของในหลวง, ประวัติศาสตร์, การทำเพื่อสังคม, การสอนลดความอ้วน และอีกมากมาย
“จากที่ได้เข้ามาประกวด รู้สึกได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ และได้มีโอกาสนำสิ่งที่เราได้เรียนมาสร้างประโยชน์ให้กับคนอื่นได้จริงๆ” นุ่น กล่าวทิ้งท้าย
ขณะที่ “ทีม MET-DESCI” ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ใช้ Key message หลัก คือ “อย่าตัดสินไปก่อน และเรียนรู้ที่จะอยู่เคียงข้างผู้ป่วย” โดยคาดหวังให้ผู้ชมได้เห็นถึงการเปิดใจ และปรับเปลี่ยนทัศนคติต่อผู้ป่วยโรคซึมเศร้า และรู้วิธีปฏิบัติตัวเมื่อมีคนใกล้ชิดป่วยเป็นโรคซึมเศร้า
ณัฐนนท์ ซ่อนกลิ่น ,อัญชลี สาระคร และกมลพร สุขสมพืช ช่วยกันอธิบายว่า สื่อที่นำไปเผยแพร่แบ่งออกเป็น Viral Video และ Infographic poster สำหรับ Video ได้ใช้การเปรียบเทียบเชิงสัญลักษณ์แทนการแสดงทัศนคติของคนที่มีต่อผู้ป่วยโรคซึมเศร้า อีกทั้งได้ตีความข้อมูลมาเป็นประโยคสั้นๆ ที่เข้าใจง่าย และเป็นที่จดจำ
ส่วน Infographic poster ใช้จำนวน 4 อัน แสดงถึงความสอดคล้องกับเนื้อหาใน Video และได้เพิ่มข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เพื่ออธิบายเพิ่มต่อจากเนื้อหาใน Video
“โครงการนี้ให้ประโยชน์กับพวกเรามากทั้งความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า ขอบคุณโครงการดีๆ ที่ทำให้นักศึกษาอย่างพวกเรามีพื้นที่ในการสื่อสารข้อมูลที่เราอยากจะช่วยเหลือคนอื่นต่อไปและด้วยความที่เราไม่ได้ถนัดในด้านนี้มากแต่เราคิดแค่ว่าทำสื่อนี้เพื่อได้ช่วยคนอื่น แค่นี้พวกเราก็มีความสุขแล้ว” ทีม MET-DESCI กล่าว
นพ. พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า โครงการ “ Idea for change ”จุดประกายความคิด สร้างสรรค์สื่อดีสู่สังคม จัดขึ้นเพื่ออยากให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของโรคซึมเศร้า ในประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคนี้ 1.5 ล้านคน หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจเกิดอาการเรื้อรัง และเป็นภัยแก่ชีวิตได้ ซึ่งโรคซึมเศร้าสามารถรักษาให้หายได้ด้วยการพูดคุยจากครอบครัว บุคคลรอบข้าง จะเป็นก้าวแรกในการฟื้นคืนจากโรคซึมเศร้าได้ ทางกรมสุขภาพจิตจึงตระหนักกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก
นพ. พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต