ไลฟ์สไตล์

แพทย์จุฬาฯคว้า"รางวัลนิวตัน"คนแรกของไทย

แพทย์จุฬาฯคว้า"รางวัลนิวตัน"คนแรกของไทย

22 พ.ย. 2560

แพทย์จุฬาฯ คว้าเงินรางวัล 8.6 ล้านบาท หลังพิชิต "รางวัลนิวตัน"คนแรกของไทย ด้วยผลงานการสร้างเครือข่ายและพัฒนาเครื่องมือวินิจฉัยกลุ่มโรคหายากในเด็ก

 

         22 พ.ย.60  ที่สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ ประจำประเทศไทย จัดงานมอบรางวัลนิวตัน (Newton Prize) ประจำปี 2560 ชิงเงินรางวัลมูลค่า 200,000 ปอนด์ (หรือ 8.6 ล้านบาท) เพื่อมอบให้แก่โครงการที่ได้รับหรือเคยได้รับทุนนิวตัน ซึ่งดำเนินงานยอดเยี่ยมในด้านการวิจัยและ/หรือนวัตกรรมที่สนับสนุนการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสวัสดิภาพสังคมของประเทศที่ร่วมทุน ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย โดยมี พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี, มร.มาร์ค ฟิลด์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศอังกฤษ รับผิดชอบกิจการเอเชียแปซิฟิก และ มร.ไบรอัน เดวิดสัน อัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย เป็นผู้มอบโล่รางวัลและประกาศนียบัตรให้แก่คณะวิจัยไทย

 

แพทย์จุฬาฯคว้า\"รางวัลนิวตัน\"คนแรกของไทย

พล.อ.อ.ประจิน ตั่นตอง และศ.นพ.วรศักดิ์  โชติเลอศักดิ์(คนซ้าย) 

         สำหรับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ศ.นพ.วรศักดิ์ โชติเลอศักดิ์ เมธีวิจัยอาวุโส สกว. สังกัดศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านเวชพันธุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งศึกษากลุ่มโรคหายากแต่พบบ่อยในเด็ก ภายใต้การสนับสนุนทุนจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)

          ศ.นพ.วรศักดิ์  ระบุว่า ปัจจุบันกลุ่มโรคหายากในเด็กมีประมาณร้อยละ 8 ของประชากรไทยทั้งหมด นั่นคือมากกว่า 5 ล้านคน แต่แพทย์ยังมีประสบการณ์ในการวินิจฉัยและรักษาน้อย บางโรคต้องใช้เวลานานถึง 7 ปี ทำให้อาการของโรคมีความรุนแรงขึ้นจนเด็กจำนวนมากเสียชีวิตหรือพิการ ดังนั้นจึงต้องหาทางวินิจฉัยโรคให้เร็วและทันเวลามากที่สุดเพื่อหาแนวทางการรักษาต่อไป

         ศ.นพ.วรศักดิ์  กล่าวอีกว่า เด็กส่วนใหญ่ที่ป่วยด้วยโรคหายากจะมีอาการของโรคที่หลากหลาย เช่น เลือดเป็นกรดหรือด่าง ซึมลง พัฒนาการช้า พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง ตามองไม่เห็น หูไม่ได้ยิน ปากแหว่ง ไม่มีแขนขา เป็นต้น ซึ่งคณะวิจัยได้ร่วมกับเครือข่ายของประเทศอังกฤษพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เครื่องมือและเทคโนโลยีเพื่อวินิจฉัยโรคจากเลือดของผู้ป่วย หาลำดับสารพันธุกรรม โปรแกรมการวิเคราะห์ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ก็ทราบว่าเป็นโรคใด รวมถึงสร้างทีมสร้างคนอย่างรวดเร็ว วางระบบและเครือข่ายตั้งแต่เหนือจรดใต้ของประเทศในการส่งตัวผู้ป่วยหรือเลือดมาวินิจฉัยโรค เมื่อทราบว่าเป็นโรคใดก็จะค้นหากลไกลการเกิดโรค และวิธีการรักษาโรคที่ตรงกับสาเหตุต่อไป

        “เรายอมรับว่าหลายครั้งก็ไม่สามารถทำให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้นได้ เพียงแต่ทราบว่าป่วยเป็นโรคใด เพราะเป็นโรคที่หายากมาก บางโรคไม่เคยมีรายงานมาก่อนในประเทศไทย แต่อย่างน้อยเราก็เข้าใจและค้นพบหลักการการเกิดโรคใหม่ ๆ และในภาพรวมจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ นอกจากจะเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแล้วยังเป็นงานที่ลงไปถึงรากของปัญหา ไม่ใช่แค่เยียวยาอย่างเดียว การดูแลรักษาผู้ป่วยต้องได้มาตรฐานโลก และสร้างมาตรฐานที่ดีที่สุด” ศ.นพ.วรศักดิ์ระบุ

แพทย์จุฬาฯคว้า\"รางวัลนิวตัน\"คนแรกของไทย

ดร.กัลยาณ์ ศรีธัญญลักษณา และ ศ.นพ.วรศักดิ์

         นอกจากรางวัลชนะเลิศแล้วยังมีรางวัลพิเศษจากประธานกรรมการตัดสิน “Chairperson Award” มอบแก่ ดร.กัลยาณ์ ศรีธัญญลักษณา-แดงติ๊บ หัวหน้าห้องปฏิบัติการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกุ้งและเชื้อก่อโรค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายใต้ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติ (ไบโอเทค) กับผลงานการจัดตั้ง “เครือข่ายวิจัยเพื่อสุขภาพกุ้ง” (INSH: International Networks for Shrimp Health) ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนจาก Newton Institutional Links และ Researcher Links ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง สกว. และบริติชเคาน์ซิล ศูนย์ INSH เชื่อมโยงการทำงานระหว่างห้องปฏิบัติการวิจัยด้านโรคกุ้งและสุขภาพกุ้งที่มีชื่อเสียงทั้งในประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมทั้งจากภาครัฐและเอกชน

         เพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขและการเฝ้าระวังโรคระบาดในกุ้งอย่างบูรณาการ เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่กระจายของโรคอุบัติใหม่ต่าง ๆ ตลอดจนปัญหาด้านสุขภาพกุ้งที่จะเกิดขึ้นอย่างทันท่วงที

         เครือข่ายนี้จะเน้นการทำงานวิจัยและผลงานวิจัยที่มีคุณภาพสูง เพื่อให้ได้ข้อมูลหรือองค์ความรู้ที่เข้มแข็ง นำไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินมาตรการป้องกันและควบคุมโรคระบาดในกุ้ง ทำให้สามารถใช้ในการเฝ้าระวังโรคและลดการสูญเสียเมื่อเกิดปัญหาสุขภาพกุ้งและโรคระบาด อีกทั้งมีแนวความคิดในการขยายการสร้างเครือข่ายวิจัยไปยังประเทศผู้เลี้ยงกุ้งอื่น ซึ่งจะทำให้เกิดมาตรการเฝ้าระวังและควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

แพทย์จุฬาฯคว้า\"รางวัลนิวตัน\"คนแรกของไทย

        ขณะที่รางวัลรองชนะเลิศอีกจำนวน 3 รางวัล ได้แก่

        1. การศึกษากระบวนการติดเชื้อแบคทีเรียก่อโรคไข้รากสาดไรอ่อนในคน: งานวิจัยพื้นฐานด้วยเทคนิคเชิงระบบสู่การค้นหาวิธีรักษาโรคอย่างแม่นยำ โดย ดร.สมพลนาท สัมปัตตะวนิช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

        2. พันธุ์ข้าวที่ทนกับสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง โดย รศ. ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร ผู้อานวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน

      3. การแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อด้วยเทคโนโลยีจีโนม โดย ผศ. ดร.ประพัฒน์ สุริยผล หน่วยชีวสารสนเทศและจัดการข้อมูลวิจัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล