อีก 3 เดือน ประกาศใช้"จรรยาบรรณแม่บ้านต่างด้าว"
ร่างจรรยาบรรณ"แม่บ้านต่างด้าว "ดูแลแรงงานแบบการมีส่วนร่วม อีก3เดือนประกาศใช้เป็นทางการ
เผยสาระสำคัญงานบ้านครอบคลุมสัญญามาตรฐาน สุขภาพความปลอดภัยในการทำงานไม่เลือกปฏิบัติ โอกาสในการพัฒนาทักษะอาชีพ และการศึกษา และห้ามจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีกำหนดเวลาทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์มีวันหยุดตามประเพณี สิทธิลาป่วย และใบผ่านงาน เตรียมประกาศใช้อีก3เดือนข้างหน้า
เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2561 นางบุญสม น้ำสมบูรณ์ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ นายครรชิต มโนวรางกูร ผู้อำนวยการกองคุ้มครองแรงงานนอกระบบ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พร้อมตัวแทนสภาองค์กรนายจ้างแห่งประเทศไทย ผู้แทนองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ จัดแถลงข่าวเปิดร่างจรรยาบรรณในการจ้างลูกจ้างทำงานบ้าน ปัจจัยแห่งความสำเร็จในการคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้าน หลังมีการประกาศใช้กฎกระทรวงแรงงาน ฉบับที่ 14 เพื่อคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้าน เมื่อพ.ย.2555 จนถึงปัจจุบัน พบว่าลูกจ้างทำงานบ้านหรือที่หลายคนเรียกว่า แม่บ้าน จำนวนมากเป็นแรงงานต่างด้าวไม่ได้รับการคุ้มครองตามที่กฎกระทรวงกำหนด นายจ้างจำนวนมากที่ทำผิดกฎหมายมักกระทำโดยไม่ตั้งใจ เนื่องจากไม่ทราบรายละเอียดของกฎกระทรวง
ดังนั้น กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน จึงร่วมกับมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทย และภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง จัดทำ “จรรยาบรรณในการจ้างลูกจ้างทำงานบ้าน” เพื่อถือเป็นแนวปฏิบัติตามหลักความสมัครใจ โดยเน้นให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีความพึงพอใจ สอดคล้องกับมาตรฐานของกฎหมายทั้งที่บังคับใช้ในประเทศและข้อตกลงอันเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ จะนำเสนอต่อกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เพื่อประกาศใช้จากนี้ไปภายใน 3 เดือนและดำเนินการเผยแพร่สู่สาธารณชนได้รับทราบต่อไป
สำหรับสาระสำคัญของจรรยาบรรณฯ ได้กำหนดขอบเขตใช้กับงานบ้านที่หมายถึง งานที่ทำเพื่อครัวเรือนไม่ว่าจะมีกี่ครัวเรือน เช่น ซักรีด ทำอาหาร ทำความสะอาด ดูแลบ้าน คน ทรัพย์สินและสัตว์เลี้ยงภายในบ้าน โดยงานบ้านดังกล่าวต้องไม่มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย มีเนื้อหาคลอบคลุม 6 เรื่องหลัก ประกอบด้วย 1.การทำสัญญามาตรฐาน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันทั้ง 2 ฝ่ายมีความชัดเจนในขอบเขตของงาน 2.การตั้งครรภ์ที่สามารถลาไปตรวจสุขภาพและลาคลอด 3.การส่งเสริมเรื่องสุขภาพความปลอดภัยในการทำงาน 4.การไม่เลือกปฏิบัติ การเคารพความเป็นส่วนตัว 5.การให้โอกาสในการพัฒนาทักษะอาชีพ และการศึกษา และ 6.การห้ามจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี
นอกจากนี้ ยังมีข้อกำหนดด้วยว่าจะทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์มีวันหยุดตามประเพณี ไม่น้อยกว่า 13วันต่อปี วันหยุดพักผ่อนประจำปีไม่น้อยกว่า 6 วันต่อปี ทำงานวันหยุดต้องจ่ายค่าจ้างไม่น้อยกว่า 1 เท่าของค่าจ้างต่อชั่วโมงสำหรับลูกจ้างรายเดือนหรือไม่น้อยกว่า 2 เท่าของลูกจ้างรายวัน ลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริงโดยได้รับค่าจ้างไม่เกินปีละ 30 วันทำงาน โดยมีใบรับรองแพทย์กรณีที่ลาป่วยตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป นายจ้างบอกเลิกจ้างล่วงหน้าอย่างน้อย 1 งวดการจ่ายค่าจ้างและลูกจ้างมีสิทธิได้รับใบผ่านงาน
นางบุญสม กล่าวอีกว่า นายจ้างยอมรับที่จะจ้างลูกจ้างทำงานบ้านที่ถูกต้องตามกฏหมาย โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบทางสังคม และสอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานสากลที่เกี่ยวข้องกับงานบ้าน ตลอดจนหลักสิทธิมนุษยชน โดยสนับสนุนให้ลูกจ้างเข้าถึงหลักประกันทางสังคม หรือสวัสดิการอื่นๆ เช่นสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีเจ็บป่วย ประสบอันตราย หรือถึงแก่ชีวิตมิใช่เนื่องจากการทำงาน
ทั้งนี้ในภาพรวม หลายประเทศมีการจัดทำจรรยาบรรณของนายจ้างที่มีลูกจ้างทำงานที่บ้าน แต่ในประเทศไทย เป็นครั้งแรกที่ริเริ่มจัดทำฉบับร่างขึ้นมา เนื่องจากการจ้างงานทำงานที่บ้าน หรือจำนวนแม่บ้านที่จ้างแรงงานต่างด้าวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แรงงานมักอาศัยอยู่รวมชายคาเดียวกับนายจ้าง ซึ่งจรรยาบรรณฉบับร่างนี้จะมีส่วนช่วยให้การทำงานในบ้านของลูกจ้างสามารถทำงานเกิดคุณค่าทางเศรษฐกิจและเป็นประโยชน์ร่วมกันระหว่างบุคคลทั้ง 2 ฝ่าย และยังเป็นการคุ้มครองแรงงานให้สามารถทำงานได้เต็มกำลังความสามารถ
แม้ว่างานบ้านไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในทางธุรกิจโดยตรง แต่ก็เป็นงานที่อำนวยประโยชน์ให้กับสมาชิกในครัวเรือน งานบ้านจึงเป็นงานที่สนับสนุนทั้งเศรษฐกิจของประเทศและของโลก และยังเป็นงานที่ต้องใช้ทักษะหลายๆ ด้าน ต้องอาศัยความซื่อสัตย์สุจริต ความน่าเชื่อถือไว้วางใจ การปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรู้สึกที่ดีต่อกัน หรือจะเรียกได้ว่า ต้องทำงานด้วยจิตใจที่ดี งานบ้านจึงไมใช่งานที่ต่ำต้อยหรือด้อยค่าแต่อย่างใด