อพวช. จับมือ กระทรวงวิทย์ฯ จัดงาน "วิทย์สร้างคน" ปีที่ 2
อพวช. จับมือ กระทรวงวิทย์ โชว์นวัตกรรมเปลี่ยนโลกฝีมือเยาวชนไทยในงาน "วิทย์สร้างคน" ปีที่ 2
องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ร่วมกับ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจัดงาน “วิทย์สร้างคน” ตอน Gen-Z Gen-Science ภายใต้โครงการ “วิทย์สร้างคน” ส่งเสริมให้เยาวชนไทยได้ตระหนักถึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมส่งเสริมการใช้ทักษะการเรียนรู้แบบ STEM Education ได้ฝึกการคิดอย่างเป็นระบบ ด้วยการนำวิชาความรู้ทั้ง 4 ศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมนำสู่การพัฒนาประเทศได้อย่างสอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0
ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กล่าวในช่วงเสวนา Panal Discussion “สร้างสังคมอุดมนักคิด” ขยายเมล็ดพันธุ์สายวิทย์ 4.0 ถึงนโยบายวิทย์สร้างคนว่า เป็นหนึ่งในนโยบายที่กระทรวงวิทย์ฯ ให้ความสนใจ เพราะคนเป็นพื้นฐานของการพัฒนาประเทศ เราสร้างคนได้ เอาวิทย์แก้จนได้ ใช้ในการประกอบอาชีพได้ และวิทย์สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาปรเทศ ด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ โดยเริ่มจากคนที่นำเอาวิทยาศาสตร์ไปใช้ในการประกอบอาชีพ
“สิ่งที่เราต้องสอนเยาวชนและเน้นย้ำในปัจจุบันนอกจากการมีความรู้แล้ว ต้องมีความกล้าที่จะล้มเหลว กล้าที่จะบอกความล้มเหลว ไม่ใช่เพียงบอกแค่ความสำเร็จ อีกหนึ่งสิ่งที่ต้องมีคือการเป็นนักสื่อสารที่ดี ถ้าทำผลงานดี เก็บไว้ ไม่ได้เผยแพร่ก็ไม่มีประโยชน์ ดังนั้น นักวิทย์ที่ดีต้องสื่อสารได้รู้เรื่อง เป็นจุดหนึ่งที่จำเป็นต้องสื่อสารให้ชาวบ้านเห็นประโยชน์จากผลงานที่เราทำให้ได้ ไม่อย่างนั้นคนก็ไม่รู้เรื่อง คิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว ไม่เกิดประโยชน์”
ด้าน ศ.ดร. ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ และเมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในมหาวิทยาลัยไทย มีนักวิทยาศาสตร์ และนักวิจัยไม่เกิน 50% นอกนั้น คือสอนอย่างเดียว เราต้องเพิ่มสัดส่วนมากขึ้น เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ และควรร่วมมือกับทุกองค์กร ไม่ใช่แค่กระทรวงวิทย์อย่างเดียว ทุกองค์กรต้องเข้ามาทั้งรัฐและเอกชน ร่วมมือเพื่อให้เกิดเป็นห่วงโซ่”
“เป้าหมายสุดท้าย ทั้งนวัตกรรม ต้องนำไปสู่การใช้งาน ประเทศไทยเรามีปัญหา สะท้อนให้เห็นว่า ต้องปรับทัศนคติบางส่วน สินค้าของไทย คนไทยไม่ค่อยใช้ แต่ไปใช้สินค้าจากต่างประเทศ ถ้าเรามีทัศนคติที่ดี กล้าใช้ของในประเทศ จะนำไปสู่การวิจัย พัฒนา ให้มันดีขึ้น”
ทั้งนี้ สิ่งประดิษฐ์ที่ร่วมจัดแสดงภายในงาน ประกอบด้วย
1. สิ่งประดิษฐ์เชิงวิศกรรมด้านการบินและอวกาศ
2. จรวดขวดน้ำนวัตกรรม
3.การพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์และอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง Artificial Intelligence
4.หุ่นยนต์เพื่อการเกษตรยุคใหม่
5.จักรยานพลังงานทดแทนด้วยแรงลมอัด
6. โอลิมปิคหุ่นยนต์ระดับนานาชาติประจำปี 2561
7. หุ่นยนต์ซูโม่ขนาดเล็ก
8.การพัฒนาเกมดิจิทัล
9.PM SC Award
10.NSTDA
11. Showcase สมรภูมิไอเดีย
เพื่อเป็นแรงบันดาลใจแก่ทั้งนักวิทย์รุ่นใหม่ๆ และผู้คนที่สนใจได้เปิดประสบการณ์วิทยาศาสตร์แนวใหม่ ลบภาพเดิมๆ ที่เคยคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว
“นี่คือส่วนเล็กๆ ในการสร้างแรงบันดาลใจ และกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชน ออกมาเป็นชิ้นงาน เพื่อต่อยอดในการทำงานและสร้างอาชีพต่อไป ทำให้เราได้เห็นความสามารถของคนไทยที่เราไม่คิดว่าจะได้เห็น ที่สามารถต่อยอด และสร้างมูลค่าเพิ่มได้ในอนาคต เชื่อว่ากิจกรรมนี้ จะมีผลในเชิงบวกที่ให้เด็กสนใจวิทยาศาสตร์มากขึ้น รวมไปถึงคนไทยทุกคน ที่มีวิทยาศาสตร์รอบๆ ตัว” ผศ.ดร.รวิน กล่าวเพิ่มเติม
อาจารย์ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกรรมการฝ่ายจัดการแข่งขันหุ่นยนต์ สมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย ผู้ซึ่งนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์เพื่อการเกษตรยุคใหม่ มาอวดโฉมภายในงานกล่าวว่า ประเทศไทยเป็นสังคมเกษตร ซึ่งตอนนี้เรากำลังก้าวไปสู่ยุค 4.0 แต่การเกษตรของไทยล้าหลังที่สุด ดังนั้น เราต้องนำนวัตกรรมหุ่นยนต์มาใช้ สิ่งเราที่พัฒนาเป็นอย่างแรก คือหุ่นยนต์เก็บเกี่ยวผลไม้ ด้วยต้นทุนการผลิตเพลง 50,000 บาท ซึ่งเครื่องที่ขายทั่วไปราคาหลักล้าน ต่อไปจะนำไปสู่หุ่นยนต์เกี่ยวข้าว และหุ่นยนต์สแกนโรคพืช แมลง และกำจัดวัชพืชในอนาคต
“เทรนด์ของโลกในอนาคตจะเข้าสู่ความเป็นออแกนิคมากขึ้น แต่ความเป็นออแกนิคไม่ง่าย ดังนั้น ถ้าจะตอบโจทย์เทรนด์เหล่านี้ต้องใช้หุ่นยนต์เท่านั้น ใช้หุ่นยนต์มองหาแมลง กำจัดวัชพืช อย่าคิดว่าหุ่นยนต์จะมาทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่ นี่คือสิ่งที่มนุษย์ทำไม่ได้ และสารเคมีทำไม่ได้ นี่คือความได้เปรียบของหุ่นยนต์ ต่อมาคือเกษตรกรต้องพัฒนาตัว รุ่นเก่าอาจจะลำบาก เอาเป็นรุ่นหลานๆ ต้องพัฒนา ซึ่งเรามีแนวโน้มจะตั้งกลุ่ม SME ในพื้นที่ เกษตรกรไม่ต้องซื้อหุ่นยนต์เหล่านี้ แต่มีทีมคอยรับจ้างเก็บเกี่ยว ไม่ต้องลงทุนซื้อเครื่องจักร รูปแบบการเกษตรในอนาคตจะเป็นแบบนี้ นี่คือบิสเนส โมเดลในอนาคต”
“เยาวชนกลุ่มที่เรามุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพ คือ ในระดับอาชีวะ และ มหาวิทยาลัยต่างจังหวัด ซึ่งมีความใกล้ชิดกับการเกษตร ปัจจุบันเยาวชนในสมาคมฯ มีอยู่เพียง 200 คนเท่านั้น เรามีเป้าหมายที่จะพัฒนาบุคคลากรในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้ได้ 1,000 คน ภายใน 1 ปี” อาจารย์ปัญญา กล่าวเพิ่มเติม