Lifestyle

เปิดศูนย์Creator Space(NEXT)รองรับธุรกิจดิจิทัลดาวรุ่ง4กลุ่ม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดศูนย์Creator Space (NEXT)รองรับธุรกิจดิจิทัลดาวรุ่ง4กลุ่ม โดย...  -ปาริชาติ บุญเอก [email protected] -รุป Creator -

 

 


          สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ร่วมกับ ธนาคารกรุงไทย, ทรู ดิจิทัล พาร์ค และองค์กรร่วมกว่า 10 องค์กร ร่วมเปิดตัว “Creator Space (NEXT)” แหล่งพัฒนานวัตกร-สตาร์ทอัพ ครบวงจร จากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ที่มาพร้อม 6 ฟังก์ชันการให้บริการ ผ่านการเวิร์กช็อประบบออนไลน์และคลาสรูม 

 

 

          เพื่อรองรับเทรนด์ธุรกิจดิจิทัลดาวรุ่ง 4 กลุ่ม แห่งปี 2563 คือ กลุ่มฟินเทคและเทคโนโลยีบล็อกเชน กลุ่มนวัตกรรมเพื่อสุขภาพ กลุ่มโรโบติกและเอไอ และกลุ่มสมาร์ทซิตี้ สู่การพัฒนาชุมชนผู้ประกอบการ บนพื้นที่ศูนย์กลางด้านนวัตกรรมดิจิทัล ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมเปิดให้บริการฟรี สิงหาคมนี้เป็นต้นไป ณ ทรูดิจิทัล พาร์ค สุขุมวิท 101 กรุงเทพฯ   


          โดยมี สำนักวิจัยและนวัตกรรมพระจอมเกล้าลาดกระบัง (KRIS) และพาร์ทเนอร์กว่า 10 ราย อาทิ บริษัท พีทีที ดิจิตอล โซลูชั่น จำกัด บีทูเอส จำกัด, อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส แห่งเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น กลุ่มบริษัทในเครือเซ็นทรัล ร่วมกันจัดตั้ง “Creator Space (NEXT)” แหล่งพัฒนานวัตกร–สตาร์ทอัพ ครบวงจร จากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านให้คำปรึกษาและบ่มเพาะนวัตกร สู่การเป็นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ เพื่อสร้างชุมชนนวัตกรผู้ประกอบการขึ้นในประเทศ ผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัล รองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันของเทคโนโลยี 


          ทั้งด้านการวิจัย การให้ความรู้ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การแนะนำการประกอบธุรกิจ การขอสิทธิบัตร และการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ เป็นต้น  โดยศูนย์ที่ทรู ดิจิทัล พาร์ค เปิดให้บุคคลที่สนใจในการสร้างสรรค์นวัตกรรม เข้าใช้พื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ฟรี ตั้งแต่เดือนสิงหาคมนี้ อาทิ การเสวนาด้านโรโบติกและเอไอในเดือนสิงหาคม การเวิร์กช็อปด้านโดรนในเดือนตุลาคม

 



          สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่าศูนย์นวัตกร–สตาร์ทอัพครบวงจร หรือ Creator Space (NEXT) จะเข้ามาเปิดพลังของเด็กไทย ให้มีโอกาส ได้มาแสดงความรู้ ความสามารถ แสดงถึงพลังความคิดสร้างสรรค์ และสัมผัสกับบรรยากาศอีโคซิสเท็มแห่งการสนับสนุนซึ่งกันและกัน การผนึกกำลังระหว่างหน่วยงานเอกชน และมหาวิทยาลัย ถือเป็นฐานขององค์ความรู้ บ่มเพาะคนรุ่นใหม่ ที่มีความคิดสร้างสรรค์ และจินตนาการ เพื่อยกระดับเปลี่ยนแปลงประเทศไทยในด้านดิจิทัล ผลักดันคนรุ่นใหม่จากองค์กรขนาดเล็กไปสู่ระดับโลก


          "ทุกวันนี้ประเทศไทยต้องซื้ออุปกรณ์การแพทย์ และเทคโนโลยีต่างๆ วันนี้ถึงเวลาแล้วที่เราต้องพึ่งพาตัวเอง ถ้าเราพึ่งพาตัวเองได้มากเท่าไร เงินก็อยู่ในบ้านเรา ประชาชนก็มีค่าแรงก็ดีขึ้น เศรษฐกิจก็จะดีขึ้น วันนี้สถาบันการศึกษามีคนที่จะเป็นเมนทอร์ ธนาคารกรุงไทยมีเงินทุน ทรู ดิจิทัล พาร์ค มีพื้นที่ให้เรียนรู้ เชื่อว่าทำได้เพราะคนไทยเก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก” สุชัชวีร์ กล่าว


          ทั้งนี้ศูนย์ดังกล่าวจะเป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ของนวัตกร ผ่านรูปแบบการเวิร์กช็อป การอบรมออนไลน์ เสวนา คลาสรูม เป็นต้น และมีฟังก์ชันการบริการใน 6 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านนวัตกรสัมพันธ์ พื้นที่สำหรับแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักศึกษา นักวิจัย และผู้ที่สนใจ กับนวัตกรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรม พัฒนาสู่สตาร์ทอัพในภาคธุรกิจดิจิทัล


          2) ด้านพื้นที่สร้างสรรค์และกิจกรรม พื้นที่ในการสร้างสรรค์ผลงานและนวัตกรรม การเวิร์กช็อป การเทรนนิ่ง การแข่งขันสร้างสรรค์ไอเดีย หรือแฮ็กคาธอน (Hackathon) เป็นต้น


          3) ด้านชุมชนดิจิทัล พื้นที่ในการสร้างแบรนด์ และพัฒนาแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก ผ่านการสนับสนุนจากเครือข่ายในชุมชนดิจิทัล และการแข่งขันทางธุรกิจในโลกออนไลน์


          4) ด้านความรู้และเทคนิคจากพาร์ทเนอร์ พื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความรู้และวิธีการสร้างสรรค์ ระหว่างพาร์ทเนอร์และนวัตกร นำไปสู่การพัฒนาธุรกิจดิจิทัล


          5) ด้านความร่วมมือกับภาครัฐ การสนับสนุนเงินทุนในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เพื่อกระตุ้นการลงทุนในโครงการสตาร์ทอัพ ส่งเสริมธุรกิจดิจิทัลรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ


          6) ด้านการสนับสนุนทางการเงิน การสนับสนุนทางการเงิน และการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับองค์กรภาคเอกชน เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมต่อยอดเศรษฐกิจ


          รวมทั้งรองรับธุรกิจนวัตกรรมดิจิทัลในอนาคตในปี 2563 ที่จะได้รับความนิยมสูงแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่มฟินเทคและเทคโนโลยีบล็อกเชน นวัตกรรมทางการเงินที่จะมาปฏิวัติระบบการเงินทั่วโลก การจัดการความเสี่ยงทางการเงินและความปลอดภัยในโลกดิจิทัล การมีผู้ช่วยเสมือนจริงทางการเงิน และความมั่งคั่งของคนรุ่นใหม่ กลุ่มนวัตกรรมเพื่อสุขภาพ ระบบเทเลเมดีซีนและคลาวด์ จัดเก็บข้อมูลการรักษาทางการแพทย์ อินเทอร์เน็ตออฟติงทางการแพทย์ (The Internet of Medicine Things – IoMT) การใช้ระบบเอไอในกระบวนการรักษา เป็นต้น กลุ่มโรโบติกและเอไอ การพัฒนาเทคโนโลยีสู่ระบบอัตโนมัติทางการพิมพ์ในภาษาต่างๆ เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง การพัฒนาการใช้ประโยชน์หุ่นยนต์ในบ้านและสำนักงาน เป็นต้น กลุ่มสมาร์ทซิตี้ การพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยี รองรับการใช้ชีวิตของคนเมือง การทำธุรกิจในโลกดิจิทัล ระบบขนส่งสาธารณะและการสื่อสารที่จะพัฒนาสู่ 5G ในอนาคตอันใกล้ เป็นต้น


          ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ กรรมการบริหาร และกรรมการกำกับดูแลความเสี่ยง ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ธนาคารกรุงไทยสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะนวัตกรผู้ประกอบการขึ้น เพื่อเปิดพื้นที่ในการสร้างสรรค์ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่มนักนวัตกร พร้อมผสานนวัตกรรมการเงินดิจิทัล อาทิ เทคโนโลยีการจดจำใบหน้า นวัตกรรมการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เทคโนโลยีการใช้เอไอสื่อสารในภาษาต่างๆ เป็นต้น  โดยธนาคารพร้อมสนับสนุนและเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ให้แก่นวัตกรรมสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมในทุกรูปแบบ พร้อมกับการเป็นผู้บริหารกิจการ หรือผู้ประกอบการที่มีความสามารถ นำไปสู่โอกาสในการแข่งขันทางเศรษฐกิจในระดับสากลต่อไป


          ฐนสรณ์ ใจดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทรู ดิจิทัล พาร์ค กล่าวว่า ทรู ดิจิทัล พาร์ค ศูนย์กลางด้านนวัตกรรมดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การสร้างศูนย์ดังกล่าวเป็นอีกมิติหนึ่งที่สำคัญของการพัฒนาชุมชนผู้ประกอบการ และเติมเต็มระบบนิเวศนวัตกรรมที่สมบูรณ์แบบให้ครบวงจร ผ่านกิจกรรมด้านแฮ็กคาธอน(Hackathon) หรือการระดมสมองด้านไอทีผ่านการดีไซน์ การสร้างสรรค์ เป็นต้น ด้านสตาร์ทอัพ และด้านการพัฒนานวัตกรรมระหว่างประเทศ


          การสร้างพื้นที่เพื่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิทัล ภายใต้แนวคิด Open Innovation ที่เป็นศูนย์รวมบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ เหล่าสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการ นักลงทุน มหาวิทยาลัย และหน่วยงานภาครัฐ ทั้งยังเพียบพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก ที่รองรับทั้งการทำงานและการใช้ชีวิตในยุคดิจิทัลได้อย่างลงตัว ท่ามกลางบรรยากาศที่เอื้อต่อการพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แบ่งปันความรู้ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือได้อย่างไม่รู้จบ เชื่อมั่นว่า Creator Space (NEXT) จะช่วยสร้างนวัตกรไทยหน้าใหม่ให้สามารถเติบโตและแข่งขันได้ในเวทีโลก เพื่อร่วมขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจดิจิทัลและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ 

 


          เรียนรู้คลาวด์คอมพิวติ้งกับAWS
          วินเซนต์ คัวฮ์ หัวหน้าฝ่ายการศึกษา หน่วยงานด้านการวิจัย ธุรกิจสาธารณสุข องค์กรที่ไม่แสวงผลกำไร ประจำภูมิภาคเอเซียแปซิฟิค และญี่ปุ่น บริษัทอะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส กล่าวว่า บริษัท อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส หรือ AWS จะให้ความร่วมมือในการสร้างทักษะด้านคลาวด์คอมพิวติ้งให้แก่นักศึกษา ผ่านโครงการ AWS Educate ซึ่งเป็นโครงการด้านการศึกษาระดับโลกของ AWS ที่มีแผนการเรียนถึง 12 แผน ที่มีความสอดคล้องกับความต้องการและการจ้างงานของอุตสาหกรรมไอที อาทิ Data Scientists, Machine Learning Scientists, Cybersecurity Specialist และ DevOps Engineer เราช่วยให้นักศึกษามีความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงานในอนาคต 


          ซึ่งความร่วมมือกับสถาบันฯ ผ่าน Creator space แห่งนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับ reinforcement learning ซึ่งเป็นเทคนิคด้านแมชชีนเลิร์นนิ่งขึ้นสูง ผ่านการใช้โมเดลรถยนต์ไร้คนขับ AWS DeepRacer ที่มีขนาดอัตราส่วน 1 ต่อ 18 โดยนอกจากนักศึกษาจะได้ทดลองเกี่ยวกับรถยนต์ไร้คนขับและเรียนรู้เกี่ยวกับ reinforcement learning ในวิธีที่สนุกสนานแล้ว ยังจะได้รับดิจิทัล แบดจ์ สำหรับ DeepRacer อีกด้วย

 


          แพชชั่นดีๆกับบีทูเอส 
          อดิเรก ราชกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ อาวุโส ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท บีทูเอส จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบัน บีทูเอส เป็นศูนย์รวมไลฟ์สไตล์ ทั้งยังเป็นศูนย์กลางคอมมูนิตี้ พบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แบ่งปันความรู้ และสร้างเครือข่ายใหม่ๆ ไม่รู้จบ เรามีความตั้งใจที่จะสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ต่างๆ ด้วยการสร้างสังคม พื้นที่รวมตัวของคนมี “Passion” ผ่านกิจกรรมดีๆ ที่จะช่วยจุดประกายความคิด สร้างแรงบันดาลใจ ต่อยอดไอเดียใหม่ๆ ในรูปแบบของกิจกรรมและเวิร์กช็อปต่างๆ ที่สอดรับกับสังคมดิจิทัล ต่อยอดการเป็นนวัตกรสู่การเป็นนวัตกรรมสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ โครงการนี้จะเป็น Digital Innovation Hub ที่พร้อมตอบโจทย์การใช้ชีวิตดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งการทำงานและไลฟ์สไตล์ประจำวันที่เปลี่ยนไปของคนในยุคดิจิทัลทั้งในวันนี้และอนาคต

 


          เซ็นทรัลส่งเสริมคนรุ่นใหม่ 
          โกวินทร์ กุลฤชากร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายนวัตกรรม Central Tech –บริษัทกลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า การสร้างความร่วมมือกับ สจล. ในการสร้าง "Creator Space (NEXT)” มุ่งพัฒนาคนรุ่นใหม่ๆ และเพิ่มโอกาสการเรียนรู้สำหรับผู้ที่สนใจ ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรม ได้รับการพัฒนาจากผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในสายอาชีพนั้นๆ เพราะการร่วมพัฒนาเยาวชนไทย คือหัวใจแห่งการสร้างสังคมนวัตกรรมอย่างยั่งยืน การส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่คนรุ่นใหม่ นับเป็นการเสริมสร้างศักยภาพให้แก่องค์กรและประเทศชาติในระยะยาว ถือเป็นการตอบแทนสังคมอีกทางหนึ่งด้วย ทั้งนี้ การวัดความสำเร็จขององค์กรไม่ได้วัดเพียงตัวเลขรายได้ หรือราคาหุ้นในตลาดหุ้นเท่านั้น หากแต่ยังวัดกันที่คุณภาพของ “คน” ที่เป็นตัวชี้วัดที่สำคัญขององค์กรเช่นกัน

 


          พัฒนานวัตกรรมใหม่ IoT 
          ศรัณย์ ศรีพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท Energy IoT Co., Ltd. กล่าวว่า พื้นที่ IoT Innovation เป็นพื้นที่ภายใต้โครงการ Creator Space (NEXT) ดำเนินการโดยกลุ่มบริษัท โกลบอลโทรนิค อินเตอร์เทรด จำกัด และบริษัท Energy IoT เพื่อให้นักวิจัยพัฒนา นักออกแบบระบบ ได้เข้ามาเรียนรู้ สาธิต ทดลอง พัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ด้าน Internet of Things (IoT) จากเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก ได้แก่ IoT Sensor Device จาก Libelium ประเทศสเปน และ Bosch ประเทศเยอรมนี บอร์ดอิเล็กทรอนิกส์ และเซ็นเซอร์อุตสาหกรรม จาก element14, ระบบคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กและไมโครคอนโทรลเลอร์ จาก Raspberry Pi ประเทศอังกฤษ และ Beagle Bone ประเทศสหรัฐอเมริกา รวมทั้งเซ็นเซอร์และอุปกรณ์ชั้นนำอื่นๆ นอกจากนี้นักวิจัยยังได้มีโอกาสทดลองการบูรณาการอุปกรณ์และส่วนประกอบต่างๆ เข้าสู่ IoT Platform Talegur จากกลุ่มนักพัฒนาในประเทศไทย เพื่อต่อยอดไปสู่การพัฒนาเป็น IoT Solution ที่ตอบโจทย์การใช้งานจริงของภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมอีกด้วย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ