Lifestyle

นับหนึ่ง.."รพ.รัฐ"สั่งจ่ายกัญชาลอตแรก!เฉพาะผู้ป่วยมะเร็ง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  -พวงชมพู ประเสริฐ [email protected]

 

 

          เปิดให้บริการแล้วสำหรับการใช้กัญชาทางการแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หลังจากรับมอบ “น้ำมันกัญชา สูตรทีเอชซีสูง” เมดิคัลเกรด จากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ลอตแรก 4,500 ขวด โดยให้บริการในโรงพยาบาลศูนย์ 12 แห่งกระจายทั่วประเทศ ระยะแรกเน้นผู้ป่วยมะเร็งระยะท้ายก่อน ใช้ในการรักษาผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น ไม่ใช่รักษาโรคมะเร็ง และแพทย์จะวินิจฉัยและสั่งจ่ายให้เฉพาะผู้ป่วยที่เข้าข้อบ่งชี้ทางการแพทย์เท่านั้น
  

 

 

          เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม มีการแถลงข่าว “การรับมอบสารสกัดน้ำมันกัญชามาตรฐานทางการแพทย์ ลอตแรก สู่ระบบบริการกัญชาทางการแพทย์ในสถานพยาบาลและโครงการวิจัย” ซึ่งผู้บริหารระดับสูง สธ. มากันอย่างพร้อมเพรียง ตั้งแต่ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมช.สธ.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดสธ. และอธิบดีกรมต่างๆ

 

 

 

นับหนึ่ง.."รพ.รัฐ"สั่งจ่ายกัญชาลอตแรก!เฉพาะผู้ป่วยมะเร็ง

 


          อนุทิน กล่าวว่า สธ.ได้รับมอบสารสกัดน้ำมันกัญชามาตรฐานทางการแพทย์ลอตแรกจากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) แบบหยดใต้ลิ้นชนิดทีเอชซี สูงขนาด 5 มิลลิลิตร จำนวน 4,500 ขวด จะทยอยส่งให้โรงพยาบาลศูนย์ทุกเขตสุขภาพ เขตละ 1 แห่ง รวม 12 แห่ง และผู้ป่วยในโครงการวิจัย 2 ประเภท ได้แก่ การศึกษาวิจัยและการรักษากรณีจำเป็นสำหรับผู้ป่วยเฉพาะรายเพื่อให้ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีมาตรฐานแล้วไม่ได้ผลเข้าถึงการรักษาด้วยสารสกัดน้ำมันกัญชา 


          ได้แก่ ภาวะคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด โรคลมชักที่รักษายากและที่ดื้อต่อยารักษา ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ภาวะปวดประสาทที่รักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล และใช้ในการควบคุมอาการโรคพาร์กินสัน อัลไซเมอร์ โรคปลอกประสาทอักเสบ ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย เป็นต้น รวมทั้งการศึกษาวิจัยการรักษาโรคมะเร็งและจะได้รับเพิ่มอีก 2,000 ขวด เป็นชนิดซีบีดี สูงขนาด 10 มิลลิลิตร จำนวน 500 ขวด และชนิดทีเอชซีต่อซีบีดี อัตรา 1:1 ขนาด 5 มิลลิลิตร จำนวน 1,500 ขวด รวมเป็นทั้งสิ้น 6,500 ขวดภายในเดือนสิงหาคมนี้

 

 

นับหนึ่ง.."รพ.รัฐ"สั่งจ่ายกัญชาลอตแรก!เฉพาะผู้ป่วยมะเร็ง

 



          “อภ.ควรเพิ่มการผลิตสารสกัดน้ำมันกัญชาเป็น 10 ล้านขวด ซึ่งยิ่งผลิตมากต้นทุนการทำก็จะถูกลง ส่วนการรักษาในคนไข้ถ้าได้ผลก็จะมีการผลักดันบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ และเป็นสิทธิประโยชน์ในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต่อไป โดยการที่อภ.สามารถผลิตสารสกัดน้ำมันกัญชาได้เองมีราคาข้างขวดที่ 500 บาท ก็ช่วยลดราคาจากที่มีการจำหน่ายแบบใต้ดินขวดละ 1,000 บาทได้แล้ว” อนุทินกล่าว


          รพ.12แห่งสั่งจ่ายกัญชา
          ด้าน นพ.สุขุม กล่าวว่า สารสกัดน้ำมันกัญชาชนิดทีเอชซีสูง ที่ สธ.ได้รับจาก อภ. ลอตแรก 4,500 ขวด จะแบ่งเป็นให้กรมการแพทย์ใช้ในการวิจัย 600 ขวด อีก 3,900 ขวดจะกระจายไปให้โรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) 12 แห่ง เขตสุขภาพละ 1 แห่ง ได้แก่ รพ.ลำปาง รพ.พุทธชินราช จ.พิษณุโลก รพ.สวรรค์ประชารักษ์ จ.นครสวรรค์ รพ.สระบุรี รพ.ราชบุรี รพ.ระยอง รพ.ขอนแก่น รพ.อุดรธานี รพ.บุรีรัมย์ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี รพ.สุราษฎร์ธานี และรพ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยผู้ป่วยสามารถเข้าไปรับบริการได้ทันที 


          จ่ายสูตรแพทย์แผนไทย7แห่งก.ย.นี้
          และในเดือนกันยายนนี้จะเริ่มกระจายน้ำมันกัญชาสูตรตำรับแพทย์แผนไทยผ่านสถานพยาบาลที่ให้บริการด้านการแพทย์แผนไทย 7 แห่งครอบคลุมทุกภาค ได้แก่ ภาคเหนือ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเด่นชัย จ.แพร่ และรพ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี ภาคกลาง รพ.ดอนตูม จ.นครปฐม และรพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รพ.พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร จ.สกลนคร และรพ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ ภาคใต้ รพ.ท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี
   

          “กลุ่มผู้ป่วยที่จะได้รับการสั่งจ่ายก่อนคือผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยระยะประคับประคอง ทั้งนี้ส่วนหนึ่งจะเป็นคนไข้ที่มีการขึ้นทะเบียนไว้แล้ว แต่คนไข้ที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนแล้วเดินเข้าไปขอรับบริการที่โรงพยาบาลก็จะต้องผ่านจุดคัดกรองก่อนว่ามีอาการหรือโรคที่เป็นตรงกับข้อบ่งชี้หรือไม่ ส่วนคนไข้ที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่ามีความจำเป็นต้องใช้ก็จะได้รับการบริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในทุกสิทธิประกันสุขภาพภาครัฐ” นพ.สุขุมกล่าว

 

 

 

นับหนึ่ง.."รพ.รัฐ"สั่งจ่ายกัญชาลอตแรก!เฉพาะผู้ป่วยมะเร็ง

 


          ข้อบ่งชี้ในการใช้สารสกัดกัญชา
          นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สารสกัดน้ำมันกัญชาสูตรที่มีทีเอชซีสูงจะใช้ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย โดยไม่ได้เป็นการรักษามะเร็ง แต่เป็นการรักษาอาการข้างเคียงจากโรคมะเร็ง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน นอนไม่หลับ หรืออาการปวดมากจนนอนไม่หลับ ทั้งนี้กรณีที่คนไข้มาขอรับบริการแต่ไม่ตรงกับกลุ่มโรคในข้อบ่งชี้ ได้มีการวางระบบตรงนี้ โดยให้แพทย์พยายามเชื่อมโยงการดูแลเข้ากับวิชาชีพ โดยกรณีที่คนไข้ส่วนหนึ่งที่ใช้ด้วยตนเองมาก่อนอยู่แล้วแต่อาจจะเป็นโรคที่ไม่ได้เป็นไปตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ก็ให้แพทย์คุยกับคนไข้ว่าสิ่งที่ใช้อยู่ไม่แนะนำในทางการแพทย์ แต่ถ้าผู้ป่วยประสงค์จะใช้ต่อก็ให้ใช้ต่อไป โรงพยาบาลก็จะมีระบบติดตามอาการของคนไข้จากการใช้สารสกัดน้ำมันกัญชาให้คนไข้
   

          "อยากให้มีการสื่อสารตรงนี้ให้ชัดเพื่อให้คนไข้ได้เข้าใจการทำงานในการวินิจฉัยของแพทย์ด้วยเมื่อไปรับบริการ และจะทำให้ภาครัฐมีการเก็บข้อมูลจากการใช้ด้วยตนเองของคนไข้ด้วยว่าใช้สารสำคัญใดและส่งผลต่อโรคอย่างไร ถ้าทำได้เชื่อว่าประเทศไทยจะมีฐานข้อมูลที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่จะรู้ได้ว่ารสารอออกฤทธิ์ได้ส่งผลต่อโรคไหนได้ดี” นพ.สมศักดิ์ กล่าว


          เร่งผลิตรองรับความต้องการ
          นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) กล่าวว่า อภ.ผลิตสารสกัดน้ำมันกัญชาจากการปลูกรุ่นแรกรวม 6,000 ขวด แยกเป็น 3 สูตร ได้แก่ สูตรทีเอชซีสูง 4,5000 ขวด สูตรซีบีดีสูง 500 ขวด และสูตรซีบีดีต่อทีเอชซี 1 ต่อ 1 จำนวน 1,500 ขวด ซึ่งในการผลิตของอภ. จะเน้นเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน โดยึดหลักกการประสิทธิผล ซึ่งแต่ละสูตรจะใช้ในการรักษาโรคที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ ความปลอดภัย จะต้องปลอดจากยาฆ่าแมลง โลหะหนัก ปราศจากเชื้อราและแบคทีเรียและความคงตัว แต่ละขวดจะต้องมีปริมาณสารสำคัญคงตัว หลังจากนี้ อภ.จะดำเนินการปลูกและผลิตตามความต้องการของแพทย์ว่าใช้สูตรไหนจำนวนมาก ซึ่งใน 1 รอบการปลูกและผลิตใช้เวลา 4-5 เดือน ผลิตได้ราว 10,000 ขวด

 

 

 

นับหนึ่ง.."รพ.รัฐ"สั่งจ่ายกัญชาลอตแรก!เฉพาะผู้ป่วยมะเร็ง

 


          นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ล่าสุดได้รับการติดต่อจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ว่าจะนำกัญชาของกลางจำนวน 1,000 กิโลกรัมแห้งมาให้กรม จากการส่งตรวจพบว่าไม่มียาฆ่าแมลง มีโลหะหนักนิดหน่อย แต่สามารถสกัดออกได้ โดยจะนำมาให้กองพัฒนายาไทยและสมุนไพรของกรมผลิตเป็นน้ำมันกัญชาสูตรนายเดชา ศิริภัทร หมอพื้นบ้าน ซึ่งจะเป็นวิธีการผลิตสูตรที่ใกล้เคียงกับของนายเดชา แต่ทุกกระบวนการผลิตจะต้องได้รับการยอมรับจากนายเดชา คาดว่าน่าจะได้หลายแสนขวด อย่างไรก็ตามจะมีการหารือกันอีกครั้งในวันที่ 9 สิงหาคมนี้


          โรงพยาบาลสั่งจ่ายกัญชา
          โรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) 12 แห่งให้บริการกัญชาทางการแพทย์ (เริ่มบริการ)
          1.รพ.ลำปาง
          2.รพ.พุทธชินราช จ.พิษณุโลก
          3.รพ.สวรรค์ประชารักษ์ จ.นครสวรรค์
          4.รพ.สระบุรี
          5.รพ.ราชบุรี
          6.รพ.ระยอง
          7.รพ.ขอนแก่น
          8.รพ.อุดรธานี
          9.รพ.บุรีรัมย์
          10.รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี
          11.รพ.สุราษฎร์ธานี
          12.รพ.หาดใหญ่ จ.สงขลา


          7 โรงพยาบาลกระจายน้ำมันกัญชาสูตรตำรับแพทย์แผนไทย (เริ่มก.ย.2562)
          ภาคเหนือ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเด่นชัย จ.แพร่ และรพ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี
          ภาคกลาง รพ..ดอนตูม จ.นครปฐม และรพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี
          ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รพ.พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร จ.สกลนคร และรพ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์
          ภาคใต้ รพ.ท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี

 

 

 

นับหนึ่ง.."รพ.รัฐ"สั่งจ่ายกัญชาลอตแรก!เฉพาะผู้ป่วยมะเร็ง

 


          ศึกษาวิจัยมะเร็ง 10 ชนิด
          ในส่วนของกรมการแพทย์ที่ได้รับการส่งมอบสารสกัดน้ำมันกัญชาจำนวน 600 ขวดนั้น จะนำไปใช้ในการศึกษาวิจัยเซลล์มะเร็งในหลอดทดลอง 100 ขวด เพื่อศึกษาฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวและเพิ่มจำนวนเซลล์มะเร็ง 10 ชนิด ได้แก่ มะเร็งปอด มะเร็งตับ มะเร็งท่อทางเดินน้ำดี มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง มะเร็งปากมดลูก มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งรังไข่ มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งตับอ่อน คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์จะทราบผล อีก 500 ขวดจะนำไปศึกษาวิจัยในสัตว์ทดลองเพื่อศึกษาประสิทธิผลและความปลอดภัยของสารสกัดกัญชาในหนูทดลองรวมถึงทดสอบความเป็นพิษในสัตว์ทดลอง ซึ่งจะต้องใช้เวลานานเพราะต้องดูทั้งเรื่องความปลอดภัยและประสิทธิผล


          นอกจากนี้ได้จัดตั้งคลินิกให้คำปรึกษาการใช้กัญชาทางการแพทย์ในโรงพยาบาลและสถาบันเฉพาะทางในสังกัดกรมการแพทย์แล้ว อาทิ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี รพ.นพรัตนราชธานี รพ.มะเร็งชลบุรี สถาบันทันตกรรม เป็นต้น และจะครบ 32 แห่งกลางเดือนสิงหาคมนี้ ประชาชนปรึกษาเกี่ยวกับการเฝ้าระวังพิษจากกัญชาได้ที่สายด่วน 1165 ตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งอยู่ระหว่างการจัดทำออฟฟิเชียลไลน์ให้คำปรึกษาระหว่างสถานบริการสุขภาพและการส่งต่อผู้ป่วยเมื่อเกิดอาการทางจิตจากกัญชา
 

          “สมาร์ทบาร์”เช็กผลิตภัณฑ์กัญชา
          นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า อย.ได้ร่วมกับสถาบันรหัสสากล (GS1 Thailand) เปิดตัวแอพพลิเคชั่นสมาร์ทบาร์ (Smartbar Application) เริ่มแล้วตั้งแต่วันนี้ เพื่อให้บริการประชาชนในการตรวจสอบข้อมูลทั่วไปของผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ที่ถูกกฎหมายที่มีจำหน่ายในประเทศไทยผ่านสมาร์ทโฟนด้วยระบบ แอนดรอยด์ ส่วนระบบไอโอเอส จะใช้ได้ตั้งแต่ 15 สิงหาคม โดยสแกนบาร์โค้ด 2 มิติ บนผลิตภัณฑ์กัญชาด้วยตนเองได้ทุกที่ ทุกเวลา เพื่อตรวจสอบข้อมูลพื้นฐานที่ผู้ผลิตแจ้งไว้กับอย. ได้แก่ ชื่อผลิตภัณฑ์ ความแรง รูปแบบผลิตภัณฑ์ ขนาดบรรจุ ข้อมูลผู้ผลิต เป็นต้น ซึ่งเลขบาร์โค้ดจะพร้อมรองรับการติดตามและสอบย้อนกลับผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ได้ในระดับรายชิ้นแบบ เรียลไทม์ ในอนาคตจะสามารถติดตามตรวจสอบความเคลื่อนไหว การนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ