คิดก่อนแชร์รู้เท่าทัน เสพสื่อ ข่าวจริงหรือข่าวปลอม
โดย... -ปาริชาติ บุญเอก [email protected] -
จากการสำรวจ 40 ประเทศทั่วโลก พบว่า กว่า 55% คิดว่าข่าวปลอมเป็นสิ่งที่แยกยาก ขณะที่คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ยังคงแชร์ถึงแม้จะรู้ว่าไม่ใช่เรื่องจริง โดยกลุ่มตัวอย่างอายุ 18-29 ปี แชร์ข่าวปลอม 31% และอายุ 50 ปีขึ้นไป มีการแชร์ข่าวปลอม 27% การตรวจสอบข่าวปลอมของสำนักข่าวเอพี มีทั้งใช้วิธีโทรกลับไปสอบถามแหล่งข่าว รวมถึงใช้เทคโนโลยีในการตรวจสอบภาพ วิดีโอ ดูการตัดต่อ ซึ่งขณะนี้ข่าวปลอมที่กำลังมาแรงคือเกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ เนื่องจากกำลังมีการเลือกตั้งในปี 2563
เมื่อวันที่ 16 กันยายน ไลน์ร่วมกับสำนักข่าวเอพี และสำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดเวิร์กช็อป STOP “FAKE NEWS” ข่าวจริงหรือข่าวปลอม คิดก่อนกด ให้ความรู้และความเข้าใจแก่นิสิตนักศึกษาและเยาวชนคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะผู้ที่ศึกษาในด้านการสื่อสารมวลชน ถึงผลกระทบของปัญหาข่าวปลอมที่เกษร เออร์เบิน รีสอร์ท ชั้น 19 ตึกเกษรทาวเวอร์ และที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าขอนแก่น วันที่ 19 กันยายน โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 400 คน
กนกพร ประสิทธิ์ผล
กนกพร ประสิทธิ์ผล ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาสื่อใหม่ ไทยพีบีเอส กล่าวว่า ข่าวปลอมแบ่งได้ 7 ประเภท คือ 1.Satire or Parody เสียดสีหรือตลก 2.False Connection โยงมั่ว 3.Misleading ทำให้เข้าใจผิด 4.False Context ผิดที่ผิดทาง นำภาพไม่เกี่ยวข้องมาสร้างข่าวต่อ 5.Impostor โกหกที่มาของข้อมูล 6.Manipulated ตัดต่อภาพ เสียง คลิปวิดีโอ และ 7.Fabricated กุข่าวปลอม สวมรอยเป็นสำนักข่าว
ข่าวปลอมสร้างโดยคน 4 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มเกรียนนักเลงคีย์บอร์ด โพสต์ข้อความเพื่อความสนุกส่วนตัว 2.กลุ่มหวังเงินค่าโฆษณา โพสต์สร้างกระแสหวังยอดฟอลโลว์ (ติดตาม) 3.กลุ่มสร้างความเกลียดชังจะโพสต์ข้อความ หรือเฮทสปีช ดูหมิ่น ยุยง ปลุกปั่น 4.กลุ่มหลอกลวง สร้างข้อมมูลเท็จ หลอกขายสินค้า หรือฉ้อโกง
วิธีเช็กข้อมูลเพื่อให้รู้เท่าทันข่าวปลอมมี 6 ข้อสำคัญ ได้แก่ 1.ตรวจสอบแหล่งที่มาของข่าวสารข้อมูล เช่น สำนักข่าว หน่วยงาน หรือชื่อผู้ให้ข้อมูล 2.มีเว็บไซต์อื่น หรือแหล่งข่าวอื่นเผยแพร่หรือไม่ 3.ภาพเก่า เล่าใหม่ หรือไม่ เช็กภาพประกอบ TINEYE หรือ Google Reverse Image Search 4.เช็กความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์หรือเพจ เช่น Brand Name, URL, Logo/Verified, ADS, Font, Spelling หรือคำผิด และ Click Bait 5.ลักษณะเนื้อข่าวที่ต้องสังเกต ข่าวไม่จริงมักเล่นกับความเชื่อ เหตุการณ์รุนแรง ข่าวร้าย เลือกข้าง สร้างความเกลียดชัง และคนดังมีชื่อเสียง และ 6.ไม่นิ่งนอนใจ รายงานเมื่อเจอข่าวปลอม รีบช่วยเตือน หรือรายงานไปยังผู้เกี่ยวข้อง
ขณะนี้บริษัทโซเชียลมีเดียรายใหญ่พยายามลดปัญหาดังกล่าว โดย “เฟซบุ๊ก” ลดการแสดงผลเนื้อหาบนนิวส์ฟีด ด้านสุขภาพ การรักษาโรคที่เกินจริง รวมถึงเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ อาทิ ปุ่มแจ้งเตือนข่าวปลอมเพื่อเตือนผู้ใช้เฟซบุ๊กด้วยกันเอง และปุ่ม About this article ตรวจสอบแหล่งข่าวก่อนแชร์
“ยูทูบ” เตรียมปรับลดการแนะนำวิดีโอที่เข้าข่ายในกลุ่มของ Borderline หรือเรื่องราวปาฏิหาริย์ต่างๆ “กูเกิล” เพิ่มมาตรการคัดกรองข่าวปลอมและข้อมูลที่บิดเบือนความจริงบนอินเทอร์เน็ต หลังเกิดปัญหาการแพร่ขยายอย่างรวดเร็วของข่าวปลอมในปัจจุบัน และ “ไลน์” ให้ความรู้แก่เยาวชนและตั้งหน่วยงานตรวจสอบข่าวปลอม รวมถึงพัฒนาแพลตฟอร์มในการช่วยกรอง ตรวจจับ และเชื่อมต่อกับหน่วยงานของสภาบริหารและตอบข้อกังขาของประชาชนได้
“อังกฤษ” ประกาศหลักสูตรการเรียนการสอนเรื่อง Internet Safety ชั้นประถมและมัธยม เริ่มปี 2563 เพื่อเสริมทักษะแก่เด็ก เยาวชน รู้เท่าทันข่าวลวงและข่าวปลอม “สิงคโปร์” มีกฎหมายป้องกันการแพร่กระจายของข่าว เปิดให้ทางการสามารถสอดส่องแพลตฟอร์มออนไลน์ แชทส่วนตัวของประชาชนได้
“เยอรมนี” ควบคุมเนื้อหาเฮทสปีช ให้ลบข้อมูลที่ผิดกฎหมายใน 24 ชั่วโมง ฝ่าฝืนโทษปรับสูง 50 ล้านยูโร และ “ไทย” ตั้งศูนย์เฟคนิวส์เซ็นเตอร์ โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เน้นสื่อสารข่าวการเตือนภัยพิบัติและข่าวลวงที่กระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
“เฟคนิวส์ไม่มีวันหมดไป เพราะแพลตฟอร์มและเทคโนโลยีเติบโตอย่างรวดเร็ว คนไทย 70-80% กระโดดเข้ามาสู่โลกอินเทอร์เน็ตทำให้การเติบโตของเฟคนิวส์มีมากขึ้น ทางที่ดีที่สุด คือการสร้างความรู้เท่าทันสื่อ โดยการทำงานร่วมกันของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง กนกพร กล่าว
พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์
พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ข่าวปลอมเป็นปัญหาที่กระทบทั้งด้านสังคมและความมั่นคง ทุกประเทศต้องการจะหาวิธีการป้องกัน วันนี้ทุกคนสามารถโพสต์หรือแชร์อะไรตามอารมณ์ชั่ววูบ และอาจกระทบต่อสังคมในวงกว้างได้ การตั้งศูนย์ข่าวปลอม เฟคนิวส์เซ็นเตอร์ ความจริงแล้วคือปลายเหตุ สิ่งที่จะหยุดข่าวปลอมได้ คือผู้เสพต้องสามารถวิเคราะห์ได้และไม่แชร์
ขณะที่ นัทธพงศ์ ศิริกุลชัยกิจ และ ศิริประภา เนื่องอาชา นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาการสื่อสารดิจิทัล คณะสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งได้เข้าร่วมเวิร์กช็อป กล่าวว่า การรู้เท่าทันข่าวปลอมจะดีต่อตัวเราและคนอื่น หากเรารู้ว่าข่าวไหนปลอมก็ไม่ควรแชร์ต่อ ควรคิดก่อนแชร์ทุกครั้ง เพราะอาจจะเกิดผลกระทบตามมาได้