Lifestyle

ไทยประกาศเจตนารมณ์2P Safetyความปลอดภัยผู้ป่วย-บุคลากรสุขภาพ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  -ทีมคุณภาพชีวิต [email protected]

 

 

 

          ประเทศไทยประกาศนโยบายขับเคลื่อนความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข (Patient and Personnel Safety : 2P Safety) ตั้งแต่ปี 2559 มีการเรียนรู้จากเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ โดยมีระบบรายงานอุบัติการณ์ที่เชื่อมโยงระบบทั้งประเทศและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาร่วมกัน และมีการแต่งตั้ง “คณะกรรมการขับเคลื่อนความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข” จาก 16 องค์กรภาคี โดยสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. เป็นทีมเลขานุการ มีการกำหนดยุทธศาสตร์ความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข (พ.ศ.2561-2564)

 

 

          ภายในงาน “วันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยโลก และวันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุขของประเทศไทยประจำปี 2562” จัดโดย สรพ. กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และภาคีเครือข่าย เมื่อเร็วๆ นี้ ประเทศไทยประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนเรื่อง “ความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข” พร้อมกับนานาประเทศทั่วโลก และมอบกิตติกรรมประกาศให้โรงพยาบาลที่ประกาศนโยบาย 2P Safety ในปี 2562 จำนวน 208 แห่ง
  

 

 

ไทยประกาศเจตนารมณ์2P Safetyความปลอดภัยผู้ป่วย-บุคลากรสุขภาพ

 

 

          นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ประเทศไทยก้าวสู่ระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและความปลอดภัยเพื่อทุกคน” ว่าการที่ประเทศไทยจัดงานวันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยโลก ครั้งที่ 1 และวันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุขของประเทศไทย ครั้งที่ 3 แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความตื่นตัวในการพัฒนาระบบบริการที่สอดคล้องกับทิศทางของโลก และสร้างพลังในการขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่องด้วยการขยายการพัฒนาระบบที่ครอบคลุมทั้งความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากร ซึ่งเป็นสิ่งที่จะนำมาซึ่งความร่วมมือ ความไว้วางใจและการสร้างทีมที่มีเป้าหมายร่วมกันทั้งผู้ให้และผู้รับบริการ


          การที่โรงพยาบาลประกาศและตระหนักถึงการสร้างความปลอดภัยในระบบบริการ ให้ความสำคัญในการพัฒนาระบบ เพื่อป้องกันข้อผิดพลาด คลาดเคลื่อนที่สามารถป้องกันได้เชิงระบบ รวมถึงการสื่อสารสร้างความเข้าใจและสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ป่วยและญาติในการร่วมกันเป็นทีมเพื่อช่วยกันดูแลผู้ป่วยให้ปลอดภัย เข้าใจถึงข้อจำกัดและความเสี่ยงต่างๆ ที่มีโอกาสเกิดขึ้น โดยโรงพยาบาลแสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะไม่ละเลยและพร้อมพัฒนาปรับปรุงระบบเพื่อสร้างคุณภาพและความปลอดภัยจะนำมาซึ่งความเชื่อถือและน่าไว้วางใจในระบบบริการจากประชาชน ลดปัญหาการฟ้องร้องและความไม่เข้าใจในระบบบริการ


     

 

 

ไทยประกาศเจตนารมณ์2P Safetyความปลอดภัยผู้ป่วย-บุคลากรสุขภาพ

 


          ขณะเดียวกันอีกด้านของการให้บริการผู้ป่วย บุคลากรทางสาธารณสุขเป็นบุคลากรที่เสียสละทำงานอย่างหนักแทบจะตลอดเวลาแต่ก็มีโอกาสที่จะเกิดความไม่ปลอดภัยกับบุคลากร ทั้งความไม่ปลอดภัยจากการทำงาน การติดเชื้อ การประสบอุบัติเหตุจากการส่งต่อผู้ป่วย การถูกฟ้องร้อง ภาวะเครียดจากการทำงานและภาระงาน และการถูกทำร้ายร่างกายระหว่างปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งการที่โรงพยาบาลคำนึงถึงและให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวของบุคลากร และร่วมกันพัฒนาให้เกิดระบบป้องกันและดูแลบุคลากรให้ปลอดภัยจะเป็นการเสริมสร้างขวัญและกำลังใจในการทำงานให้แก่บุคลากรทางสาธารณสุข


          “ความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะหากเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการรักษาพยาบาลใดๆ เกิดขึ้น จะกระทบทั่งผู้ให้ผู้รับบริการและอาจต่อเนื่องไปจนถึงครอบครัวและสังคม ดังนั้นการที่ตื่นตัวให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วยเรียนรู้จากข้อผิดพลาด เพื่อพัฒนาระบบบริการให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัย ก็เท่ากับเราทำเพื่อการพัฒนาให้พวกเราทุกคนปลอดภัย เป็นการพัฒนาระบบบริการเพื่อพวกเราทุกคน” นายอนุทินกล่าว


          ขณะที่ นพ.กิตตินันท์ อนรรฆมณี ผู้อำนวยการ สรพ. ให้ข้อมูลว่า คณะกรรมการขับเคลื่อนความปลอดภัยฯ มีการกำหนดยุทธศาสตร์ความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรทางสาธารณสุข ระยะเวลา 4 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2561-2564 ภายใต้วิสัยทัศน์ คือ ประเทศไทยมีระบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและความปลอดภัยสำหรับทุกคน มี 5 ยุทธศาสตร์หลัก คือ 1.สร้างบุคลากรสาธารณสุขให้มีศักยภาพและความตระหนักในเรื่องความปลอดภัย 2.สร้างความร่วมมือกับเครือข่ายภาคประชาสังคม ผู้ป่วยและองค์กรต่างๆ ในระบบบริการสุขภาพ 3.พัฒนากลไกและระบบสนับสนุนที่จำเป็นต่อคุณภาพและความปลอดภัยของระบบบริการสุขภาพ 4.สร้างระบบรายงาน เรียนรู้ และวัดผลลัพธ์บริการสุขภาพที่มีคุณภาพและความปลอดภัย และ 5.เพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมกำกับ ตรวจสอบ และอภิบาลระบบบริการสุขภาพ

 

 

ไทยประกาศเจตนารมณ์2P Safetyความปลอดภัยผู้ป่วย-บุคลากรสุขภาพ

 

 


          “จากยุทธศาสตร์นี้เกิดการขับเคลื่อนมีโรงพยาบาลสมัครใจประกาศเป็นโรงพยาบาลเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยจำนวน 163 แห่งในปี 2560 และเพิ่มเป็น 370 แห่งในปี 2561 และปี 2562 เพิ่มอีก 208 แห่ง ซึ่งมีการประกาศเป้าหมายความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุขประเทศไทย มีการสื่อสารไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศเกี่ยวกับแนวปฏิบัติและบูรณาการอยู่ในมาตรฐานการรับรองคุณภาพสถานพยาบาล มีการพัฒนาระบบเฝ้าระวังเพื่อนำอุบัติการณ์มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข ซึ่งมีรายงานเข้ามามากกว่า 2 แสนอุบัติการณ์ รวมถึงมีการจัดทำสื่อเพื่อสร้างความปลอดภัยในระบบริการโดยชุดสื่อ อย่าลืมถามหมอ อย่าลืมบอกหมอ ให้ประชาชนมีส่วนร่วม” นพ.กิตตินันท์ กล่าว
 

          การขับเคลี่อนเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุขของประเทศไทย มีเป้าหมายและทิศทางที่สอดคล้องกับองค์การอนามัยโลก หรือฮู และประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ที่ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วย


          เสียงผู้ให้-ผู้รับบริการสำคัญ
          ศุภลักษณ์ ชารีพัด พยาบาลวิชาชีพชำนาญ รพ.ขอนแก่น ในฐานะผู้ให้บริการสาธารณสุขโดยเป็นพยาบาลห้องฉุกเฉิน สะท้อนว่า ตลอดหลายปีที่อยู่ในวิชาชีพพยาบาลและปฏิบัติงานในห้องฉุกเฉิน ทำให้รับทราบความสูญเสียที่เกิดขึ้นในการส่งต่อผู้ป่วยเสมอ เช่น กรณีรถพยาบาล รพ.บ้านไผ่ เกิดอุบัติเหตุขากลับจากส่งต่อคนไข้เพราะพนักงานขับรถหลับในจากการที่ต้องควงเวร 24 ชั่วโมง


          หรือกรณี รพ.ร้อยเอ็ด ที่ต้องออกส่งต่อผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไป รพ.ขอนแก่น ตอนเวลาตี 4 เกิดอุบัติเหตุทำให้พยาบาลวิชาชีพที่เพิ่งทำงานได้ 1 ปีกว่าเสียชีวิต โดยหนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ยังไม่หมด บ้านที่เพิ่งสร้างยังไม่เสร็จ ซึ่งพยาบาลรายนี้เป็นความหวังเดียวของพ่อแม่ เท่ากับความหวังพ่อแม่พังทลาย แม้จะมีค่าชดเชยแต่ก็ไม่คุ้ม เป็นเช่นนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า ด้วยเหตุว่าบุคลากรต้องควงเวรหรือมีโรคประจำตัวบางอย่าง และโครงสร้างรถพยาบาลที่มีการใช้อยู่ในปัจจุบันไม่ปลอดภัยเท่าที่ควร เมื่อต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยและรถเกิดอุบัติเหตุ ด้วยโครงสร้างภายในรถทำให้อุปกรณ์กระแทกหน้าท้อง หน้าตา ทั้งที่รู้แต่ก็ยังจำเป็นต้องใช้งานรถเช่นนั้นต่อไป เพราะหวังที่จะให้คนไข้มีชีวิตรอดเนื่องจากคนไข้ที่ต้องส่งต่อส่วนใหญ่เป็นคนไข้สีแดง ฉุกเฉินวิกฤติ
    

          “ทุกครั้งที่ขึ้นรถพยาบาลเพื่อส่งต่อคนไข้ก็คิดตลอดว่าจะมีโอกาสกลับสู่ครอบครัวหรือไม่ เพราะคนที่พยายามต่อลมหายใจให้คนอื่นแต่ตัวเองมีความเสี่ยงต่อชีวิตเสมอขณะนำส่งผู้ป่วย อยากให้มีการหยุดความสูญเสียที่เกิดขึ้น ขอให้ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ ทำให้ความปลอดภัยเป็นจริง เช่น ปรับปรุงโครงสร้างรถให้ปลอดภัย ดูแลบุคลากรให้มีความพร้อมและเพื่อนร่วมทางบนถนน” ศุภลักษณ์กล่าว


          อีกหนึ่งเสียงจาก ภิญญามาศ โยธี ในฐานะผู้รับบริการสาธารณสุขเล่าว่า เมื่อปี 2546 ไปคลอดลูกคนแรกที่โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งแล้วมีเหตุการณ์ทำให้ลูกเสียชีวิต  ซึ่งก่อนหน้านี้แพทย์บอกว่าครรภ์สมบูรณ์ดี กระทั่งตอนที่ไปตรวจครรภ์ก่อนคลอดช่วง 8 เดือน แพทย์แจ้งว่าเด็กไม่กลับหัว เมื่อเจ็บท้องคลอดตอน 3 ทุ่มได้แจ้งแพทย์เรื่องเด็กไม่กลับหัว แพทย์บอกสามารถคลอดเองได้ จนเบ่งอยู่เป็นเวลานาน รู้สึกว่าไม่ไหวร้องขอให้แพทย์ผ่าคลอด แต่แพทย์ยังยืนยันให้คลอดเอง จนสุดท้ายความดันขึ้นสูงจึงให้ผ่าฉุกเฉิน


          กระทั่งตอนเช้าเลยไปถึงบ่ายแพทย์ถึงเข้ามาแจ้งว่าลูกเสียชีวิต ตอนนั้นมีคำถามมากมายว่าทำไมลูกต้องตาย ทำไมแพทย์ไม่ผ่าคลอดทั้งที่แจ้งแล้ว แต่วินาทีนั้นเห็นความรับผิดชอบของแพทย์ทุกอย่าง จึงยอมรับความสูญเสียที่เกิดขึ้น ไม่รับและเรียกร้องค่าเสียหายอะไรเลย แต่ขณะเดินออกจากโรงพยาบาลในใจก็คิดว่า “จะไม่กลับมาที่นี่ เพราะเรารู้สึกไม่ปลอดภัย”
     

          5 ปีต่อมา ตั้งครรภ์ลูกคนที่ 2 ขณะที่ตัวเองเป็นลิ่มเลือดอุดตัน โดยรักษาและฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลเอกชนที่เป็นประกันสังคม ตอนนั้นตั้งครรภ์ได้ 1 เดือนครึ่ง ถามแพทย์ว่าสามารถตั้งครรภ์ได้หรือไม่ กลัวลูกจะพิการเพราะแม่ต้องรับยารักษาลิ่มเลือด แพทย์จึงเปลี่ยนการรักษาจากยากินเป็นยาฉีด แต่ในที่สุดโรงพยาบาลเอกชนก็ส่งตัวมาเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลรัฐแห่งเดิมตอนอายุครรภ์ 5 เดือน และแพทย์ที่นี่ก็ปรับมาให้ยากิน


          แม้จะรวบรวมความกล้าถามแพทย์ว่าขอรับยาฉีดได้หรือไม่เพราะเป็นมาตรฐานเดียวการรักษาคนท้อง
 

          แต่แพทย์ตอบว่า “รักษาที่ไหนก็ต้องยอมรับการรักษาที่นั่น” ทำให้ต้องหยุดคัดค้านแพทย์ทุกอย่าง และเมื่อเห็นที่ซองยาเขียนว่าห้ามใช้ในคนท้อง ก็ถามเภสัชกรอีกครั้ง แต่แพทย์ยืนยันว่าต้องกิน เพราะถ้าไม่กินเลือดจะไปเลี้ยงสมองเด็กไม่พอ จึงกิน จน 1 เดือนผ่านไป มาพบแพทย์ เด็กน้ำท่วมสมอง เมื่อคลอดลูกมาหูหนวก ตาบอด และแยกทางกับสามีเมื่อลูกอายุ 5 เดือน พยายามวิ่งไปหน่วยงานต่างๆ เพื่อร้องเรียน สุดท้ายจึงจบที่การขึ้นศาล และตัดสินคดีกระทั่งได้รับชัยชนะ
   

          “สิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองถึง 2 ครั้งนั้น ถึงวันนี้อยากให้มีหน่วยงานรัฐมาดูแลความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการรับบริการทางการแพทย์ให้จริงจัง เพื่อผู้เสียหายที่เกิดขึ้นทุกคน และอยากให้พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากระบบบริการสาธารณสุขที่เป็นการดูแลทั้งผู้ให้และผู้รับบริการมีผลบังคับใช้โดยเร็ว” ภิญญามาศ กล่าว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ