ข่าว

‘ครูทำร้ายเด็ก’หยุดที่รร. ‘รัดเกล้า’ แนะตรวจสุขภาพจิต ‘ครู’ เป็นประจำทุกปี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

‘รัดเกล้า’ ฝากไอเดียถึงกระทรวงศึกษาธิการ อยากแก้ปัญหา ‘ครูทำร้ายเด็ก’ ให้ถูกวิธี หยุดที่โรงเรียนในประเทศไทย "ควรมีการตรวจสุขภาพจิตของครูเป็นประจำทุกปี" ไม่ใช่เพื่อจับผิด แต่เพื่อนำไปสู่การให้คำแนะนำในเชิงจิตวิทยา และการบำบัดเบื้องต้น

เนเน่ รัดเกล้า สุวรรณคีรี อดีตผู้สมัคร สส.กรุงเทพ พรรครวมไทยสร้างชาติ(ีรทสช.)โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก มีเนื้อหาดังนี้ในช่วงนี้มีข่าวใหญ่ๆ หลายข่าวที่ได้รับความสนใจจากทั้งผู้ผลิตสื่อและผู้เสพสื่อ… ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “บุกบ้านบิ๊กโจ๊ก แฉวงการตำรวจ” หรือเรื่อง “ตั๋วสิงคโปร์ ใช้ภาษีประชาชน เปลี่ยนที่กินเบียร์” แต่ข่าวนึงที่เนเน่ว่าคนยังพูดถึงน้อยเกินไป (แม้ว่าหลายๆ สื่อก็พยายามเผยแพร่เนื้อหาอยู่บ้าง) คือ ข่าวที่ในโลกโซเชี่ยวมีการพูดถึงคลิป​ #ครูตบหน้านักเรียน เพียงเพราะเด็กไม่ยอมเรียกครูว่า “แม่” ค่ะ

 

ในเว็บไซท์ของ TNews ได้รวบรวมคอมเมนท์ของศิษย์เก่าหลากหลายรุ่นที่พร้อมใจกันมาพิมพ์คอมเมนท์ #แฉ วีรกรรมว่าครูคนนี้ ว่ามีพฤติกรรม ทำร้ายเด็ก (หยิก ต่อย ตบ ด่าทอด้วยคำหยาบคาบ) ใช้อำนาจความเป็นครูบูลี่เด็ก (หักคะแนนหากเด็กไม่ทำตามคำสั่ง) รวมถึงว่าทางโรงเรียนรู้ถึงพฤติกรรมของครูคนนี้ แต่ก็ปล่อยปะละเลยมาตลอดหลายปี… 

 

 

ล่าสุด นายธัชพล พลรัตน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหงได้ให้ครูคนนี้หยุดปฏิบัติหน้าที่ไปก่อน เพื่อรวบรวมข้อมูลทั้งหมดส่งให้งานวินัยของมหาวิทยาลัย และจะตั้งกรรมการสอบครูคนนี้ต่อไป

 

 

ในขณะที่ สส.วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ก็ให้ความเห็นว่าครูท่านนี้ต้องถูกดำเนินคดีอาญาด้วย.ก็เหมือนว่าเรื่องจะจบแล้วใช่ไหมคะ คนผิดก็ต้องรับผิด… นั่นแหละค่ะ ที่เนเน่เป็นห่วง

 

ทุกคนจำกันได้ไหมคะว่าเมื่อปี 2563 เราเคยฮือฮากันไปแล้วรอบนึงกับข่าว #ครูพี่เลี้ยงทำร้ายเด็กนักเรียนชั้นอนุบาล โรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์ …ข่าวตอนนั้นได้รับความสนใจมากเพราะ

 

1) เป็นเด็กเล็กวัยอนุบาล ช่วยเหลือตัวเองยังไม่ได้ และ 2) ผู้ปกครองมากกว่าหนึ่งคนลุกขึ้นมาเรียกร้องเสียงดัง …แต่มีใครจำกันได้ไหมคะว่า มีผู้ปกครองของศิษย์เก่าออกมาเล่าให้ฟังด้วว่า ลูกเขาก็โดนทำร้ายโดยครูในโรงเรียนเดียวกันนี้ เมื่อ 4 ปีก่อนหน้า

 

 

สิ่งที่เนเน่อยากชี้ให้เห็นคือ… #ครูทำร้ายเด็ก อยู่กับเรามานาน และเราก็ไม่เคยแก้ปัญหาที่ต้นเหตุกันเลย เราทำแค่ “ปั่นให้เป็นกระแส” เพื่อ “เอาผิดคนทำผิดให้ถึงที่สุด” แล้วก็ “มูฟออนไปสนใจเรื่องอื่น”

 

 

ในเว็บไซท์ Education Week มีบทความชิ้นนึงค่ะ ชื่อ “อย่าลืมผู้ใหญ่ : โรงเรียนและภาครัฐท้องถิ่นควรจะสนับสนุนการดูแลสุขภาพจิตของผู้สอนได้อย่างไร”

 

 

อย่าเข้าใจเนเน่ผิดนะคะ เนเน่ไม่ได้ปกป้องคุณครูที่ทำผิดค่ะ… ผิดก็คือผิด… แต่สังเกตกันไหมคะว่า ครูที่ทำผิดนั้นมีพฤติกรรมรุนแรงซ้ำๆ มาหลายปีได้อย่างไร สิ่งที่เขาทำสะท้อนให้เห็นได้ถึงความ “ผิดปรกติทางสภาพจิต” แล้วเราได้ถามต่อกันไหมว่า “สภาพแวดล้อมอะไรที่บ่มเพาะให้คนที่เป็นครู มีพฤติกรรมแบบนี้”

 

 

เมื่อเราพูดถึงโรงเรียน เรามักจะคิดแต่เรื่องการดูแล “เด็ก” กันจนเราลืมไปว่า คนที่ใกล้ชิดเด็กที่สุด มีโอกาสในการให้คุณหรือให้โทษเด็กได้มากที่สุดคือ “ผู้ใหญ่” ที่เป็นครู

 

 

ในบทความดังกล่าวได้เผยผลการสำรวจว่า 1 ใน 4 ของครูเคยมีประสบการณ์อยู่ใน #สภาวะซึมเศร้า ในขณะที่มีผู้บริหารของโรงเรียน และ/หรือ ผู้บริหารภาครัฐท้องถิ่น ออกตัวว่าเคยดำเนินการจัดให้มีโปรแกรมดูแลสุขภาพจิตครูให้เกิดขึ้น… ซึ่งอันนี้เป็นข้อมูลของอเมริกานะคะ… เนเน่ยังหาข้อมูลของประเทศไทยไม่เจอเลยค่ะ ว่าเคยมีใครทำเรื่องนี้ไหม

 

 

ลองจินตนาการถึงสภาพแวดล้อมการทำงานของครูไทยนะคะ…

 

 

ในหนึ่งวันครูต้องงัดกลเม็ดวิธีต่างๆ มาบริหารจัดการเด็กๆ ที่ยังไม่มีวุฒิภาวะในการบริหารจัดการตัวเอง บ้างก็งอแง บ้างก็ดื้อ บ้างก็ก้าวร้าว ซึ่งแน่นอนมันต้องเครียดมากๆ เก็บกดมากๆ …นอกเหนือจากนั้น สวัสดิการณ์ รายได้ ของครูนั้นก็ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตอีก ซึ่งสิ่งนี้ก็สร้างความกดดันเพิ่มให้คนเป็นครูอีกไม่น้อยเลน… คือ... จิตไม่แข็งจริงๆ เป็นครูที่ดีไม่ได้แน่นอนค่ะ

 

 

ฉะนั้น… หากเราอยากแก้ปัญหาให้ถูกวิธี ให้เรื่อง #ครูทำร้ายเด็ก #หยุดเสียที โรงเรียนในประเทศไทยควรมีการตรวจสุขภาพจิตของครูเป็นประจำทุกปี ไม่ใช่เพื่อจับผิดนะคะ แต่เพื่อนำไปสู่การให้คำแนะนำในเชิงจิตวิทยา และการบำบัดเบื้องต้นค่ะ (หลายคนยังติดทัศนคติที่ไม่ดีเกี่ยวกับผู้ที่ป่วยหรือมีสภาวะทางจิต อยากให้มองว่ามันไม่ต่างอะไรกับการป่วยทางกายนะคะ ไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจอะไรค่ะ)
 

 

เนเน่ เชื่อว่าครูที่ดีก็มีอยู่ค่ะ นอกเหนือจากสู้ด้วยการทุ่มแรงกายในทุกๆ วันแล้ว เขายังต้องสู้ข้างในใจคนเองทุกวินาทีด้วย อย่าให้คุณครูต้องต่อสู้กันเพียงลำพังเลยนะคะ

 

 

ฝากไอเดียเล็กๆ นี้ให้เสียงดังไปให้ถึงกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานอื่นๆ เกี่ยงข้องด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ

 

 

ที่มาของข้อมูล

https://www.edweek.org/.../dont-forget-the-adults.../2022/03

https://www.matichon.co.th/education/news_2367524

https://www.tnews.co.th/social/social-news/597639

https://www.nationtv.tv/news/social/378931657

https://www.komchadluek.net/hot-social/Social/559670

https://mgronline.com/onlinesection/detail/9660000087416

https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_7887605

https://today.line.me/th/v2/article/NvYzOwk

https://workpointtoday.com/hot-social/

https://www.thairath.co.th/news/society/2728668

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ