บันเทิง

'ปฏิทินสงกรานต์'

'ปฏิทินสงกรานต์'

10 เม.ย. 2557

'ปฏิทินสงกรานต์' : คอลัมน์ โลกใบนี้ดนตรีไทย โดย... ขุนอิน

 
 
          เหลืออีกเพียงแค่ 3 วันก็จะก้าวสู่วันปีใหม่ของไทยเราช่วงนี้พี่น้องชาวไทยที่มาทำมาหากินอยู่นอกถิ่นภูมิลำเนาเดิมก็จะทยอยกันเดินทางกลับบ้านเกิดเพื่อทำบุญและกราบไหว้รดน้ำดำหัวบิดามารดาและผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้เฒ่าผู้แก่
 
          ที่เราเคารพนับถือ เป็นประเพณีที่เรายึดถือกันมาตั้งแต่โบราณกาล วันมหาสงกรานค์ผมเคยเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับตำนานสงกรานค์รวมถึงนางสงกรานต์ที่มีชื่อประจำวันต่างๆ ทั้ง7 วันไปแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อหลายปีก่อนและในฉบับนี้ผมจะเขียนเรื่องการประกาศวันสงกรานต์ให้ท่านผู้อ่านได้รู้กันว่าในอดีตนั้นประเทศไทยเราเขาประกาศวันมหาสงกรานต์หรือวันขึ้นปีใหม่กันอย่างไรแบบใดบ้าง
 
          คำว่าสงกรานต์ นั้นเป็นภาษาสันษกฤษ ซึ่งแปลตรงๆ ได้ว่าคือการเคลื่อนย้าย หรือการผ่านซึ่งจริงๆ แล้วนั้นสงกรานต์ก็คือการเคลื่อนย้ายของดวงอาทิตย์ไปยังจักรราศีต่างๆ ในทุกๆ 30 วันและพอดวงอาทิตย์ผ่านครบทั้ง12 ราศรีก็จะครบ 1 ปีพอดิบพอดีครับ แต่พอดวงอาทิตย์ผ่านมาในเดือนเมษายนนั้นหรือผ่านเข้าราศีเมษ ซึ่งถือว่าเป็นการเคลื่อนเข้าสู่ปีใหม่ซึ่งก็จะเรียกมหาสงกรานต์ก็คือการเคลื่อนย้ายที่ยิ่งใหญ่ซึ่งในวันนี้ดวงอาทิตย์จะโคจรเป็นมุมฉากกับโลกและจะทำให้ๆ มีกลางวันๆ กับกลางคืนนั้นมีความยาวเท่ากันพอดิบพอดี
 
          ตามคัมภีร์สุริยะศาสตร์นั้นวันมหาสงกรานต์ซึ่งจะเป็นวันที่ดวงอาทิตย์ย้ายออกจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษก็จะถือว่าวันนั้นเป็นวันขึ้นปีใหม่ แต่จริงๆ แล้วนั้นในส่วนใหญ่วันที่ดวงอาทิตย์ย้ายออกจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษมักจะตรงกับวันที่ 14 เมษายน ของทุกๆ ปี ซึ่งในปี พ.ศ.2557 นี้ก็เช่นเดียวกันครับ แต่ก็จะมีในบางปีนั้นไปตรงกับวันที่13 อย่างเช่นเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาก็คือปี 2555 นั่นเองล่ะครับ แต่ในวันมหาสงกรานค์นั้นเราจะทราบกันดีว่าจะเป็นวันที่ประกาศอย่างเป็นทางการที่ให้เป็นวันหยุดก็คือวันที่ 13, 14 และ15 ของเดือนเมษายนในทุกๆ ปี แต่ก็อย่างที่ผมได้เขียนเอาไว้ว่า ส่วนใหญ่วันมหาสงกรานต์หรือวันขึ้นปีใหม่นั้นจะคือวันที่ 14 ของเดือนเมษายน และเราสามารถทราบได้ว่าในปีนี้วันมหาสงกรานต์เป็นวันที่ 13 หรือ14 และจะตรงกับวันอะไรเราก็สามารถที่จะไปเปิดปฏิทินดูกันได้อย่างง่ายๆ แต่ถ้าเราย้อนขึ้นไปในสมัยก่อน
 
          ในตอนที่ยังไม่มีการพิมพ์ปฏิทินแล้วนั้นเขาจะใช้การประกาศโดยติดเอาไว้ที่ประตูพระบรมมหาราชวังว่าในปีนี้นางสงกรานต์นั้นชื่ออะไร ซึ่งคนโบราณก็จะทราบทันทีว่านางสงกรานต์ชื่อนี้จะตรงกับวันอะไร และจะมีคำทำนายอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น ปีนี้นางสงกรานต์นั้นชื่อว่า โคราคะเทวี ซึ่งเป็นนางสงกรานต์ประจำวันจันทร์ ก็เท่ากับว่าในปีนี้วันสงกรานต์ตรงกับวันจันทร์ที่ 14 เมษายนนั่นเองครับ
 
          แต่การประกาศวันสงกรานต์ด้วยการใช้ปฏิทินนั้นโดยจะเริ่มมีมาตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่ง พระองค์เจ้าเทวัญอุไทวงศ์ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงเธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปราการ) นั้นได้เป็นผู้ประดิษฐ์ขึ้นทูลเกล้าถวาย รัชกาลที่5 ซึ่งเป็นปฏิทินสุริยะคติหรือปฏิทินที่บอกข้างขึ้นข้างแรมนั่นเองแหละครับ และต่อมารัชกาลที่5 ก็ทรงโปรดเกล้า ให้ยึดถือเป็นประเพณีของบ้านเมืองเรา และได้ทรงโปรดเกล้าให้จัดพิมพ์ปฏิทินของ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทวงศ์ แจกให้กับประชาชนเนื่องในวันสงกรานต์อีกต่างหากด้วยครับ
 
          หลังจากที่มีการพิมพ์ปฏิทินเพื่อแจกต่อมาก็ได้มีการพิมพ์ปฏิทินเพื่อจำหน่ายตามกันมาจนถึงยุคปัจจุบันนี้
 
          แต่ก็ยังไม่สามารถทราบได้ว่าปฏิทินในยุครัชกาลที่ 5 นั้นพิมพ์ขึ้นโดยบริษัทใด แต่ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นได้มีโรงพิมพ์ที่ชื่อว่า บุญครองพานิช ได้จัดพิมพ์ปฏิทินสงกรานต์ออกมาจำหน่าย ซึ่งเจ้าของก็คือ นางเลื่อน บุนครอง ส่วนหัวหน้าช่างพิมพ์ก็คือ นายสง่า มยุระ ซึ่งคนนี้ในภายหลังนั้นได้กลายมาเป็นเจ้าของพู่กันยอดนิยมในนามของ สง่า มยุระ
 
          แต่ว่าปฏิทินของโรงพิมพ์บุญครองพานิช ในปัจจุบันนี้นั้นไม่สามารถหาดูหาชมที่ไหนกันได้แม้แต่ฉบับเดียวครับ
 
          ในปีพ.ศ. 2493 สมาคมโหรหลวง ร่วมกับธนาคารออมสินจัดพิมพ์ปฏิทินสงกรานต์ขึ้นมาซึ่งอันนี้นั้นถือได้ว่าเป็นปฏิทินสงกรานต์ที่เก่าแก่ และยังสามารถจับต้องหาดูหาชมกันได้ในยุคนี้และธนาคารออมสินนั้นก็ยังคงได้จัดพิมพ์ปฏิทินต่อเนื่องกันมาอยู่จนถึงทุกวันนี้และก็ต้องถือว่าธนาคารออมสินนั้นเป็นหน่วยงานที่จัดทำปฏิทินในยุคนี้ที่เก่าแก่มากที่สุดอีกด้วยนะครับ ถึงแม้ว่าจะเปลี่ยนจากปฏิทินวันสงกรานต์มาเป็นปฏิทินวันขึ้นปีใหม่สากล 1 มกราคม ก็ตามครับ
เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้
 
          เอาล่ะครับฉบับนี้ไม่ได้เขียนเรื่องเกี่ยวกับดนตรีไทยแต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องราวของประเพณีไทยเก่าๆ ที่ควรรู้นะครับ สุดท้ายนี้ก็ขอให้ท่านผู้อ่านทุกท่านมีความสุขกายสุขใจเนื่องในวันมหาสงกรานต์และเดินทางปลอดภัยกันทุกๆ ท่านนะครับ
 
.......................................
(หมายเหตุ 'ปฏิทินสงกรานต์' : คอลัมน์ โลกใบนี้ดนตรีไทย โดย... ขุนอิน )