กฤษนะทัวร์ยกล้อ / อาทิตย์ที่ 30 เมษายน 2560
Friendly Design เมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่น สะดวก สะอาด ปลอดภัย ทั่วถึง ทันสมัย และสวยงาม
โดย กฤษนะ ละไล
เมืองต้นแบบอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล (Friendly Design Model City) ที่โดดเด่นและน่าสนใจมากอีกแห่งในโลกยุคปัจจุบัน คือ เมืองโอซากา มหาอำนาจทางเศรษฐกิจการค้า และการท่องเที่ยวอีกแห่งทางภาคตะวันตกของประเทศญี่ปุ่น
เมืองโอซากาในปัจจุบัน คึกคักไปด้วยผู้คน และนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก โดยเฉพาะคนไทยที่นิยมเดินทางไปเที่ยวโอซากากันเป็นจำนวนนับแสนคนในแต่ละปี
แหล่งท่องเที่ยวทุกแห่งในโอซากา ตลอดจนพื้นที่สาธารณะ และบริการขนส่งมวลชนต่างๆ เช่น รถเมล์ และรถไฟฟ้า ทั้งระบบบนดิน ใต้ดิน ถูกออกแบบและสร้างทำให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ แบบจัดเต็ม สำหรับพร้อมรองรับการใช้งานของคนทุกเพศ ทุกวัย และทุกสภาพร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้สุขภาพไม่แข็งแรง คนพิการ และคนที่ใช้รถเข็น ก็สามารถเข้าถึงสถานที่ และบริการต่างๆ ทุกรูปแบบในเมืองโอซากา ได้โดยสะดวก ปลอดภัย อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกับคนปกติธรรมดาทั่วไป หรือบางทีอาจจะมากกว่าคนปกติทั่วไปด้วยซ้ำไป
ที่หลายคนพูดถึงและชื่นชมกันมาก คือ การให้บริการคนที่ใช้รถเข็นที่มาใช้บริการรถไฟฟ้าในเมืองโอซากา ซึ่งมีเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ และคนพิการที่นั่งรถเข็น หรือบางคนที่พิการหนักก็นอนมาบนรถเข็นก็มีให้เห็นอยู่บ่อยๆ ในเมืองโอซากา แต่ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพร่างกายแบบไหน เขาก็สามารถเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ได้ และมาใช้บริการรถไฟฟ้าได้เสมอเหมือนคนปกติธรรมดาทั่วไป เพราะทางสถานีรถไฟทุกแห่งในโอซากา (และในญี่ปุ่น) จะจัดเจ้าหน้าที่ไว้คอยดูแลอำนวยความสะดวกปลอดภัยตั้งแต่เริ่มต้นมาซื้อตั๋ว ไปจนถึงจุดหมายปลายทาง
เจ้าหน้าที่ที่มาทำหน้าที่ดูแลผู้โดยสารที่ใช้รถเข็นที่สถานีรถไฟจะต้องมีแผ่นพับทางลาดติดมือมาด้วยทุกครั้ง เพื่อไว้คอยปูลาดให้ผู้โดยสารที่ใช้รถเข็นสามารถเข็นขึ้นเข็นลง หรือเข็นเข้าออกรถไฟฟ้าสายต่างๆ ได้โดยสะดวก สบาย และปลอดภัย เนื่องจากขบวนรถไฟในส่วนโบกี้ห้องผู้โดยสารตรงประตูทางเข้าออก กับสถานีชานชาลา มักจะมีช่องว่าง และเป็นขั้นสูงประมาณ 1 ฝ่ามือ หากไม่มีทางลาดแผ่นพับมาพาด อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุล้อรถเข็นพลัดตกลงไปเกิดอันตรายได้
ซึ่ง แผ่นพับทางลาด ที่ว่านี้ จะมีไว้ประจำอยู่ในทุกสถานี โดยจะมีตู้เหล็กสำหรับจัดเก็บแผ่นพับทางลาดนี้ติดอยู่กับพนังอาคารในชานชาลาที่รถไฟจะมาจอดรับส่งผู้โดยสารนั่นเอง
การประสานงานกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของแต่ละสถานีรถไฟที่มาคอยดูแลและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารกลุ่มมนุษย์ล้อก็เป็นไปอย่างดีเยี่ยม เพราะไม่ว่าผู้โดยสารที่ใช้รถเข็นจะไปลงที่สถานีไหนก็ตาม ก็จะต้องมีเจ้าหน้าที่ของสถานีนั้นๆ มาคอยยืนรอตรงประตูทางออกของขบวนรถไฟที่มนุษย์ล้อจะออกมาพอดีเป๊ะ พร้อมแผ่นพับทางลาดที่พร้อมจะปูลาดทันทีที่รถไฟจอดถึงสถานี โดยที่ผู้โดยสารที่ใช้รถเข็นไม่ต้องร้องขอแต่อย่างใด เพราะถือว่าเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่จะต้องปฏิบัติงานโดยปกติอยู่แล้ว
อีกเรื่อง คือ ห้องสุขา ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของทุกการเดินทาง ยิ่งเป็นคนที่สูงอายุด้วยแล้ว อาจยิ่งต้องเข้าห้องน้ำบ่อยครั้งกว่าคนหนุ่มสาว ดังนั้น ในทุกสถานีรถไฟของญี่ปุ่น จะต้องมีห้องสุขาที่พร้อมสรรพสำหรับให้บริการคนทั้งมวล มีทั้งห้องน้ำคนปกติ แยกหญิง แยกชาย และห้องสุขาอารยสถาปัตย์สำหรับผู้สูงอายุ คนพิการ และคนที่ใช้รถเข็น นอกจากนี้ สถานีรถไฟหลายแห่งในญี่ปุ่นยังมีห้องสำหรับแม่ลูกอ่อน หรือพ่อลูกอ่อน ไว้เปลี่ยนผ้าอ้อม หรือแพมเพิร์สให้เด็กน้อยด้วย เขาดูแลใส่ใจคนทุกวัย ได้สุดยอดจริงๆ
อย่างที่เคยบอกไปแล้วว่า ห้องสุขาที่ยอดเยี่ยมที่สุดในโลกยุคปัจจุบัน ดูจากการออกแบบ และสร้างทำพัฒนาเพื่อให้ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย และทุกสภาพร่างกายสามารถเข้าถึงได้ ใช้ประโยชน์ได้ ใช้บริการได้ โดยสะดวก ปลอดภัย และทันสมัย แถมยังสะอาด และสวยงามมากอีกด้วยนั้น ต้องยกให้ประเทศญี่ปุ่นที่ถือเป็นยอดสุดในเรื่องนี้
อีกทั้ง การควบคุมมาตรฐานเรื่องความสะดวก สะอาด ปลอดภัย ทั่วถึง ทันสมัย และสวยงาม ของห้องสุขา รวมถึงอารยสถาปัตย์อื่นๆ เช่นทางลาด ลิฟต์ และป้ายสัญลักษณ์อารยสถาปัตย์ (รูปคนแก่ถือไม้เท้า คนนั่งรถเข็น คนท้อง รถเข็นเด็กเล็ก ฯลฯ) ระหว่างในเมืองกับนอกเมือง รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวที่อยู่ห่างไกลออกไป จะมีมาตรฐานเรื่องห้องสุขา และอารยสถาปัตย์อื่นๆ ที่ไม่แตกต่างกันมากนัก ทุกที่สามารถใช้งานได้โดยสะดวก ปลอดภัย และทันสมัยเท่าเทียมกัน
ดูอย่างโบราณสถาน ปราสาทเมืองโอซากาอายุเก่าแก่กว่า 400 ปี แต่ก็มีทางลาดเชื่อมโยงไปได้ทั่วทุกจุด ตั้งแต่ออกมาจากสถานีรถไฟ ผ่านสวนสาธารณะนิชิโนมารุเชื่อมต่อไปกำแพงโบราณของตัวปราสาท จนขึ้นไปถึงตัวปราสาทชั้น 8 ชั้นบนสุดยอดของตัวปราสาท มีทางลาด และลิฟต์ในบางจุดเพื่อให้เชื่อมโยงถึงกัน และมนุษย์ล้อสามารถเข็นไปเที่ยวชมสถานที่ต่างๆ ได้ทั่วทุกจุด โดยมีห้องสุขา Friendly Design ไว้ให้บริการนักท่องเที่ยวเป็นระยะๆ
เมืองโอซากาจึงเป็นต้นแบบเมืองอารยสถาปัตย์ ที่สามารถรองรับสังคมผู้สูงวัย ส่งเสริมสิทธิความเสมอภาคเท่าเทียมของคนทุกวัย ทุกสภาพร่างกาย และส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล (Tourism for All) ได้โดยแท้จริง