จากใจ‘ทีมผู้บรรยาย’การถวายงานครั้งสุดท้ายแด่‘ในหลวงร.9'
บอกเล่าเรื่องราวของ 12 ผู้บรรยายในการถ่ายทอดสดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
หนึ่งในหน้าที่สำคัญในถ่ายทอดสดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร คือทีมผู้บรรยาย โดยโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) ร่วมกับกรมประชาสัมพันธ์ และสถานีวิทยุโทรทัศน์ทุกสถานี รับหน้าที่ถ่ายทอดสดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อนำภาพพระราชพิธีตามโบราณราชประเพณีที่สมพระเกียรติสูงสุดสู่สายตาประชาชนชาวไทยและทั่วโลก ด้วยการผลิตสัญญาณจากศูนย์ถ่ายทอด หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กทม. แพร่ภาพออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ทุกสถานี และสถานีดาวเทียมพร้อมกัน
โดยสถานีวิทยุโทรทัศน์ทุกสถานีร่วมพลังกันนำอุปกรณ์ถ่ายทอดสดพระราชพิธีประวัติศาสตร์ครั้งนี้ ประกอบด้วย กล้องถ่ายภาพ จำนวน 136 กล้อง รถถ่ายทอดสด จำนวน 19 คัน รถส่งสัญญาณดาวเทียม 19 คัน มีผู้บรรยายภาษาไทย จำนวน 10 คน ผู้บรรยายภาษาอังกฤษ 2 คน กำหนดให้มีการถ่ายทอดสด ระหว่างวันที่ 25-29 ตุลาคม 2560 ดังนี้
วันที่ 25 ตุลาคม 2560 เริ่มถ่ายทอดสดตั้งแต่เวลา 16.30 น.จนจบพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลออกพระเมรุมาศ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง
วันที่ 26 ตุลาคม 2560 เริ่มถ่ายทอดสดตั้งแต่เวลา 06.00 น.จนจบการถ่ายทอดของทรท. โดยในวันนี้เป็นวันที่มีความสำคัญยิ่งจะมีการถ่ายทอดสดตลอดทั้งวัน ได้แก่ พระราชพิธีเชิญพระบรมศพไปพระเมรุมาศ และพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในขณะเดียวกันจะมีการรายงานภาพบรรยากาศประชาชนในประเทศและต่างประเทศร่วมวางดอกไม้จันทน์
สายสวรรค์ ขยันยิ่ง
ดร.รุ่งทิพย์ โชติณภาลัย (ผู้บรรยาย ภาษาอังกฤษ)
ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ (ผู้บรรยาย ภาษาอังกฤษ)
ในส่วนของผู้บรรยายทั้ง 12 คน ได้แก่ สายสวรรค์ ขยันยิ่ง (ช่อง 3) รัตน์มณี กังวาลไกล (ช่อง 5) อุรัสยาน์ เพ็ชรสดศิลป์ (ช่อง 5) ณิศารัช อมะรักษ์ (ช่อง 5) นิลาวัลย์ พาณิชย์รุ่งเรือง (ช่อง 7) เกียรติยา ธรรมวิภัชน์ (ช่อง 9) ธีรวัฒน์ พึ่งทอง (ช่อง 9) พรอัปสร นิลจินดา (ช่องเอ็นบีที) สุพัชรินทร์ โพธิ์ทองนาค (ช่อง เอ็นบีที) สิริเสาวภา ฤกษนันทน์ (ช่องเอ็นบีที) ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ (ผู้บรรยาย ภาษาอังกฤษ) และ ดร.รุ่งทิพย์ โชติณภาลัย (ผู้บรรยาย ภาษาอังกฤษ)
โดย พรอัปสร นิลจินดา หนึ่งในทีมผู้บรรยายการถ่ายทอดสดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการส่วนผลิตรายการของสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (เอ็นบีที) พร้อมทั้งตำแหน่งทางราชการคือ นักสื่อสารมวลชนชำนาญการพิเศษ เผยว่า การคัดเลือกผู้ที่จะมาบรรยาย หรือผู้ที่มาให้ข้อมูลในการถ่ายทอดสดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทางโทรทัศน์มีการหารือคณะกรรมการของโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) ที่มีผู้บริหารหลักคือช่อง 3 ช่อง 5 ช่อง 7 ช่อง 9 ในส่วนของเอ็นบีที จะไม่ได้อยู่ในส่วนของทรท. แต่เป็นสื่อของรัฐที่เข้าไปทำงานร่วมกันในงานพระราชพิธีสำคัญๆ
"ในครั้งนี้ทีมผู้บรรยายก็มาจากช่อง 3 ช่อง 5 ช่อง 7 ช่อง 9 ช่อง เอ็นบีที และมีผู้บรรยายภาษาอังกฤษทั้งสองคน อย่างภาคภาษาอังกฤษ คุณหมอยงยุทธ เป็นผู้ทำงานร่วมกับช่อง 5 และเป็นผู้เชี่ยวชาญใช้ภาษาอังกฤษจนชำนาญ เพราะการรายงานสดจะต้องใช้ทักษะไวพริบ ที่สอดคล้องกันกับภาคภาษาไทย หรืออย่าง ดร.รุ่งทิพย์ ภายใต้สังกัดช่อง 3 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งรุ่นที่มาต่อจากหมอยงยุทธก็มาช่วย โดยทั้ง 12 คนเคยผ่านพระราชพิธีก่อนหน้านี้มาแล้ว อย่างตัวเรากับหมอยงยุทธเริ่มมาพร้อมกันตั้งแต่งานสมเด็จย่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 ส่วนน้องๆ คนอื่นมาเริ่มทำงานด้วยกันตอนงานสมเด็จพระพี่นางฯ พ.ศ.2551 ซึ่งในปี 2551 ทีมผู้บรรยายชุดนี้ได้รับรางวัลด้วย ส่วนของการคัดเลือกนั้น ก็จะคัดมาจากประสบการณ์การผ่านงานด้านนี้มา สองคือจะต้องมีความแม่นยำในเรื่องคำราชาศัพท์ หรือการเรียกขานพระนาม หรือสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ หรือคำพระ ภาษาบาลีสันสกฤต เราต้องเอาใจใส่และต้องมีความรู้ในสิ่งเหล่านี้ด้วย เพราะบางคำเป็นคำโบราณราชประเพณีที่ตกทอดมานาน
พรอัปสร นิลจินดา
สุพัชรินทร์ โพธิ์ทองนาค
สิริเสาวภา ฤกษนันทน์
นิลาวัลย์ พาณิชย์รุ่งเรือง
ครั้งนี้มีการเน้นย้ำในเรื่องว่าไม่ต้องมีการบรรยายมาก ไม่ต้องบรรยายเยอะ เพราะในครั้งนี้เรามีสารคดีที่ให้ความรู้แก่ประชาชนล่วงหน้าก่อนที่จะเกิดงานพระราชพิธีประมาณ 1 ชั่วโมง โดยทีมผู้บรรยายทีมแรกคือ น้องสายสวรรค์ น้องเกียรติยา และน้องธีรวัฒน์ ซึ่่งเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงเช้าวันที่ 26 ตุลาคม ช่วงสองก็จะเป็นช่วงของริ้วขบวน โดยทีมที่สองจะเริ่มในช่วงริ้วที่ 2 ก็จะมีผู้บรรยาย ได้แก่ น้องรัตน์มณี น้องอุรัสยาน์ และน้องณิศารัช เป็นริ้วที่จะนำพระบรมโกศ หรือพระโกศทองใหญ่ขึ้นประดิษฐานที่พระมหาพิชัยราชรถ ซึ่งถือเป็นพระเอกของงาน เพราะเป็นการเชิญพระบรมโกศขึ้นพระเมรุมาศที่ท้องสนามหลวง พอเข้ามาถึงตรงราชรถปืนใหญ่ก็จะเป็นทีมของเรา คือ เรา (พรอัปสร นิลจินดา) น้องสุพัชรินทร์ น้องสิริเสาวภา และน้องนิลาวัลย์ ช่อง 7 เป็นกลุ่มที่ 3 โดยจะเริ่มตั้งแต่เข้าริ้ว 3 เป็นต้นไป จนถึงช่วงพระราชพิธีถวายพระเพลิงช่วงเย็น ก็จะมีการบรรยายตามภาพที่เห็น ตัดสลับกับภาพบรรยากาศจากต่างจังหวัดและต่างประเทศด้วย
ทีมผู้บรรยายมีความตั้งใจทำให้ดีที่สุดเพื่อเป็นการถวายงานพระองค์ท่านด้วย ในวาระสุดท้ายที่พวกเรายังทำงานถวายพระองค์ท่านได้ เพราะในส่วนของรุ่นพี่ๆ หลังจากงานนี้ไปก็คงให้น้องๆ ที่เป็นเจเนอเรชั่นใหม่ๆ มาเรียนรู้และหาประสบการณ์ งานครั้งนี้ทุกคนทำถวายชีวิต สรรหาสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อถวายพระองค์ท่าน" พรอัปสรเผย
ด้าน เกียรติยา ธรรมวิภัชน์ หนึ่งในผู้บรรยายจากช่อง 9
“ความรู้สึกที่ได้มาทำหน้าผู้บรรยายครั้งนี้ รู้สึกภูมิใจที่เราได้รับคัดเลือก ส่วนตัวรู้สึกเป็นงานที่ยิ่งใหญ่และไม่เกิดขึ้นมากว่า 70 ปีแล้ว คือถามว่าเมื่อได้รับมอบหมาย เรามีความกังวลใจเนื่องจากเราไม่เคยผ่านงานอย่างนี้มาก่อน ถึงแม้จะเคยทำงานพระบรมศพมา 2-3 งานแล้วก็ตาม แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เป็นพระบรมศพของพระเจ้าแผ่นดินพระมหากษัติย์เป็นอะไรที่ยาก และมีความละเอียดอ่อนมาก ส่วนใหญ่เราพยายามศึกษาหาความรู้ ไม่ว่าจะมีการอบรมที่ไหน มีความเกี่ยวข้องเราจะไปค้นคว้าหาข้อมูลมาอ่าน หรือไม่ก็ถามผู้รู้เพื่อที่เราจะนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องในพระราชพิธีครั้งนี้ สำหรับการทำหน้าที่ของผู้บรรยายนั้น เราเริ่มบรรยายตั้งแต่งานการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และงานของสมเด็จพระสังฆราชประมาณ 6 ปี ส่วนงานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ไปทำข่าว เห็นพิธีการต่างๆ แต่ยังไม่ได้ศึกษาเจาะลึก สำหรับครั้งนี้เป็นการบรรยายงานพระบรมศพของพระเจ้าแผ่นดินเป็นครั้งแรก"
ถามว่าระหว่างการเป็นผู้บรรยายและหน้าที่ของการเป็นผู้สื่อข่าวมีความแตกต่างอย่างไร มีความต่างกันเยอะมาก เพราะผู้บรรยายต้องพูดทุกสิ่งอย่างที่เห็น การเป็นผู้บรรยายเราต้องศึกษาข้อมูลเยอะๆ เพราะเราจะผิดพลาดไม่ได้ พยายามให้ความรู้คนที่ดู ซึ่งเราได้รับการบ้านมาว่าเราต้องให้ความรู้ประชาชนและต้องเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง แล้วด้วยความที่เรามีผู้บรรยายหลายคนเราก็จะแบ่งปันข้อมูลกันด้วย ส่วนผู้สื่อข่าวเขียนสรุปเรื่องราวที่เกิดขึ้น
เกียรติยา ธรรมวิภัชน์
ธีรวัฒน์ พึ่งทอง
"ก่อนหน้าเราไม่ได้คาดหวังมาก่อนว่าจะได้ทำหน้าที่ผู้บรรยายงานพระราชพิธีครั้งนี้เลยนะ และเมื่อได้รับโอกาสเราตั้งใจทำงานเต็มที่ เราทำงานถวายมาตลอด สำหรับการบรรยายในส่วนของเรา เราบรรยายวันที่ 26 ตุลาคม ช่วงเช้าช่วงริ้วขบวนที่ 1 และช่วงถวายพระเพลิงตอนสี่ทุ่ม แล้ววันที่ 28 ตุลาคม ช่วงทำบุญพระบรมอัฐิ และวันที่ 29 ตุลาคม ช่วงเช้าริ้วขบวนที่ 5”
ในการบรรยายช่วงที่ถวายพระเพลิงนั้นต้องเตรียมตัวเป็นพิเศษขนาดไหน เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความโศกเศร้า
“แต่เราต้องเข้มแข็งนะ เพราะถ้าเราไม่เข้มแข็งก็จะไม่มีใครทำงานได้ เราบอกทุกคนว่าห้ามร้องไห้ให้เห็นเลยนะ เดี๋ยวตัวเราจะบรรยายไม่ได้ เพราะขนาดที่ว่าเรานั่งศึกษาหาข้อมูล เราอ่านไปยังซาบซึ้ง แต่วันนั้นเราต้องทำจิตใจให้เข้มแข็ง เรามีหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเราก็ต้องทำออกมาให้ดีที่สุด สำหรับการบรรยายหากมองว่าเป็นการถวายงานครั้งสุดท้ายแล้ว เรารู้ว่าเราต้องทำให้ออกมาดีที่สุด ไม่ให้มีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นเลย และทำให้ถูกใจทุกๆ คน เป็นเรื่องยาก เนื่องจากทุกวันนี้ทุกคนรู้ข้อมูลมากมาย เราพยายามหาข้อมูลต่างๆ ให้ออกมาดีที่สุด ซึ่งเรามีการพูดคุยกับผู้บรรยายท่านอื่นๆ ว่า หากไม่เรารู้ เราไม่ควรจะพูดออกไป แต่ในช่วงเวลาเผาจริง ก็บอกกันว่าอาจจะไม่พูดอะไร ให้ประชาชนชมภาพไปเลย ครั้งนี้จะเป็นครัั้งที่เงียบกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา” เกียรติยากล่าวปิดท้าย
อุรัสยาน์ เพ็ชรสดศิลป์
ณิศารัช อมะรักษ์
รัตน์มณี กังวาลไกล