บันเทิง

สะเทือนฝั่งลาว"งัดถั่งงัด" ดังจัดจนวัดร้าง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  คมเคียวคมปากกา  โดย...  บรรณวัชร

 

 


          หลังบุญปีใหม่ลาว หรือกุดสงกรานต์ มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์บนสื่อโซเชียลมากมาย กรณีเกิดอุบัติเหตุเมาแล้วขับ สถิติคนลาวเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ในช่วงเทศกาลงานบุญระดับชาติเพิ่มสูงขึ้นจนน่าตกใจ

 

 

          การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ส่งผลให้นักข่าว นสพ.ลาวพัดทะนา เขียนบทความเรื่อง “งัดถั่งงัด อยู่วัดจึงบ่มีคนหลาย” เพื่อจะสื่อข่าวส่งความถึงผู้รักและหวงแหนประเพณีดีงามของชาวลาว


          ช่วงบุญปีใหม่ลาว ผู้เขียนบทความได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในหลายตัวเมือง ของนครหลวงเวียงจันทน์ มีเข้าวัด สรงน้ำพระ ก่อกองทราย และทำบุญตักบาตรน้อยลง หลายวัดเงียบเหงา มีแต่ผู้สูงอายุไม่กี่สิบคน และเด็กๆ มาเล่นสาดน้ำกัน


          สาเหตุที่คนเข้าวัดน้อยลง เพราะข้างวัดมีเวทีดนตรี มีซุ้มเล่นน้ำ และซุ้มขายเบียร์ ขายเหล้า 

 

 

 

สะเทือนฝั่งลาว"งัดถั่งงัด" ดังจัดจนวัดร้าง

 


          “ในท่ามกลางการม่วนซื่นผ่านการดื่ม การเต้นนั้น เสียงเพลงจากประเทศเพื่อนบ้าน ก็มีอิทธิพลต่อประชาชนเฮาหลายที่สุด บรรดาเพลงที่กำลังได้รับความนิยมในขณะนี้ เช่น “งัดถั่งงัด, หมากแตงโม..เพลงเหล่านี้ปลุกเร้าจิตใจให้อยากเต้น อยากดื่ม จนลืมว่าจะไปวัด ไปสรงน้ำพระ และอื่นๆ กำลังเป็นความตกต่ำที่น่าเศร้า”

 

          สื่อมวลชนลาวมองว่า มนต์เพลงงัดถั่งงัด บักแตงโม และอีกหลายบทเพลงจากฝั่งไทย ดึงดูด “ชาวหนุ่ม” (หมายถึงคนหนุ่มสาว) รวมถึงวัยกลางคนไปรวมตัวหน้าเวทีคอนเสิร์ต จนลืมเข้าวัดสรงน้ำพระ


          นักข่าว นสพ.ลาวพัดทะนา ยังแสดงความเป็นห่วงวัฒนธรรมลาว เพราะนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาเที่ยวชมบุญปีใหม่ลาวก็อยากเห็นชาวลาว ทั้งชายหญิงแต่งกายแบบดั้งเดิมเข้าวัดเข้าวา

 

 

สะเทือนฝั่งลาว"งัดถั่งงัด" ดังจัดจนวัดร้าง

 



          ส่วนประเด็น “อิทธิพลของเพลงประเทศเพื่อนบ้าน” เข้ามาครอบงำคนลาวนั้น นักข่าวคนดังกล่าวอาจมองในแง่ลบมากเกินไป 


          กรณีเพลงลูกทุ่งไทยไหลข้ามโขงนั้น เป็นเช่นนี้มานานกว่า 50-60 ปีแล้ว นับแต่เพลง “เดือนหงายริมโขง” ของสุรพล สมบัติเจริญ โด่งดังในยุคราชอาณาจักรลาว ช่วงลาวเปลี่ยนระบอบการปกครองใหม่ๆ มีการปลุกระดมสร้างสรรค์สังคมนิยม และปิดพรมแดนไทย-ลาว ชาวบ้านฝั่งซ้ายก็ยังแอบฟังรายการเพลงจากสถานีวิทยุฝั่งขวา


          ปัจจุบัน โลกเข้าสู่ยุค “ดนตรีไม่มีขอบ เพลงไม่มีพรมแดน” ประกอบกับคนสองฝั่งโขง พูดจาภาษาเดียวกัน จะต่างแค่ตรง “สำเนียงเสียงปาก” เท่านั้น จึงไม่มีอุปสรรคใดๆ มากางกั้น 

 

 

 

สะเทือนฝั่งลาว"งัดถั่งงัด" ดังจัดจนวัดร้าง

 


          20-30 ปีที่แล้ว สปป.ลาว เริ่มเปิดประตูสู่ตลาดการค้าเสรี ตลาดเพลงลาวเติบโตอย่างน่าสนใจ โดยการขยายฐานกลุ่มผู้ฟังเพลงไปยังชาวลาวโพ้นทะเล หรือชาวลาวที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ แคนาดา ออสเตรเลีย และยุโรป


          แกรมมี่โกลด์ เป็นค่ายเพลงไทยค่ายแรกที่ข้ามโขงไปปลุก “ตลาดเพลงสองฝั่งโขง” อย่างเป็นเรื่องเป็นราว โดยการติดต่อซื้อขายเพลงโดยตรงกับนักแต่งเพลงชาวลาว ไม่ต้องผ่านสถานทูตลาวประจำกรุงเทพฯ เหมือนในอดีต


          อัลบั้มเพลงดังสองฝั่งโขง ที่แกรมมี่โกลด์นำ 12 เพลงฮิตฝั่งซ้าย จากปลายปากกาของ ดาวเวียง บุดนาโค มาให้ไมค์ ภิรมย์พร ขับร้อง เป็นก้าวแรก และตามมาด้วยเพลง “จี่หอย” ผลงานของ อุ่นแก้ว ลูกบังบด ที่ดังระเบิดเถิดเทิง

 

 

 

สะเทือนฝั่งลาว"งัดถั่งงัด" ดังจัดจนวัดร้าง

 


          เมื่อครูเพลงลาว ดาวเวียง บุดนาโค เสียชีวิต แกรมมี่โกลด์จึงมอบเงินช่วยเหลือครอบครัวอาจารย์ดาวเวียง 5 หมื่นบาท ซึ่งมีการส่งมอบเงินให้แก่ทายาทครูเพลงผู้ล่วงลับไปเรียบร้อยแล้ว


          ล่วงมาถึง พ.ศ.นี้ ยุคดิจิทัล ประชากรลาว 6.7 ล้านคน มีสมาร์ทโฟน นิยมท่องเฟซบุ๊ก และยูทูบ ประมาณ 3 ล้านกว่าคน ตลาดเพลงลาวแบบเดิมจึงล้มหายตายจาก


          เพลงลูกทุ่งอีสานยุคใหม่บ่าไหลข้ามโขง ส่งผลสะเทือนถึงวัฒนธรรมดั้งเดิมอย่างเลี่ยงไม่ได้ ปรากฏการณ์ “งัดถั่งงัด อยู่วัดจึงบ่มีคนหลาย” จึงอุบัติขึ้น 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ