บันเทิง

เป็นตางึด จากหมอลำขอข้าว ถึง หมอลำฝังเพชร 27 ล้าน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  คมเคียวคมปากกา  โดย...  บรรณวัชร 

 


    
          น้ำท่วมอีสานเที่ยวนี้ อาจส่งผลให้เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง เพราะไร่นาของชาวบ้านจมน้ำ แถมก่อนหน้าต้องเผชิญภัยแล้ง

 

          เมื่อชาวบ้านไม่มีข้าวจะขาย รายได้ก็หดหาย ศิลปินหมอลำเริ่มโอดครวญทำนองว่า หลังออกพรรษาปีนี้ น่าจะมีเจ้าภาพมาจ้างน้อยลง คงได้เป็น “หมอลำขอข้าว” กันล่ะทีนี้
    


    

 

          คนอีสานคุ้นเคยกับ “หมอลำขอข้าว” หรือหมอลำเพื่อชีวิต จะแสดงตามหมู่บ้าน ใช้ศาลาวัด โรงเรียน หรือสถานที่เหมาะๆ ที่ขออนุญาตเจ้าของสถานที่ได้
    

          จบสิ้นการแสดง รุ่งเช้าชาวคณะหมอลำ จะออกตระเวนเก็บข้าวเปลือกจากชาวบ้าน แล้วแต่ความพึงพอใจ ซึ่งคนอีีสานมีน้ำใจอยู่แล้ว พวกหมอลำได้ข้าวจะเทใส่ถุง หรือกระสอบ นำไปขายที่โรงสี แล้วนำเงินแบ่งปันกัน
    

          “หมอลำขอข้าว” ยุคปัจจุบันได้เปลี่ยนไป จากขอข้าวเปลือกมาขอธารน้ำใจเป็นเงินสดตามตลาดนัด เวทีก็ทำง่ายๆ วางฉากกลางลานดิน ดนตรีไม่กี่ชิ้น มีคนแสดง 5-6 คน
    

          เหตุที่หยิบยกเรื่องหมอลำขอข้าวมาเล่าสู่กันฟัง เพราะเกิดความอัศจรรย์ใจกับ "หมอลำคาร์นิวัล 2562" ที่ขอนแก่น ซึ่งใช้งบประมาณมากมายถึง 27 ล้านบาท
    

          แม่งานใหญ่หมอลำคาร์นิวัลคือ สำนักวัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น โดยมีการนำหมอลำเกรด A มาจัดแสดงหลายคณะ อาทิ ลำเรื่องต่อกลอนคณะระเบียบวาทะศิลป์, ลำเพลินคณะสาวน้อยเพชรบ้านแพง, วงดนตรีลูกทุ่งหมอลำเสียงอิสาน
    

          พร้อมด้วยหมอลำรวมฮิต เดือนเพ็ญ อำนวยพร,พรศักดิ์ ส่องแสง,สาธิต ทองจันทร์, สมจิตร บ่อทอง,พิมพ์ใจ เพชรพลาญชัย และเฉลิมพล มาลาคำ นอกจากนี้ ยังมีการประกวดวงหมอลำสร้างสรรค์ชิงเงินรางวัลรวมกว่า 1,000,000 บาท
    

          ว่ากันตามจริง รวมค่าตัวหรือค่าว่าจ้างหมอลำเกรด A อย่างสูงก็ไม่เกิน 3 ล้านบาทเท่านั้น แต่การตั้งงบประมาณ 27 ล้านบาท เพื่อจัดงานหมอลำครั้งนี้ เข้าข่ายตำน้ำพริกละลายแม่น้ำหรือไม่?
    

          หมอลำคาร์นิวัลจัดกันมาหลายปีแล้ว ปี 2561 ใช้งบฯ 5.9 ล้านบาท แต่ปี 2562 กลับใช้งบฯ 27.4 ล้านบาท เป็นคำถามที่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น ต้องตอบคำถามสังคม
    

          รูปแบบหมอลำคาร์นิวัลของปีก่อนกับปีนี้ ไม่ต่างกัน เริ่มจากขบวนแห่คาร์นิวัลเลียนแบบลาตินอเมริกา ตามด้วยการแสดงหมอลำ และการประกวดหมอลำรุ่นใหม่
    

          จริงๆแล้ว การจัดหมอลำคาร์นิวัล ไม่ว่าจะ 5 หรือ 27 ล้าน ก็ไม่ตอบโจทย์การสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้แก่ศิลปวัฒนธรรมอีสาน หากแต่เป็นงานอีเวนท์การตลาดที่โครมครามแค่วันสองวัน แล้วก็หายไป
    

          คณะหมอลำก็ยังดิ้นรนหาทางอยู่รอด ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิตอล และที่เพิ่มเติมมาในปีนี้คือเศรษฐกิจรากหญ้าที่ติดลบ
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ