50ปีปฏิวัติวัฒนธรรมจีน:จะฝังหรือจะขุดประวัติศาสตร์อัปยศ
50ปีปฏิวัติวัฒนธรรมจีน:จะฝังหรือจะขุดประวัติศาสตร์อัปยศ : เปิดโลกวันอาทิตย์ โดยบุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์
เห็นชัดๆ ได้ว่าเป็นนโยบายของผู้นำจงหนานไห่ในกรุงปักกิ่งที่ไม่ต้องการฟื้นฝอยหาตะเข็บกับเหตุการณ์ที่ถือเป็นหนึ่งในยุคมืดที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของแดนมังกรและเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของลูกหลานมังกร ทางการจึงนิ่งเฉยไม่จัดงานรำลึกวันครบรอบ 50 ปีการปฏิวัติวัฒนธรรมซี่งตรงกับวันที่ 16 พฤษภาคม แถมยังสั่งห้ามสื่อประโคมข่าวนี้ นอกเหนือจากห้ามนักวิจารณ์ให้ความเห็นใดๆ โดยทางการไม่ให้เหตุผลใดๆ ทั้งสิ้น ปล่อยให้ทุกคนเดากันเองว่า เบื้องหน้าเบื้องหลังแท้จริงคืออะไร
จึงกลายเป็นตลกการเมืองที่หัวเราะไม่ออก เมื่อสื่อมวลชนจีนพร้อมใจกันลดความสำคัญของเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์นี้ ไม่มีการพาดพิงแม้เพียงประโยคเดียวถึงอดีตประธานเหมา เจ๋อ ตุง ที่สั่งระดมมวลชนครั้งใหญ่อันเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติวัฒนธรรม ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนมีนาคม “โกลบอล ไทม์ส” หนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ของพรรค ได้เขียนบทบรรณาธิการเตือนว่ามีคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งพยายามจะสร้างความวุ่นวายขึ้นด้วยการตีความการปฏิวัติวัฒนธรรมอย่างผิดๆ พร้อมกับเตือนว่าใครก็ตามที่จะวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ก็ต้องสังวรณ์ให้ดีว่าต้องเป็นไปตามหลักการหรือแนวคิดทางการเมือง
พอถึงวันครบรอบ 50 ปีจริงๆ ในวันที่ 16 พฤษภาคม ข่าวนำหน้าหนึ่งของ “โกลบอล ไทม์ส” เป็นข่าวปักกิ่งโจมตีเพนตากอนกรณีความตึงเครียดบริเวณทะเลจีนใต้ หนังสือพิมพ์ปักกิ่ง มอร์นิ่ง โพสต์ ก็เล่นข่าวโดนัลด์ ทรัมป์ ข่าวบอรีส จอห์นสัน เปรียบเทียบอียูว่าเหมือนฮิตเลอร์ หนังสือพิมพ์ปักกิ่งไทม์สก็ตอกตะปูปิดฝาโลงเรื่องการปฏิวัติวัฒนธรรมด้วยเสนอข่าวใหญ่หน้าหนึ่งเรื่องตำรวจพยายามตามหาเด็กๆ ที่หายตัวไป
หลังจากถูกตั้งคำถามมากพอควร หนังสือพิมพ์ประชาชนรายวันจึงให้ความเห็นในบทบรรณาธิการย้ำว่าจะต้องไม่ให้การปฏิวัติที่ผิดพลาดนี้เกิดขึ้นซ้ำอีกครั้ง หลังจากได้สร้างความเสียหายยับเยินตลอดช่วงหนึ่งทศวรรษ ประชาชนต่างเจ็บปวดจนไม่มีวันลืม ไม่มีใครยอมรับคุณค่าของการปฏิวัติวัฒนธรรมว่าจะช่วยยกระดับสังคมจีนให้พ้นจากอันตรายของภาวะไร้ระเบียบ
ดูเหมือนจะมีแต่สื่อฮ่องกงเท่านั้นที่ยังมีเสรีภาพในการแสดงความเห็น ในบทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์เซาท์ไชนา มอร์นิ่ง โพสต์ กล่าวว่า 50 ปีผ่านไป แต่ก็ยังไม่สามารถคืนความเป็นธรรมให้แก่เหยื่อที่จะพูดถึงความเจ็บปวดจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น “ถ้าหากพรรคกลัวว่าการเปิดเผยความจริงถึงเหตุการณ์ในอดีตและไม่ยอมเรียนรู้ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น แล้วจะกำหนดทิศทางที่ถูกต้องสำหรับอนาคตได้อย่างไร”
ระหว่างนี้ก็มีการตั้งคำถามกันว่าทำไมผู้นำจงหนานไห่จึงทำเช่นนี้ทั้งๆ ที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง มีเหตุผลดีที่สุดที่จะจัดงานครบรอบ 50 ปีการปฏิวัติวัฒนธรรมอย่างยิ่งใหญ่ ในฐานะที่ครอบครัวรวมทั้งตัวเองเป็นหนึ่งในเหยื่อของการ “ล้มล้างสี่โบราณ” ประกอบด้วย ล้มล้างความคิดโบราณ วัฒนธรรมโบราณ ประเพณีโบราณ และจารีตโบราณ ตลอดจนกำจัดผู้มีความเห็นโน้มเอียงเป็นพวกลัทธิแก้ เป็นพวกเดินตามแนวทางทุนนิยม โดย สี จงซุน พ่อของสี จิ้นผิง ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะผู้นำพรรคถูกลากตัวไปประจานต่อหน้าฝูงชนในข้อหาใช้กล้องส่องทางไกลมองไปที่เบอร์ลินตะวันตกระหว่างที่เยือนเยอรมันตะวันออก จากนั้นต้องไปทำงานที่โรงงานรถแทร็กเตอร์ที่ลั่วหยาง ก่อนจะถูกจับขังที่ปักกิ่ง นี่ยังไม่รวมไปถึงเหยื่ออีกราว 1.5-1.8 ล้านคนที่ถูกเข่นฆ่าสังหารอย่างโหดเหี้ยม หรือถูกบีบให้ฆ่าตัวตาย ในจำนวนนี้มีทั้งผู้นำระดับสูงในพรรค ครูบาอาจารย์ นักวิชาการ ปัญญาชน ศิลปิน ตลอดช่วง 10 ปีการปฏิวัติวัฒนธรรมระหว่างปี 2509-2519 อีก 2 ล้านคนในชนบทแทบจะอดตายเนื่องจากเศรษฐกิจพังทลาย อีก 20 ล้านคนถูกกวาดล้างชนิดถอนรากถอนโคน ถูกส่งไปใช้แรงงานในเขตชนบทยากจนแร้นแค้น ไม่นับรวมไปถึงการเผาวัดโบราณ รูปปั้นพระพุทธรูปโบราณสถาน โบราณวัตถุ อายุนับพันๆปี เผาห้องสมุด เผาตำราและวรรณกรรมที่มีเนื้อหาไม่สอดคล้องกับหลักสังคมนิยมแบบสุดโต่ง ฯลฯ
แต่สี จิ้นผิง กลับนิ่งเฉย โดยลืมคิดไปถึงหัวอกของเหยื่อการปฏิวัติวัฒนธรรม ซึ่งเป็นพยานที่ยังมีชีวิตอยู่และพร้อมจะเปิดโปงโศกนาฏกรรมและความเจ็บปวดครั้งนั้น หรือ "เสียง” ของ “คนรุ่นที่ถูกลืม” หรือนัยหนึ่งก็คืออดีตเรดการ์ดที่ถูกสังคมหันหลังให้ ปล่อยให้เป็น "จัณฑาล” ของสังคมมาตลอด ช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีหนังสือและภาพยนตร์จำนวนมากพูดถึงชะตากรรมของเหยื่อการปฏิวัติวัฒนธรรม อาทิ เรื่องมุกมังกร หงส์ป่า หรือภาพยนตร์เรื่อง "แฟร์เวล มาย คองคิวบายน์” แต่แทบไม่มีเรื่องใดพูดถึงชีวิตของอดีตเรดการ์ดที่ถูกสังคมทอดทิ้ง จะมีก็เป็นนวนิยายบางเรื่องอาทิ คนขุดสุสาน พูดถึงชีวิตอดีตเรดการ์ด ที่ต้องไปเป็นทหาร ท้ายสุดถูกปลดประจำการแล้วกลายเป็นคนขุดสุสานโบราณ
ที่แน่ๆ การฝัง ความทรงจำอันเจ็บปวดของลูกหลานมังกรจากเหตุ ปฏิวัติวัฒนธรรมไว้ในซอกหลืบที่ลึกที่สุดของประวัติศาสตร์ ก็เท่ากับฝังผลงานยิ่งใหญ่ของ บุรุษร่างเล็กคนหนึ่งนามว่า เติ้ง เสี่ยวผิง หรือนายขวดน้อยแซ่เติ้ง เจ้าของวลีที่โด่งดังไปทั่วโลกว่า “แมวดำแมวขาวไม่สำคัญ ขอให้จับหนูได้เป็นพอ” ผู้เริ่มชำระประวัติศาสตร์ยุคการปฏิวัติวัฒนธรรมด้วยการล้มลัทธิบูชาตัวเหมา เจ๋อ ตุง ดุจเทพที่ไม่มีวันทำอะไรผิด ให้มีฐานะกึ่งเทพกึ่งมนุษย์นั่นก็คือสามารถทำผิดได้ จากมติของที่ประชุมพรรคเมื่อปี 2521 ระบุว่าแนวคิดของประธานเหมา “ถูก 70%” และ “ผิด 30%” ก่อนจะเปิดประตูประเทศด้วยนโยบาย “สี่ทันสมัย” ทำให้มังกรหลับกลายเป็นมังกรตื่นที่ผงาดไปทั่วโลกดังเช่นทุกวันนี้
ในส่วนของนักวิชาการและวารสารทางการศึกษาต่างได้รับจดหมายเตือนมาตั้งแต่ต้นเดือนว่าไม่ควรจะจัดกิจกรรมใดๆ รวมไปถึงการจัดอภิปรายหรือการเสวนา การพูดถึงในโซเชียลมีเดียอย่างไมโครบล็อกเว่ยโป๋ก็ถูกลบทิ้งในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ส่วนใหญ่แสดงความกังวลว่าการปฏิวัติวัฒนธรรมอาจเกิดขึ้นอีกช่วงที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กำลังรณรงค์ปราบคอร์รัปชั่น
กระนั้นผู้เชี่ยวชาญหลายคนให้ความเห็นว่าผู้นำชุดปัจจุบันต้องการปิดฉากการค้นหาความจริงต่างๆ ที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังการปฏิวัติวัฒนธรรม เพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อพรรคและต่ออำนาจของตัวเอง นักวิชาการบางคนชี้ว่า “ยิ่งฝังประวัติศาสตร์ลึกมากเท่าใด ปัญหาก็จะยิ่งใหญ่มากขึ้นเท่านั้น” พร้อมกับย้ำว่า "ประวัติศาสตร์ไม่ควรจะถูกปู้ยี่ปู้ยำจากฝีมือของนักการเมือง”
นักวิชาการคนหนึ่งเปิดเผยกับหนังสือพิมพ์เดอะ โกลบ และเมล์ของแคนาดาว่า ทางการได้ห้ามนักวิจัยให้สัมภาษณ์สื่อเกี่ยวกับการปฏิวัติวัฒนธรรม ขณะที่หวัง หยูชิน ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “เหยื่อของการปฏิวัติวัฒนธรรม, สามทศวรรษของการสอบสวนการฆาตกรรมของเรดการ์ด” ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์การ์เดียนว่า บรรดาผู้นำระดับสูงต่างกลัวว่าหากเปิดโปงด้านมืดของการปฏิวัติวัฒนธรรม ประชาชนก็จะสงสัยในระบบของพรรค หวังกล่าวด้วยว่าการปฏิวัติวัฒนธรรมของจีนนั้นต่างไปจากการสังหารหมู่ที่กัมพูชาในช่วงรัฐบาลเขมรแดงเรืองอำนาจ เนื่องจากศาลพิเศษได้สอบสวนอาชญากรรมที่ก่อขึ้นในสมัยพลพต แต่เหยื่อการปฏิวัติวัฒนธรรมกลับถูกปฏิเสธ ไม่มีใครสนใจ แม้ว่าจะผ่านมา 50 ปีเต็ม แต่รายงานชิ้นสมบูรณ์ที่สุดเกี่ยวกับการปฏิวัติวัฒนธรรมกลับไม่มีอะไรคืบหน้า ซึ่งคงต้องเป็นหน้าที่ของภาคประชาชนที่จะทำกันเอง
โรเดอริค แมคฟาร์กูฮาร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการปฏิวัติวัฒนธรรมแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและผู้เขียนหนังสือเรื่อง “การปฏิวัติครั้งสุดท้ายของเหมา” ให้ความเห็นว่าเหตุผลสำคัญที่ทำให้สี จิ้นผิง ปิดหูปิดตาประชาชนเรื่องการปฏิวัติวัฒนธรมก็คือเกรงว่าจะมีผลกระทบต่อชื่อเสียงของเหมา เจ๋อตุง อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น
ในเมื่อภาคสื่อและภาควิชาการถูกอำนาจรัฐสั่งห้ามเคลื่อนไหวใดๆ ภาคประชาชนจึงมีบทบาทมากเป็นพิเศษในการพูดถึงวันสำคัญวันนี้ โดยเฉพาะลูกหลานของเหยื่อการเมืองในยุคบ้าคลั่งนั้นอยากให้รัฐบาลทำอะไรบางอย่าง เพราะถ้าไม่ศึกษาบทเรียนความผิดพลาดในอดีต ถ้าหากไม่ยอมให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ความผิดพลาดของพรรค ความเจ็บปวดก็ไม่มีวันจางหาย
เมื่อต้นปี 2557 ศิษย์เก่าของคณะคณะหนึ่งในมหาวิทยาลัยปักกิ่งได้ทำพิธีขอโทษบรรดาอดีตครูทั้งหลายกรณีที่มีบทบาทในการสร้างความรุนแรงขึ้นในเดือนสิงหาคม ปี 2509 เมื่อมีการทำร้ายรองอธิการบดีคนหนึ่งจนเสียชีวิต ขณะที่อดีตเรดการ์ดกลับใจบางคนได้ออกมาขอโทษประชาชนในความผิดในอดีต และหลังจากเวลาผ่านพ้นไปหลายสิบปี อดีตเรดการ์ดก็พยายามจะรักษาความทรงจำอันขมขื่นในช่วงนี้ไม่ให้สูญหายไปด้วยการเขียนบันทึกความทรงจำอย่างนายจาง อดีตเรดการ์ดกลับใจได้นั่งเขียนบันทึกประจำวันทุกวันชื่อ “คำสารภาพของลูกอกตัญญู” โดยหวังว่าสักวันหนึ่งจะเป็นสมบัติอันมีค่าที่ตั้งในพิพิธภัณฑ์ว่าด้วยการปฏิวัติและจะมีชื่อของตัวเองพร้อมด้วยเรดการ์ดจำนวนมากปรากฏอยู่ในฐานะผู้ก่ออาชญากรรมและผู้ประสบความสูญเสีย
และอีกหนึ่งความหวังหนึ่งของนายจางก็คือขอตั้งป้ายหน้าหลุมศพของแม่ พร้อมกับคำจารึกว่า “ที่ระลึกทางวัฒนธรรมที่มิอาจเคลื่อนย้ายได้” เพื่อเตือนอนุชนรุ่นหลังถึงโศกนาฏกรรมจากความบ้าคลั่งในอุดมการณ์ ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการขออนุมัติจากศาลอยู่ นายจางย้ำว่าไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เคยทำกับแม่ได้ แต่จะต่อสู้ต่อไปเพื่อชนะคดีนี้ให้ได้ ส่วนหนึ่งแม่คงจะดีใจและอีกส่วนหนึ่งเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการปฏิวัติวัฒนธรรมครั้งที่ 2 ขึ้นมาอีก
สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลปักกิ่งกับสื่อตะวันตกคิดตรงกันแม้ว่าวิธีจะแตกต่างกัน โดยรัฐบาลแดนมังกรใช้วิธีปิดปากเงียบทั้งปิดปากสื่อปิดปากนักวิชาการ ขณะที่สื่อตะวันตกกลับทำตรงกันข้ามพยายามประโคมข่าวใหญ่ในโอกาสพิเศษครบรอบ 50 ปีการปฏิวัติวัฒนธรรม นั่นก็คือต่างมองการปฏิวัติวัฒนธรรมว่าเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ไม่ว่าเป็นความผิดพลาดของพรรค ของอดีตประธานเหมา หรือของแก๊งออฟโฟร์และสาวก แต่กลุ่มซ้ายจ๋าที่ยังฝังตัวอยู่ในแดนมังกรกลับมองการปฏิวัติวัฒนธรรมว่าเป็นยุคทองของสังคมที่เท่าเทียมกันและความชอบธรรมของอุดมการณ์ กลุ่มนี้จึงไม่แยแสกับคำสั่งของทางการ จัดงานเฉลิมฉลองกันเอง อย่างที่มณฑลซานซี กลุ่มนิยมเหมาใหม่หรือนีโอ-เหมาอิสต์ ได้เดินขบวนชูป้ายขนาดใหญ่ว่า “ความคิดของเหมาอยู่ยงคงกระพัน” และ “การปฏิวัติวัฒนธรรมของชนชั้นกรรมาชีพจงเจริญ” นอกจากนี้ยังมีการเดินขบวนที่เมืองต้าเหลียน ชูภาพเหมา เจ๋อ ตงพร้อมโปสเตอร์ใหญ่ว่า ”ล่องเรือท่องทะเลขึ้นอยู่กับนายท้าย”
น่าเสียดายที่ป๋อ ซีไหล อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำนครฉงชิ่ง อดีตกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ และคู่แข่งกับสี จิ้นผิง ในศึกชิงทำเนียบจงหนานไห่ ถูกจับกุมในข้อหาร้ายแรงจนถูกปลดจากทุกตำแหน่งและถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต ไม่เช่นนั้น ในวาระครบรอบ 50 ปีการปฏิวัฒนธรรมคงจะหวือหวากว่านี้มาก เพราะแม้จะเป็นลูกชายของป๋อ อี้ป๋อ หรือโป ยี่โป อดีตรองนายกฯ และนักปฏิวัติคนสำคัญคนหนึ่งผู้ตกเป็นเหยื่อการปฏิวัติวัฒธรรมทั้งครอบครัวรวมไปถึงป๋อ ซีไหล ลูกชาย ก่อนที่เติ้ง เสี่ยวผิงจะชิงอำนาจกลับคืนมาแล้วคืนตำแหน่งให้ แต่ป๋อ ซีไหลก็กล้าเปิดเผยตัวเองว่าเป็นคนหนึ่งที่ภักดีต่ออุดมการณ์ของเหมา เจ๋อตุง และพยายามฟื้นฟูการปฏิวัติวัฒนธรรมขึ้นมาใหม่ อาทิ ปัดฝุ่น “โครงการวัฒนธรรมแดง” เริ่มการปลูกฝังให้ร้องเพลงหงเกอ หรือเพลงแดง อันเป็นเพลงปลุกใจของคอมมิวนิสต์ หรือบังคับให้สถานีโทรทัศน์ที่ฉงชิ่งนำรายการสารคดีคอมมิวนิสต์ในอดีตมาเผยแพร่ในช่วงไพรม์ไทม์ เป็นต้น