ข่าว

 ประชาคมโลกผนึกกำลังสู้มหันตภัยร้าย“ซูเปอร์บัก” 

ประชาคมโลกผนึกกำลังสู้มหันตภัยร้าย“ซูเปอร์บัก” 

21 ก.ย. 2559

สมาชิกสหประชาชาติเตรียมลงนามปฏิญญากำจัดเชื้อแบคทีเรียดื้อยา หรือ ซูเปอร์บัก ภัยคุกคามร้ายแรงต่อวงการแพทย์สมัยใหม่


          21 ก.ย. สมาชิกสหประชาชาติ 193 ประเทศ เตรียมลงนามปฏิญญาว่าด้วยการกำจัดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะ ที่เป็นภัยคุกคามน่าวิตกที่สุดต่อวงการแพทย์สมัยใหม่ โดยมุ่งหวังให้การรับมือของโลกเป็นไปในแนวทางเดียวกัน 

          นับเป็นครั้งที่ 4 เท่านั้น ที่สหประชาชาติรับรองปฏิญญาประเด็นสาธารณสุข หลังจากรับปฏิญญาการขจัดเชื้อไวรัสเอชไอวีเมื่อปี 2544 โรคไม่ติดต่อ เช่น มะเร็งและเบาหวาน ในปี 2554 และไวรัสอีโบลาในปี 2556

          ตามปฏิญญาฉบับนี้ ประเทศภาคีให้คำมั่นว่า จะพัฒนาระบบกำกับดูแลและติดตามการใช้และจำหน่ายยาปฏิชีวนะทั้งสำหรับคนและสัตว์ กระตุ้นส่งเสริมการคิดค้นพัฒนายาปฏิชีวนะตัวใหม่ ยกระดับการวิเคราะห์อย่างรวดเร็ว ให้ความรู้ความเข้าใจแก่บุคลาการแพทย์และสาธารณชนถึงการป้องกันการติดเชื้อดื้อยา โดยประเทศสมาชิกมีเวลา 2 ปี ในการนำเสนอแผนปฏิบัติการ

          นักวิทยาศาสตร์เตือนอันตรายของซูเปอร์บักมาตั้งแต่บริษัทยาเริ่มผลิตยาปฏิชีวนะระดับอุตสาหกรรมหลายสิบปีก่อน แต่ไม่ค่อยได้รับความสนใจอย่างจริงจัง เพิ่งช่วงสองสามปีที่ผ่านมามีผลศึกษาหลายชิ้นกระตุ้นเตือนปัญหาดื้อยาว่าเป็นวิกฤติของโลก โดยมีการประเมินว่า แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตเพราะติดเชื้อดื้อยาไม่ต่ำกว่า 7 แสนคน และคาดการณ์ว่าตัวเลขจะพุ่งทะยานเป็น 10 ล้านคน ภายในปี ค.ศ.2050

          สาเหตุเกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะในคน สัตว์และเกษตรกรรม มากเกินไป การได้รับยานี้ซ้ำๆ เปิดช่องให้เชื้อแบคทีเรียและเชื้ออื่นรวมถึงเอชไอวี และมาลาเรีย ปรับตัวกลายพันธุ์จนป้องกันตัวเองจากยาปฏิชีวนะได้ ซึ่งหากยังไร้หนทางรักษาใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ และมาตรการรับมือในระดับโลก อีกไม่นานโรคที่เคยรักษาได้ง่ายๆ อาจกลายเป็นความเจ็บป่วยที่ไม่อาจเยียวยาได้ด้วยยาที่มีอยู่ในปัจจุบัน หรือกระบวนการรักษาอย่างการผ่าตัดสะโพก และผ่าคลอด อาจกลายเป็นการเสี่ยงอันตรายเกินไป

          ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การค้นคว้าหายาปฏิชีวนะชนิดใหม่เป็นเรื่องสำคัญ แต่สำคัญไม่แพ้กันคือ จำเป็นต้องลดการใช้ลงให้ได้อย่างมีนัยสำคัญ และหาทางเลือกใหม่ในการรักษาควบคู่กันไป เช่น เมื่อไม่นานมานี้ เริ่มมีความสนใจในการใช้ไวรัสบางชนิดฆ่าเชื้อแบคทีเรีย