ร.ร.เหมียนหยางเซียนเฟิงลู่สิรินธรหนึ่งน้ำใจมิตรแท้สู่แดนมังกร
ชิ่ง เจี้ยน เจียว ซาน สือ หวู่ จ่าย เฉิง โสว่ จู๋ ซ่าง เชียน เหนียน ฉิง คำขวัญฉลอง 35 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน สืบสานพันปีความสัมพันธ์เหมือนพี่น้องที่มีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดมายาวนาน ในหลายมิติ ทั้งเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมวัฒนธรรม เหมือนคำกล่า
แม้ในยามที่ประเทศใดประเทศหนึ่งกำลังประสบกับภัยพิบัติ อีกประเทศก็พร้อมจะยื่นมือให้ความช่วยเหลือด้วยความรวดเร็วและเต็มกำลัง อย่างเหตุการณ์สึนามิในไทย หรือแผ่นดินไหวระดับ 7.8 ริกเตอร์ที่เมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน ของจีน ที่สร้างความเสียหายให้แก่บ้านเรือน ระบบโครงสร้างคมนาคม และยังผู้มีเสียชีวิตจำนวนมาก ไม่นับรวมผู้ไร้ที่อยู่อาศัยอีกจำนวนมาก ขณะที่การค้าการลงทุนต้องหยุดชะงัก เด็กนักเรียนต้องหยุดการเรียนการสอน
"ที่นี่บัวแก้ว" ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมโรงเรียนประถมศึกษาเหมียนหยางเซียนเฟิงลู่ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชประสงค์จะบริจาคเงินส่วนพระองค์ สร้างโรงเรียนที่ประสบภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ โดยมีนายนฤมิต หิญชีระนันทน์ กงสุลใหญ่ไทย ณ นครเฉิงตู ช่วยประสานงานนัดหมายครูใหญ่ เฉิงหย่งเต๋อ และรองครูใหญ่ เถียน หย่ง ผู้บริหารระดับสูงของโรงเรียน นำทัวร์เดินชมทั่วทุกชั้นของโรงเรียนซึ่งมีข้อมูลหลายอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงผลงานที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีคุณูปการในการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับจีน เพิ่มเติมจากสิ่งที่ทราบอยู่แล้ว
ครูใหญ่ เฉิงหย่งเต๋อ ได้บรรยายว่า โรงเรียนประถมศึกษาเหมียนหยางเซียนเฟิงลู่ เป็นโรงเรียนชั้นประถม ปัจจุบันมีนักเรียนประมาณ 1,700 คน มี 30 ห้องเรียน โรงเรียนนี้มีพื้นที่ใช้สอยรวม 7,200 ตารางเมตร ประกอบด้วยอาคารหลัก 2 หลัง แบ่งเป็นห้องเรียนจำนวน 36 ห้อง สำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 1-6 ชั้นปีละ 6 ห้องเรียน
สำหรับอาคารเรียนพระราชทานหลังใหม่ได้รับการออกแบบให้มีห้องเรียนและพื้นที่ใช้สอยเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 3 เท่า พร้อมลานสนามกีฬามาตรฐาน 5 สนาม ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ห้องดนตรีและเต้นรำ ทำให้คุณภาพชีวิตของเด็กนักเรียนมีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างมาก นอกจากนั้น อาคารเรียนพระราชทานหลังใหม่ ยังทำให้โรงเรียนแห่งนี้ได้รับการกล่าวขวัญถึงในฐานะ “โรงเรียนประถมศึกษาที่สวยที่สุดในเมืองเหมียนหยาง”
ทั้งครูใหญ่ เฉิงหย่งเต๋อ และรองครูใหญ่ เถียน หย่ง พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า โต๊ะและอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งคอมพิวเตอร์ ดีกว่าของเดิมที่เคยได้จากงบประมาณการศึกษาของเมืองเหมียนหยาง รายจ่ายประจำปีอื่นๆ ของโรงเรียนก็เหมือนกับโรงเรียนอื่นๆ ได้จากงบประมาณจากเมืองเหมียนหยางและจากรัฐบาลกลาง
โรงเรียนนี้มีหลักสูตรการเรียนการสอนเช่นเดียวกับโรงเรียนในเขตเดียวกัน ที่กำหนดโดยกระทรวงศึกษาธิการของรัฐบาลกลาง อีกส่วนกำหนดโดยศึกษาธิการของมณฑลซื่อชวนหรือเสฉวน เช่น วิชาคอมพิวเตอร์ และอีกส่วนกำหนดโดยโรงเรียน เช่น วิชาใช้ลูกคิด หรืออุปกรณ์ใช้มันสมอง และฝึกอบรมจิตใจให้เหมาะสมกับภาวะแวดล้อมประจำท้องถิ่น ส่วนภาษาอังกฤษก็ต้องเรียนตามนโยบายของรัฐบาลกลาง
แต่ที่แปลกออกไปก็คือ โรงเรียนนี้ได้จับคู่สร้างสายสัมพันธ์ฉันพี่น้องกับโรงเรียนจิตรลดา ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศได้เป็นผู้ประสานจัดให้ครูใหญ่และเด็กนักเรียนจำนวนหนึ่ง ร่วมเดินทางมาทัศนศึกษาที่ประเทศไทยและเยี่ยมโรงเรียนจิตรลดาด้วย
นอกจากนี้ ยังมีแผนจะแลกเปลี่ยนนักเรียนของเฉิงตูมาเรียนรู้ภาษาไทย และวัฒนธรรมไทยที่โรงเรียนจิตรลดาในช่วงภาคฤดูร้อน โดยให้ไปพักกับครอบครัวของนักเรียนจิตรลดา เพื่อให้เรียนรู้ขนบธรรมเนียบประเพณีของคนไทย
ครูใหญ่ เฉิงหย่งเต๋อ กล่าวว่าผู้ปกครองหลายคนสนใจส่งลูกหลานเข้าโครงการแลกเปลี่ยนนักเรียนกับโรงเรียนจิตรลดา ถึงขั้นล็อบบี้ผู้บริหารระดับสูงกันเลยทีเดียว แต่ทุกอย่างก็ต้องเป็นไปตามระบบคัดเลือกโดยไม่มีข้อยกเว้น เพื่อให้เด็กที่มีคุณภาพร่วมเดินทางไปเรียนรู้วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของคนไทยในช่วงฤดูร้อนปีหน้า
นันทิดา พวงทอง