มติมส.อุ้มธัมมชโยปิดมหากาพย์พระลิขิตพระสังฆราช
มติมส.อุ้มธัมมชโยปิดมหากาพย์พระลิขิตพระสังฆราช : ไตรเทพ ไกรงูรายงาน
“พศ.และ มส.ยืนยันว่า เราใส่ใจในพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชมาตลอด มส.ไม่เคยท้วงติงว่า พระลิขิตมีสภาพใช้บังคับเหมือนพระบัญชาหรือไม่ หากแต่น้อมรับมาปฏิบัติตาม ตั้งแต่ปี พ.ศ.2542-2544 โดย มส.ประชุมเรื่องดังกล่าวเป็นร้อยๆ ครั้ง"
คำกล่าวข้างต้นเป็นบทสรุปของการประชุมคณะกรรมการ “มหาเถรสมาคม” (มส.) กรณีดีเอสไอทำหนังสือถึงคณะกรรมการมหาเถรสมาคม เพื่อพิจารณาดำเนินการให้พระเทพมหาญาณมุนี หรือพระธัมมชโย ต้องอาบัติปาราชิก ตามพระลิขิตสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
การประชุมครั้งนี้ มส.ได้มอบหมายให้ “ชยพล พงษ์สีดา” รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) รับหน้าเสื่อเป็นผู้แถลงต่อสื่อมวลชน โดยผลการประชุมสรุปได้ว่า พระธัมมชโย “ไม่อาบัติ-ไม่ปาราชิก” เนื่องจากคดีถือครองที่ดินจบในชั้นศาลชั้นต้นไปแล้วโดยไม่มีการยื่นอุทธรณ์ใดๆ ทำให้ มส.ไม่จำเป็นต้องพิจารณาในเรื่องนี้อีก เพราะคดียุติลง
“คณะพิจารณาของศาลชั้นต้นทางสงฆ์ไม่รับคำร้องของผู้ยื่นฟ้องคดี 2 คน คือ นายสมพร เทพสิทธา และนายมาณพ พลไพรินทร์ เนื่องจากคำร้องไม่สมบูรณ์ เมื่อศาลชั้นต้นทางสงฆ์ได้เปิดโอกาสให้ผู้ฟ้องอุทธรณ์ภายใน 30 วัน แต่ผู้ยื่นฟ้องคดีไม่มายื่นอุทธรณ์ และได้ถอนฟ้องไป 1 คน ทำให้การพิจารณาคดีในทางสงฆ์ต้องยุติลง อีกทั้งไม่มีการพิจารณาไปถึงกระบวนการที่ชี้ชัดว่า พระธัมมชโยอาบัติปาราชิกหรือไม่ ดังนั้นคดีทางสงฆ์จึงไปไม่ถึงการพิจารณาในขั้นศาลอุทธรณ์ทางสงฆ์ คือเจ้าคณะใหญ่หนกลาง และไม่ถึงขั้นศาลฎีกาทางสงฆ์ คือ มส. จึงทำให้คดีสิ้นสุดลง หากจะยื่นฟ้องพระธัมชโยต้องเป็นคดีใหม่เท่านั้น ส่วนกรณีที่ดีเอสไอมองว่า มส.ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 กรณีของพระธัมมชโย ยืนยันว่า พศ.และมส.ได้ดำเนินงานเรื่องนี้อย่างเต็มที่แล้ว”
จากมติของ มส.ที่ออกมาในรูปแบบนี้ ทำให้เกิดคำถามขึ้นมากมาย โดยเฉพาะ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ถึงกับนอตหลุดบอกว่า เป็นเรื่องข้องใจของสังคมอย่างยิ่งว่า ทำไมกลไกต่างๆ ที่คุ้มครองพิทักษ์พระพุทธศาสนาถึงไม่ทำงาน ทั้งที่มีเรื่องกระทำผิดร้ายแรง อาบัติถึงขั้นปาราชิก โดยพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชระบุว่า ต้องปาราชิก 2 ประการ คือ เรื่องบิดเบือนคำสอน ทำให้สงฆ์แตกแยก และเรื่องเอาทรัพย์สินที่คนจะให้วัดโอนเป็นชื่อของตัวเอง
ทั้งนี้ หากย้อนไปถึงพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชที่มีต่อพระธัมมชโยพบว่าเกิดขึ้นเมื่อ 17 ปีก่อน โดยมีอยู่ 3 ฉบับด้วยกัน
ฉบับที่ 1 วันที่ 26 เมษายน 2542 สมเด็จพระสังฆราชมีพระลิขิตว่า “ความบิดเบือนพระพุทธธรรมคำทรงสอน โดยกล่าวหาว่าพระไตรปิฎกบกพร่องเป็นการทำให้สงฆ์ที่หลงเชื่อคำบิดเบือน แตกแยกออกไปกลายเป็นสอง มีความเข้าใจ ความเชื่อถือพระพุทธศาสนาตรงกันข้าม เป็นการทำลายพระพุทธศาสนา ทำสงฆ์ให้แตกแยก เป็นอนันตริยกรรม มีโทษทั้งปัจจุบัน และอนาคต ที่หนัก
ส่วนที่มิใช่เป็นการลงโทษ แต่เป็นการทำที่ถูกต้อง คือต้องมอบสมบัติทั้งหมดที่เกิดขึ้นในขณะเป็นพระให้แก่วัดธรรมกายทันที เพราะหากคิดในแง่ยกประโยชน์อาจกล่าวได้ว่า ในขั้นต้นอาจมิใช่มีเจตนาที่จะถือเอาสมบัติของวัดเป็นของตนจริงๆ แต่เมื่อไม่ยอมมอบคืนสมบัติทั้งหมดที่เกิดขึ้นในขณะเป็นพระให้แก่วัดก็แสดงชัดแจ้งว่า “อาบัติปาราชิก” ต้องพ้นจากความเป็นสมณะโดยอัตโนมัติ ต้องถูกจัดการอย่างเด็ดขาด เช่นเดียวกับผู้ไม่ใช่พระปลอมเป็นพระ ด้วยการนำผ้ากาสาวพัสตร์ไปครอง ทำความเศร้าหมองเสื่อมเสียให้เกิดแก่สงฆ์ในพระพุทธศาสนา”
ในครั้งนั้นพระลิขิตถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของมหาเถรสมาคมถึง 2 ครั้ง จากนั้นมหาเถรสมาคม มีมติครั้งที่ 191/2542 และครั้งที่ 193/2542 ว่าให้ดำเนินการรับโอนที่ดินเป็นของวัดพระธรรมกาย ส่วนกรณีปาราชิกให้กรมการศาสนาร่วมกับเจ้าคณะภาค 1 ติดตามเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติต่อไป
ทั้งนี้ มส.อ้างว่ามีมติรับทราบพระดำริที่สมเด็จพระสังฆราชอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการดำเนินการรับโอนที่ดินเป็นของวัดพระธรรมกายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ยังขาดความชัดเจนในเรื่องของปาราชิก เพราะพระลิขิตไม่ได้ระบุชัดว่าเป็น "ธัมมชโย หรือวัดพระธรรมกาย” ซึ่งคำอ้างดังกล่าวจึงเป็นที่มาของพระลิขิตฉบับที่ 2 ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2542 ที่ระบุชัดว่า คือ “วัดพระธรรมกาย” ตามด้วยฉบับที่ 3 ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2542 โดยสมเด็จพระสังฆราชมีพระลิขิตอย่างเป็นทางการยืนยันว่าเกี่ยวข้องกับ “พระธัมมชโย”
จากพระลิขิตฉบับที่ 2 และ 3 ต่อมามหาเถรสมาคมเปิดประชุมวันที่ 10 พฤษภาคม โดยเอาพระลิขิต 3 ฉบับเข้าที่ประชุม พร้อมรับทราบพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช และมีมติให้มีผลตามกฎหมาย โดยพบว่า มส.ดำเนินการเฉพาะ “เรื่องโอนที่ดินคืนวัด” เท่านั้น
การตีความในพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราชของ มส. ส่งผลให้พระธัมมชโยไม่อาบัติปาราชิกมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากปมร้อนในเรื่องพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราชแล้ว “พระธัมมชโย” ต้องเผชิญกับข้อครหาต่างๆ มากมาย โดยเมื่อ พ.ศ. 2541 พระอดิศักดิ์ วิริสโก อดีตพระลูกวัดพระธรรมกาย กล่าวหา พระธัมมชโยมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม อวดอุตริมนุสธรรม และยังยักยอกเงินและที่ดินที่บรรดาญาติโยมบริจาคให้วัดพระธรรมกาย ซึ่งต่อมากรมที่ดินได้เข้ามาตรวจสอบพบว่า พระธัมมชโยมีชื่อเป็นเจ้าของโฉนดที่ดินที่เกี่ยวข้องกับวัดพระธรรมกายกว่า 400 แปลง เนื้อที่กว่า 2,000 ไร่ ใน จ.พิจิตร และ จ.เชียงใหม่
จากข้อกล่าวหาดังกล่าว มหาเถรสมาคมมอบหมายให้ พระพรหมโมลี เจ้าอาวาสวัดยานนาวา เจ้าคณะภาค 1 ตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมีข้อสรุปว่า เป็นจริงตามที่ถูกกล่าวหา มหาเถรสมาคม จึงมีมติให้พระธัมมชโย ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของเจ้าคณะภาค 1 คือ ให้ปรับปรุงคำสอนของวัดพระธรรมกายว่า นิพพานเป็นอนัตตา ไม่ใช่อัตตา พร้อมสั่งให้ยุติการเรี่ยไรเงินนอกวัด
ขณะเดียวกัน สมเด็จพระสังฆราชได้มีพระลิขิตให้พระธัมมชโยคืนที่ดินและทรัพย์สินขณะเป็นพระให้วัดพระธรรมกาย แต่พระธัมมชโย ไม่ยินยอม กรมการศาสนาจึงเข้าแจ้งความต่อกองปราบปราม กล่าวโทษพระธัมมชโยในคดีอาญา มาตรา 137, 147 และ 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานเบียดบังยักยอกทรัพย์และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
ไม่เพียงเท่านี้ในปี 2542 อดีตทนายความวัดพระธรรมกายและประชาชนที่เคยเลื่อมใสศรัทธาในวัดพระธรรมกายยื่นฟ้องพระธัมมชโย และนายถาวร พรหมถาวร ลูกศิษย์คนสนิทฐานเป็นเจ้าพนักงาน และสนับสนุนเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ร่วมกันยักยอกทรัพย์และเงินบริจาคของวัดพระธรรมกาย จำนวน 6.8 ล้านบาท ไปซื้อที่ดินเขาพนมพา ต.หนองพระ อ.วังทรายพูน จ.พิจิตร โดยโอนกรรมสิทธิ์ใส่ชื่อนายถาวร จำเลยที่ 2 และนำเงินอีกเกือบ 30 ล้านไปซื้อที่ดินกว่า 900 ไร่ ใน ต.หนองพระ (จ.พิจิตร) และที่ ต.ท่าข้าม อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์ จากนั้นได้โอนกรรมสิทธิ์ให้นายถาวรเช่นกัน
คดีนี้ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2542-2547 เหลือการสืบพยานจำเลยอีก 2 นัดในวันที่ 23 และ 24 สิงหาคม 2549 เท่านั้น แต่แล้วในวันที่ 21 สิงหาคม ศาลอาญามีคำสั่งเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2549 อนุญาตให้โจทก์ในคดีนี้ คือ พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 5 ถอนฟ้องพระธัมมชโย และนายถาวร ในฐานะจำเลย
กว่า 17 ปีที่พระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช ถูกนำมาตีความในการเอาผิดพระธัมมชโย และเป็นอีก 17 ปีที่่พระธัมมชโยต้องเผชิญข้อครหาและคดีความต่างๆ แต่สุดท้ายเมื่อมติของ มส.ออกมาว่าพระธัมมชโยไม่ปาราชิก จึงถือเป็นการปิดมหากาพย์พระลิขิตสมเด็จพระสังฆราช โดยทิ้งความคลางแคลงใจไว้กับสังคมอีกครั้ง...?