Lifestyle

อีสานสามัญ...โชว์ศิลป์ถิ่นที่ราบสูง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นิทรรศการอีสานสามัญ-Common Exercises: Isan Contemporary Report เอกลักษณ์ของศิลปะอีสาน ตลอดจนเรื่องราวการพัฒนา ผลกระทบ สิทธิมนุษยชน มาสร้างสรรค์เนื้อหาใหม่

      อีสานสามัญ...โชว์ศิลป์ถิ่นที่ราบสูง

    ลูกอีสานแท้ๆ สำหรับ 12 กลุ่มศิลปินและช่างภาพ ประกอบด้วย โชคชัย ตักโพธิ์, ถาวร ความสวัสดิ์, ทรงวิทย์ พิมพะกรรณ์, บุญนำ สาสุด, ไพศาล อำพิมพ์ ร่วมกับ ธิติญา เหล่าอัน, ภัทรพงศ์ ศรีปัญญา, ไมตรี ศิริบูรณ์, เริงฤทธิ์ คงเมือง, วรวิทย์ แก้วศรีนวม, สมภพ บุตราช, อดิศักดิ์ ภูผา และ กลุ่ม Realframe ทั้งหมดนี้นำเอกลักษณ์ของศิลปะอีสาน ตลอดจนเรื่องราวการพัฒนา ผลกระทบ สิทธิมนุษยชน มาสร้างสรรค์เนื้อหาใหม่เป็นงานศิลป์ในนิทรรศการอีสานสามัญ-Common Exercises: Isan Contemporary Report ที่ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 9 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่จัดขึ้นในโอกาสครบรอบ 10 ปี หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร นับว่าเป็นการเปิดพื้นที่สู่การเรียนรู้ แลกเปลี่ยน ทำความเข้าใจเกี่ยวกับอีสานที่น่าสนใจ

อีสานสามัญ...โชว์ศิลป์ถิ่นที่ราบสูง

อีสานสามัญ...โชว์ศิลป์ถิ่นที่ราบสูง

ถาวร ความสวัสดิ์ (ซ้าย) อธิบายแรงบันดาลใจของตัวเอง

     มนต์เสน่ห์ของสิมอีสาน ทำให้ ถาวร ความสวัสดิ์ หยิบยืมรูปแบบสิมอีสานทั้งสถาปัตยกรรม และจิตรกรรมฝาผนังด้านนอกของสิมมารังสรรค์ผลงานขนาดใหญ่ชื่อ “Timeline อีสาน, 2560” รวมประวัติศาสตร์ของภาคอีสาน ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ดูแล้วต้องอึ้ง โดยเจ้าตัวเผยว่า งานศิลปะจิตรกรรมและประติมากรรมจัดวางชิ้นนี้สะท้อนความเป็นอีสานผ่านรูปลักษณ์ของสิมอีสาน สิม คือคำเรียกโบสถ์ของภาคอีสาน โดยเล่าเรื่องลำดับภาพเหตุการณ์สำคัญตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผนังแรกเริ่มที่ยุคล่าอาณานิคมในพื้นที่ ถัดมาเมื่อระบบทุนนิยมเริ่มเข้ามา มีการศึกษา ระบบสาธารณูปโภค สร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า ปรับจากความเป็นอยู่เรียบง่าย ทำเกษตรกรรมเคลื่อนย้ายมาทำงานส่วนกลางเกิดวิถีคนเมือง ผนังที่สามแสดงช่วงรอยต่อถึงปัจจุบันเป็นอีสานยุคใหม่สะดวกสบาย มีเทคโนโลยี โรงงานอุตสาหกรรม แต่ก็สอดแทรกการตัดไม้ทำลายป่า ผนังสุดท้ายยกเรื่องบุญบั้งไฟมาเสนอ แสดงความเป็นอีสานได้ดี สื่อฮีตสิบสองคองสิบสี่ เดิมแห่โดยเกวียน ปัจจุบันใช้รถ และมีระบบเครื่องเสียง

อีสานสามัญ...โชว์ศิลป์ถิ่นที่ราบสูง

      “งานศิลปะไม่ได้ชี้ว่าความเจริญส่งผลดีหรือผลเสีย แต่นำเสนอการเปลี่ยนแปลงในมุมมองของเรา ผมใช้เวลาทำงาน 1 เดือน จำลองสิมอีสานขึ้นด้วยเทคนิคดินสอพองผสมกาวและเยื่อกระดาษ ส่วนงานประติมากรรมก็คลี่คลายมาจากมอม หรือรูปปั้นสิงห์เฝ้าบันไดทางขึ้น คุมโทนสีแบบจิตรกรรมอีสาน เราภาคภูมิใจที่เป็นคนอีสาน หยิบสิมมาสร้างงาน เพราะสิมเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของคนในอดีต ศิลปินแต่ละคนแสดงในนิทรรศการนี้มีคาแรกเตอร์ต่างกัน การแสดงออกต่างกันโดยสิ้นเชิง เกิดประเด็นให้คนดูได้ฉุกคิด” ถาวร กล่าว

อีสานสามัญ...โชว์ศิลป์ถิ่นที่ราบสูง

อดิศักดิ์ ภูผา

     ส่วนผลงานชุด “เด้อนางเดอ ตึงๆ : คติความเชื่อชาวอีสานในรูปทรงและสัญลักษณ์จากงานประเพณีบุญบั้งไฟ, 2560” ของ อดิศักดิ์ ภูผา ศิลปินชาวยโสธร ก็สร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ เพราะนำการละเล่นหุ่นไม้รูป “ลิงเด้า” กว่า 30 ตัว เป็นหุ่นในรูปทรงชายหญิงกำลังร่วมเพศกัน เชื้อเชิญให้ผู้ชมได้เข้ามาร่วมสนุกดึงเชือกให้หุ่นไม้เคลื่อนไหวแบบไม่ต้องเขินอาย

อีสานสามัญ...โชว์ศิลป์ถิ่นที่ราบสูง

     อดิศักดิ์ ศิลปินและอาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พูดถึงแรงบันดาลใจว่า พบเห็นหุ่นไม้ลิงเด้าตั้งแต่วัยเด็กเป็นสิ่งที่ประกอบขบวนงานประเพณีแห่บุญบั้งไฟ แต่งแต้มขบวนให้มีสีสันและตลกขบขัน มีความเชื่อว่าบั้งไฟเป็นบุญพญามารเพื่อสื่อสารถึงพญาแถนว่า โลกมนุษย์สกปรก ต้องปล่อยน้ำฝนมาชะล้าง แต่ปัจจุบันสัญลักษณ์นี้ค่อยๆ ทำให้เลือนหายไปเมื่องานแห่บุญบั้งไฟกลายเป็นงานท่องเที่ยวระดับชาติ เพราะลิงเด้าแสดงเรื่องเพศอย่างชัดเจน งานศิลปะชุดนี้แสดงรากเหง้าวัฒนธรรมบันเทิงอีสาน

อีสานสามัญ...โชว์ศิลป์ถิ่นที่ราบสูง

      “ผมทำหุ่นไม้จำนวน 80 ตัว แต่นำมาแสดงนิทรรศการอีสานสามัญ 31 ตัว หุ่นสร้างขึ้นมาหยอกล้อตามประสาคนอีสาน และมีความเชื่อการทำหุ่นชายหญิงร่วมเพศกันจะทำให้พืชผลเติบโตอุดมสมบูรณ์ พบเห็นได้ทั่วไปตามงานแห่บุญบั้งไฟ ยังเหลืออยู่ ถ้าปีไหนไม่ได้ทำ คนในหมู่บ้านจะถามหา ผลงานชิ้นนี้ผมเปลี่ยนจากที่เคยยืนดูแล้วหัวเราะ มาเป็นคนเล่น ดึงเชือกตามจังหวะการรับรู้ของคน ไม่ใช่เรื่องลามกอนาจาร เป็นเรื่องวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ การทำ กลไกที่คิดทำจากขอนไม้ประกอบเป็นจินตนาการ” ศิลปินหนุ่มยโสบอกเล่า

อีสานสามัญ...โชว์ศิลป์ถิ่นที่ราบสูง

 “เกิดแต่ดินอีสาน”

     ศิลปินรุ่นใหญ่แห่งแดนอีสาน สมภพ บุตราช ก็ร่วมแสดงในนิทรรศการนี้กับงานชุด “เกิดแต่ดินอีสาน” ซึ่งเจ้าตัวเผยว่า เอาดินมาใช้เขียนภาพเหมือนบุคคลเพื่อสื่อความหมาย คนที่เลือกมาเป็นแบบทุกคนเป็นคนอีสาน เป็นคนธรรมดาสามัญแต่สร้างความดี ทำประโยชน์เพื่อสังคมส่วนรวม อาทิ หลวงพ่อคำเขียน สุวณโณ, อาจารย์ทวี รัชนีกร, แม่ฉวีวรรณ ดำเนิน หมอลำผู้ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ, หมอแคนสมบัติ สิมหล้า แล้วยังมียายไฮ ขันจันทา นักสู้รากหญ้าผู้ยิ่งใหญ่ ภาพเหมือนของคนเหล่านี้สะท้อนวิถีความเป็นอยู่ วัฒนธรรม รวมถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ผ่านใบหน้า

อีสานสามัญ...โชว์ศิลป์ถิ่นที่ราบสูง

ผลงาน "ความสุขหลังฤดูเก็บเกี่ยว, 2560

อีสานสามัญ...โชว์ศิลป์ถิ่นที่ราบสูง

ณรงค์ศักดิ์ นิลเขต-อัจฉรา นวลสวาท ภัณฑารักษ์นิทรรศการอีสานสามัญ

   ติดตามการบอกเล่าเรื่องราวความเป็นไปของอีสานจากหลากหลายศิลปินหนุ่มสาวและศิลปินรุ่นใหญ่กันได้ในโครงการรายงานอีสานร่วมสมัยและนิทรรศการอีสานสามัญ ภัณฑารักษ์นิทรรศการอีสานสามัญ ได้แก่ ณรงค์ศักดิ์ นิลเขต และอัจฉรา นวลสวาท เปิดให้เข้าชมถึงวันที่ 15 เมษายน 2561 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ