Lifestyle

ร้อยเรื่องเล่าจากไปรษณีย์ 140 ปี "ห้างฝรั่ง"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ทายาทรุ่นที่ 4 ตระกูล "ลิงค์" และหัวเรือใหญ่ บี.กริม จัดนิทรรศการประวัติศาสตร์และศิลปะครั้งสำคัญ "ฝากไว้ในแผ่นดิน 140 ปี บี.กริม "

ร้อยเรื่องเล่าจากไปรษณีย์ 140 ปี "ห้างฝรั่ง"

ร้าน “สยามดิสเป็นซารี่”

        หากมีปรัศนีว่า...ใครกันหนอทำตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ...?? เชื่อว่าชื่อ “บี.กริม” เป็นคำตอบในใจของหลายๆ คน จากวันแรกจวบวันนี้ครบ 140 ปีที่ “ห้างฝรั่ง” ดำเนินธุรกิจบนแผ่นดินสยาม บี.กริม จึงเป็นส่วนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ไทย ย้อนไปตั้งแต่ปี 2421 เมื่อ แบร์นฮาร์ด กริม เภสัชกรชาวเยอรมัน และ แอร์วิน มุลเลอร์ พ่อค้าชาวออสเตรียได้เดินทางมาและก่อตั้งร้าน “สยามดิสเป็นซารี่” ด้วยความรู้และความชำนาญในวิชาชีพ ทั้งสองจึงเป็นที่รู้จักทั่วไป จนได้รับแต่งตั้งให้เป็นเภสัชกรหลวงแห่งราชสำนักไทยในที่สุด จากนั้นได้สยายปีกธุรกิจหลากหลาย และรับใช้มวลชนมาถึง 6 รัชสมัย

ร้อยเรื่องเล่าจากไปรษณีย์ 140 ปี "ห้างฝรั่ง"

ร้อยเรื่องเล่าจากไปรษณีย์ 140 ปี "ห้างฝรั่ง"

ห้างบี.กริม สาขาประตูสามยอด พ.ศ. 2455

      ยาวนานเพียงนี้ย่อมมีเรื่องเล่าขานอันเกี่ยวเนื่องกับบริษัทและแผ่นดินที่ให้ปักหลัก ในโอกาสครบ 140 ปีที่ผ่านร้อนหนาว ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ในฐานะทายาทรุ่นที่ 4 ของตระกูล และหัวเรือใหญ่ขององค์กร จึงได้จัดนิทรรศการประวัติศาสตร์และศิลปะครั้งสำคัญ ภายใต้ชื่อ “ฝากไว้ในแผ่นดิน 140 ปี บี.กริม” ชูเนื้อหาเด่น “ประวัติศาสตร์การสื่อสารทางไปรษณีย์ (Postal History Collection) ระหว่างประเทศไทยและเยอรมัน” อันเป็นหลักฐานสำคัญในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ทางการทูตมานานกว่า 200 ปี เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการตอบแทนสังคมไทย ตามเจตนารมณ์ของบรรพบุรุษในฐานะที่ได้ร่วมทำกิจการรับใช้สังคมมาอย่างต่อเนื่องกว่าทศวรรษ โดยแถลงข่าวเล่ารายละเอียดที่ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันก่อน

ร้อยเรื่องเล่าจากไปรษณีย์ 140 ปี "ห้างฝรั่ง"

กฤชทิพย์ ศิริรัตน์ธำรงค์-อัจฉรา เตชะไพบูลย์-ดร.ฮาราลด์ ลิงค์-โรล็อง มาแลสปีน

       ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าวว่า บี.กริม เติบโตมาด้วยการพยายามสร้างประประโยชน์ให้สังคม ไม่ว่าจะเป็นการขุดคลองรังสิต, สร้างวัดมูลจินดาราม เป็นต้น ตัวเองเองอยู่เมืองไทยมา 40 ปีแล้ว ตลอดเวลาทำธุรกิจในไทย ไม่เคยละเลยที่จะเป็น ‘หุ้นส่วนทางสังคม’ โดยดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคมไทยในทุกๆ ด้าน ในนิทรรศการแสดงให้เห็นเจตจำนงอันแน่วแน่ของบี.กริม ในการสนับสนุนและส่งเสริมงานด้านศิลปวัฒนธรรม มุ่งเน้นให้บี.กริมเป็นส่วนหนึ่งของพลังงานในการขับเคลื่อนศิลปะร่วมสมัยที่สามารถสานต่อการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ นำไปสู่วิสัยทัศน์เพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิต

ร้อยเรื่องเล่าจากไปรษณีย์ 140 ปี "ห้างฝรั่ง"

กฤชทิพย์ ศิริรัตน์ธำรงค์

      ไฮไลท์สำคัญของนิทรรศการครั้งนี้ อยู่ที่นิทรรศการหลักฐานประวัติศาสตร์การสื่อสารทางไปรษณีย์ที่สมบูรณ์ที่สุดที่ กฤชทิพย์ ศิริรัตน์ธำรงค์ นักสะสมตัวยงเสาะหาและรวบรวมมากว่าค่อนชีวิต นำออกมาจัดแสดงเป็นคอลเลกชั่น ทุกชิ้นบอกเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ของผู้ก่อตั้ง บี.กริม ทายาท และหลากหลายบุคคลที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับส่วนตัว ระดับองค์กร ไปจนถึงระดับชาติ อีกทั้งบรรจุเรื่องเล่าไว้มากมาย ทั้งความสัมพันธ์ระหว่างเยอรมนีและไทยในช่วงเวลากว่า 200 ปี และเรื่องราวของบริษัทบี.กริม จึงเป็นโอกาสดีที่เหล่าคนรักประวัติศาสตร์จะได้ชมหลักฐานประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่าเหล่านี้เป็นครั้งแรก

ร้อยเรื่องเล่าจากไปรษณีย์ 140 ปี "ห้างฝรั่ง"

จดหมายถึงออทโท ลิงค์ ด้านหลังมีตราประทับบริษัท ที่ได้รับพระบรมราชานุญาตจาก ร.5 ให้ใช้ตราส่วนพระองค์

  ร้อยเรื่องเล่าจากไปรษณีย์ 140 ปี "ห้างฝรั่ง"

ไปรษณียบัตรรูปภาพอาคารสโมสรชาวเยอรมันในบางกอก ค.ศ. 1899, 1901 จนถึงปี 1906 

      “ผมสะสมสิ่งเหล่านี้มา 62 ปีแล้ว จนตอนนี้อายุ 70 ปีก็ยังทำอยู่ ถือเป็นงานอดิเรกที่ผูกพันกับชีวิตมาก ช่วงที่ บี.กริม ครบ 120 ปี ก็มีส่วนนำสิ่งที่เกี่ยวข้องกับบี.กริม ไปจัดแสดง ตอนนี้ได้เพิ่มเข้ามาอีก เอาแสตมป์แผ่นเล็กๆ มาเล่าเรื่องราวคนเยอรมันที่เข้ามาใช้ชีวิตในประเทศไทย ซึ่งเกี่ยวข้องกับการทูตระหว่างเยอรมนีกับสยาม แล้วก็มีเรื่องราวของ บี.กริม กับสยาม สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ผมถือว่าเป็นอาหารทางใจที่สำคัญพอๆ กับอาหารท้อง คนเราต้องการอาหารทางใจนั่นคือศิลปะและดนตรี สำคัญต้องมีการโปรโมทให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง” กฤชทิพย์ กล่าว

        ร้อยเรื่องเล่าจากไปรษณีย์ 140 ปี "ห้างฝรั่ง"

 ซองจดหมายที่ส่งออกจาก บี.กริม ได้รับพระบรมราชานุญาตจาก ร.7 ให้ใช้ตราประจำพระองค์เป็นตราตั้งห้าง โดยด้านล่างของตราตั้งจะมีข้อความว่า “ได้รับพระบรมราชานุญาตเป็นพิเศษ” แสดงถึงความไว้วางใจของราชสำนักที่มีต่อบี.กริม

       ในจำนวนที่คัดสรรมา 232 ชิ้นเพื่อจัดแสดง มีกว่า 50 ชิ้นที่หาดูได้ยากยิ่ง โดยเฉพาะหลักฐานการสื่อสารทางไปรษณีย์ที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งยังส่งทางเรือ จนถึงสมัยรัชกาลที่ 9 โดยแบ่งเป็น 6 หมวดสำคัญ ได้แก่ หลักฐานการสื่อสารของผู้ก่อตั้งบี.กริม หลักฐานการสื่อสารระหว่างสมาชิกตระกูลลิงค์ หลักฐานการสื่อสารทางการทูตระหว่างกงสุลเยอรมนีและสยาม หลักฐานการสื่อสารทางธุรกิจของบี.กริม หลักฐานการสื่อสารของบริษัทเยอรมันที่เข้ามาทำธุรกิจในสยาม และชุดไปรษณียบัตรที่ส่งโดยสมาคมชาวเยอรมันในบางกอก

      ที่น่าสนใจ อาทิ ซองจดหมาย ตราประทับ ตราไปรษณียากร การ์ดไปรษณียบัตร และไปรษณียบัตรรูปภาพ เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์แห่งการมีตัวตนอยู่จริงของบุคคลสำคัญ ทั้งยังสะท้อนภาพอดีตและความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง การคมนาคม และสภาพสังคมของทั้งสองประเทศอย่างชัดเจน นับเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นเล็ก ๆ ที่ช่วยเติมเรื่องราวให้หน้าประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา 5 รัชสมัยของ บี.กริม เกิดเป็นภาพที่สมบูรณ์ได้ในที่สุด

ร้อยเรื่องเล่าจากไปรษณีย์ 140 ปี "ห้างฝรั่ง"

บรรยากาศการแถลงข่าว

     นอกจากเกร็ดประวัติศาสตร์ที่มาทางไปรษณีย์แล้ว ภายในนิทรรศการยังมีสารคดีประวัติศาสตร์ “140 ปี บี.กริม” ที่ผลิตโดยโรล็อง มาแลสปีน, นิทรรศการการสนับสนุนการอนุรักษ์เสือโคร่งในประเทศไทยของ บี.กริม, การแสดงดนตรีจากมูลนิธิวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ รวมถึงการรวมตัวกันครั้งแรกของศิลปินไทยร่วมสมัยถึง15 คน อาทิ พินรี สัณฑ์พิทักษ์,ธวัชชัย พันธุสวัสดิ์,ดร.คธา แสงแข,กฤช งามสม,อิ่มหทัย สุวัฒนศิลป์,ปานพรรณ ยอดมณี,ดุษฎี ฮันตระกูล เป็นต้น แสดงผลงานศิลปะร่วมสมัยที่ได้แรงบันดาลใจมาจากการดำเนินธุรกิจด้วยความโอบอ้อมอารีของบี.กริม 

   ทั้งนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานในพิธีเปิด นิทรรศการ “ฝากไว้ในแผ่นดิน 140 ปี บี.กริม” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในวันอาทิตย์ที่ 10 มิถุนายน โดยนิทรรศการจะเปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่วันที่ 11- 20 มิถุนายนนี้

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ