Lifestyle

"ลิงที่รอดชีวิต" คว้าชัยจิตรกรรมร่วมสมัยพานาโซนิค

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จิตรกรรมร่วมสมัยพานาโซนิค "เพื่อความสุขของมวลมนุษยชาติ" ครั้งที่ 20 ภายใต้แนวคิด "สร้างสรรค์เพื่อความสมบูรณ์ของชีวิต"

"ลิงที่รอดชีวิต" คว้าชัยจิตรกรรมร่วมสมัยพานาโซนิค

“ลิงที่รอดชีวิต” โดย ศิริพร เพ็ชรเนตร

          หากนวัตกรรมคือการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม มนุษย์ทุกคนก็สามารถสร้างนวัตกรรมขึ้นมาได้ด้วยหัวใจและมันสมอง ไม่เพียงการนำเสนอในรูปแบบเทคโนโลยีทันสมัยเท่านั้น แต่ผลงานศิลปะก็เป็นนวัตกรรมเสริมสร้างความสมบูรณ์แห่งชีวิตได้เช่นกัน โดยต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ นำเสนอความดี ความจริง และความงามที่ครบทุกมิติ ดังเช่นผลงาน “ลิงที่รอดที่ชีวิต” ฝีมือของ ศิริพร เพ็ชรเนตร ซึ่งถ่ายทอดแนวความคิดเรื่องการรณรงค์การอนุรักษ์สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ผ่านการสื่อสารด้วยมุมมองใหม่ จนชนะใจกรรมการทั้งด้านฝีมือและไอเดีย คว้ารางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 1 ของการประกวด จิตรกรรมร่วมสมัยพานาโซนิค “เพื่อความสุขของมวลมนุษยชาติ” ครั้งที่ 20 ภายใต้แนวคิด “สร้างสรรค์เพื่อความสมบูรณ์ของชีวิต”

"ลิงที่รอดชีวิต" คว้าชัยจิตรกรรมร่วมสมัยพานาโซนิค

“ตัวฉันกับความสุขที่หายไป” โดย ชมรวี สุขโสม

           ศ.เกียรติคุณกำจร สุนพงษ์ศรี ประธานคณะกรรมการตัดสิน เล่าถึงภาพรวมของผลงานที่ส่งเข้าร่วมประกวดในปีนี้ว่า ปีนี้มีผลงานส่งเข้าประกวดทั้งสิ้นจำนวน 216 ชิ้น จาก 132 ศิลปิน ซึ่งผลงานโดยรวมนั้นถือว่ามีมาตรฐานมากกว่าระดับทั่วไป คือเป็นมาตรฐานทางด้านการสะท้อนมุมมอง ความคิด และวิธีนำเสนอ ทำให้พบว่าศิลปินรุ่นใหม่นั้นมีแนวทางที่หลากหลายมากขึ้น แม้ภาพที่ไม่ได้รับรางวัลใหญ่เองก็ตามในบางภาพก็ถือว่าเป็นภาพที่มีแนวความคิดที่เฉียบแหลม แยบยล

"ลิงที่รอดชีวิต" คว้าชัยจิตรกรรมร่วมสมัยพานาโซนิค

“ไทยงม” โดย อนันต์ยศ จันทร์นวล

          ทั้งนี้ ศ.เกียรติคุณปรีชา เถาทอง กล่าวว่า ผลงาน “ลิงที่รอดชีวิต” สะท้อนวิธีคิดของคนรุ่นใหม่ในการมองปัญหาที่เกิดขึ้นบนโลก โดยเฉพาะเรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นการประชดประชันที่นำเสนอในเชิงบวก นำสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์หรือสัตว์ป่าคุ้มครองมาใส่เสื้อผ้าแบบมนุษย์ อยู่ในสังคมของคนมีฐานะ มีเฟอร์นิเจอร์หรูหราราคาแพง ฉากหลังแม้จะเป็นธรรมชาติแต่ก็ดูคล้ายการถูกประดิษฐ์ขึ้น เปรียบเสมือนการถ่ายภาพร่วมกันของครอบครัวในคฤหาสน์หลังหนึ่ง นำเสนอไอเดียกลับด้านผ่านการวาดภาพด้วยสีอะคริลิคที่มีโทนสีคลาสสิกแบบยุคเรเนซองส์ ถือเป็นนวัตกรรมทางศิลปะที่นำเสนอแนวความคิดซึ่งมีอยู่มานานแล้วแต่ถ่ายทอดความคิดและจินตนาการซึ่งประกอบด้วยมโนทัศน์ มโนคติ มโนสำนึก ออกมาผ่านวิธีการสื่อสารใหม่ ถือเป็นการต่อยอดและสะท้อนถึงความดี ความจริง และความงามอย่างแท้จริง

"ลิงที่รอดชีวิต" คว้าชัยจิตรกรรมร่วมสมัยพานาโซนิค

ศ.เกียรติคุณปรีชา เถาทอง

          ขณะที่ อ.สมศักดิ์ เชาวน์ธาดาพงศ์ แสดงความคิดเห็นต่อภาพที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 1 ในปีนี้ว่ามีรูปแบบของการประชดประชันเปรียบเปรยได้ดี วิธีการนำเสนอออกมาในรูปแบบที่เหมือนจริง มีอารมณ์ขัน ด้วยฝีมือและวิธีถ่ายทอดทำให้ผลงานชิ้นนี้มีความโดดเด่นจนชนะใจกรรมการ แต่หากมองอีกมุมที่ไม่ได้อิงกับคอนเซ็ปต์ของศิลปิน ผู้ชมจะสามารถจินตนาการได้ถึงเรื่องราวความน่ารักของสัตว์ ศิลปินมีอารมณ์ขันที่นำลิงสายพันธุ์ต่างๆ มาใส่เสื้อผ้า ล้อเลียนชีวิตประจำวันของมนุษย์ ทำให้ผู้ชมเพลิดเพลินและเอ็นดูต่อสัตว์เหล่านี้มากขึ้น ภาพรวมผลงานปีนี้ มีมาตรฐานงานดีมาก ศิลปินรุ่นใหม่นั้นมีแนวทางแต่ละคน แต่การจะหาผู้ชนะเลิศนั้นจะต้องเป็นผลงานที่มีลักษณะพิเศษกว่าผลงานอื่นๆ ทั้งด้านแนวความคิดและสไตล์นำเสนอ ส่วนใหญ่พบว่าศิลปินจะทำตามๆ กัน คือเดาว่ากรรมการชอบแบบไหนก็จะทำแบบนั้น จึงทำให้ยากต่อการค้นพบผลงานที่แหวกแนวออกจากรูปแบบเดิม

"ลิงที่รอดชีวิต" คว้าชัยจิตรกรรมร่วมสมัยพานาโซนิค

ศ.เกียรติคุณกำจร สุนพงษ์ศรี

            ด้าน ศ.วิโชค มุกดามณี กล่าวว่า ผลงานของศิลปินมีกระบวนการเขียน การวาดภาพที่ นำเสนอรูปร่างรูปทรงได้เสมือนจริง มีการระบายสีแสงเงา นำเสนอชิ้นงานที่ส่งผลกระทบต่อสังคม คือ ภาพลิงที่ผสมผสานกับรูปร่างมนุษย์ เพื่อทำให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกว่าสัตว์เหล่านี้กำลังสร้างชีวิตที่คล้ายกับคน เพื่อต้องการให้ตัวเองอยู่รอดในสังคม ไม่ให้ถูกทำลาย สะท้อนสังคมปัจจุบันของสังคมที่มนุษย์กำลังเบียดเบียนสิ่งมีชีวิตอื่น ทำให้คนได้ฉุกคิด มีสติที่จะไตร่ตรอง พิจารณาถึงสิ่งที่ควรจะทำหรือไม่ควรทำ เป็นผลงานที่ต้องการถ่ายทอดให้เห็นถึงความสุขของมนุษย์ในการอยู่ร่วมกับทุกชีวิต นวัตกรรมนั้นไม่ได้หมายถึงเรื่องความทันสมัยอย่างเดียว แต่คือการปรับความคิดสู่ความเป็นสากลด้วย ภาพนี้จึงสะท้อนความคิดของศิลปินที่ต้องการสื่อสารให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขระหว่างมนุษย์และสัตว์

           สำหรับรางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 2 มีสองรางวัล ได้แก่ ผลงาน “ตัวฉันกับความสุขที่หายไป” โดย ชมรวี สุขโสม และผลงาน “ไทยงม” ใช้เทคนิคสีน้ำมันและอะคริลิค โดย อนันต์ยศ จันทร์นวล รางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 3 มีสามรางวัลได้แก่ ผลงาน “เหยื่อของความรุนแรง” ใช้เทคนิคสีน้ำมัน โดย วฤทธิ ไพศาลธิรศักดิ์, ผลงาน “จริงหรือหลอก”  โดย ผดุงพงษ์ สารุโณ, ผลงาน “ซ้ายสังหาร” โดย อานนท์ เลิศพูลผล นอกจากนี้ยังมีรางวัลดีเด่น อีกจำนวน 10 รางวัล ซึ่งสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ได้รับรางวัลได้ทาง http://www.panasonic.com/th โดยจะจัดพิธีมอบรางวัลพร้อมงานแสดงนิทรรศการที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์ ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 9-29 สิงหาคม

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ