Lifestyle

หนุนวงการศิลปะตื่นตัวโลกยุคดิจิทัล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นิทรรศการจิตรกรรมเอเชีย พลัส ครั้งที่ 8 นำเสนอผลงานศิลปะที่ผ่านการการคัดเลือกจำนวน 45 ชิ้น จาก 122 ศิลปินที่ส่งเข้าประกวด

หนุนวงการศิลปะตื่นตัวโลกยุคดิจิทัล

     เครือข่ายการสื่อสารที่ก้าวหน้าล้ำยุค ทำให้ทุกวินาทีของทุกคนแทบเชื่องช้าไปทุกขณะ เราถูกผลักให้ทุกก้าวของการใช้ชีวิตเร็วขึ้น เร็วขึ้น และเร็วขึ้น วงการศิลปะก็เช่นกัน นิทรรศการ จิตกรรมเอเชีย พลัส ครั้งที่ 8 นำโดยผู้บริหารสาวเก่ง ณินทิรา โสภณพนิช เป็นประธานเปิดนิทรรศการไปเมื่อวันก่อน ในงานมีคำถามที่ถูกตั้งขึ้นกลางวงเสวนาว่าการเดินทางในสายอาชีพศิลปินในเมืองไทยนั้นจะอยู่ยาก…อยู่ได้…หรืออยู่รอด…เพียงใด เมื่อโลกของทุกคนกว้างขึ้น ทุกอย่างต่างเข้าสู่กระบวนการสู่ความเป็นสากล

  หนุนวงการศิลปะตื่นตัวโลกยุคดิจิทัล

 อ.ถาวร โกอุดมวิทย์-อ.อิทธิพล ตั้งโฉลก-ณินทิรา โสภณพนิช-อ.สมศักดิ์ รักษ์สุวรรณ

      ในงานนิทรรศการจิตรกรรมเอเชีย พลัส ครั้งที่ 8 นี้ผลงานศิลปะที่ผ่านการการคัดเลือกจำนวน 45 ผลงาน จากศิลปินที่ส่งเข้าประกวด 122 คน ถูกติดตั้งเต็มพื้นที่บริเวณโถงต้อนรับและชั้น 2 ภายในตัวอาคารหอศิลป์ โดยผลงานที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่งานนิทรรศการในครั้งนี้ มีมิติใหม่ของศิลปินร่วมสมัยคือ สามารถสื่อสารถึงสากล ให้มนุษย์ทุกคนเข้าถึงแนวคิดของตนได้ โดยผลงานชนะเลิศอันดับหนึ่งมีความโดดเด่นตรงตามหัวข้อ “ทัศนียภาพแห่งสากล” มากที่สุด เป็นผลงานภาพเขียนสีน้ำมัน เชื่อมสัมพันธ์ ของ นภนันท์ รังส์ธรรมคุณ นักศึกษาปริญญาโท สาขาประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปกร วิทยาเขตนครปฐม ซึ่งเขาได้แรงบันดาลใจมาจากภาพจิตรกรรมฝาผนังโบราณของอียิปต์ อันแฝงนัยว่าทุกสรรพสิ่ง ทุกเชื้อชาติ และสีผิว ต่างมีความเรียบง่ายที่เชื่อมสัมพันธ์กันได้

หนุนวงการศิลปะตื่นตัวโลกยุคดิจิทัล

นภนันท์ รังส์ธรรมคุณ

      เมื่อเข้าสู่วงเสวนา “ศิลปะไทยก้าวไกลในระดับสากล” ความคิดของการก้าวสู่สากลก็ถูก อ.อิทธิพล ตั้งโฉลก สะกิดให้ตั้งสติว่า ศิลปินต้องทำงานของตัวเองให้ดีที่สุดก่อน งานขายเป็นผลพลอยได้ หากว่าเรามุ่งเป้าไปที่การขายเราจะไม่มีวันพบกับความสำเร็จ เป้าหมายที่ดีคือ...ทำงานให้ดีที่สุด ศิลปินควรมองที่ตัวเองก่อนโฟกัสที่ผลงาน การฝึกฝนทักษะให้ชำนิชำนาญ

      เช่นเดียวกับที่ อ.สมศักดิ์ รักษ์สุวรรณ ศิลปินอิสระ กล่าวว่า การเป็นศิลปินเป็นการลงทุนระยะยาว มันมีจังหวะของมันอยู่ การทำงานศิลปะเราทำมันให้ดีเยี่ยม ทำให้สุดยอด ให้เราพอใจมัน ผมไม่สนใจว่าใครจะมาซื้องานมั้ย เมื่อเราทุ่มเทพอ รักในสิ่งที่ทำนั้นมากพอทุกอย่างก็จะตามมาเอง ยิ่งทุกวันนี้เรามีช่องทางในการนำเสนองานได้มากขึ้น เพราะเรามีเครื่องมือการสื่อสารในมือกันทุกคน และสิ่งหนึ่งที่เมื่อเราตั้งใจทำทั้งหมดที่กล่าวมานี้แล้ว การที่จะก้าวไปสู่สากลนั้นก็ไม่ใช่ปัญหาเลย

หนุนวงการศิลปะตื่นตัวโลกยุคดิจิทัล

       อีกอุปสรรคที่ถูกยกขึ้นมาพูดถึงคือ ภาษา ภาษาการสื่อสารยังคงเป็นกำแพงอันแข็งแกร่งของนักศิลปะรุ่นใหม่ ที่ยังคงนำเสนอผลงานได้ไม่กว้างพอ เพราะเพียงคำว่า “ความกลัว” ภาษาอังกฤษเหมือนของแสลง เป็นคำกล่าวของอาจารย์สมศักดิ์ เมื่อเล่าย้อนอดีต เคยกลัวที่จะต้องนำผลงานไปจัดแสดงที่ต่างประเทศ และละทิ้งโอกาสที่จะได้นำเสนอผลงานศิลปะตัวเองให้กับชาวต่างชาติได้ชม เพียงเพราะพูดภาษาอังกฤษไม่เก่ง แต่หากศิลปินรุ่นใหม่รู้จักปรับตัว นำสิ่งที่ผิดพลาดในอดีตของคนรุ่นเก่ามาปรับปรุงแก้ไข เชื่อว่าความสามารถก็ไม่ด้อยกว่าชาติใดๆ เลย

หนุนวงการศิลปะตื่นตัวโลกยุคดิจิทัล

       ซึ่ง อ.ถาวร โกอุดมวิทย์ ก็ให้แง่คิดที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ “ถ้าคุณพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ คุณก็จะไปสู่เวทีที่มันเป็นสากลยาก ศิลปะมันเป็นภาษาที่ล้ำลึกกว่าการถูกนำมาแปลโดยผ่านล่าม ฉะนั้นลมหายใจของศิลปินมันให้คนอื่นหายใจแทนไม่ได้ มันต้องหายใจด้วยตัวของมันเอง”

       นอกจากนี้ในวงเสวนาที่เข้มข้นยังเสนอข้อคิดอีกว่า ประวัติศาสตร์ยังเป็นส่วนสำคัญทำให้เรารู้จักรากเหง้าของตัวเอง ประวัติศาสตร์เอเชีย ประวัติศาสตร์ศิลปะโลก รู้ว่าสไตล์ต่างๆ ปรับเปลี่ยนไปเพราะอะไร “ปรัชญา” งานศิลปะสะท้อนอะไรให้คนดูบ้างมันต้องแฝงเรื่องราวแนวคิดการสอนได้อย่างสร้างสรรค์ และต้องรู้ “วรรณกรรม” ภาษาวรรณกรรมมันสร้างให้งานศิลปะสละสลวย และสิ่งที่ยิ่งต้องมีคือ ความรู้รอบตัว เรารู้สถานการณ์ว่าโลกหมุนไปในทิศทางไหนแล้ว มันก็ง่ายที่เราจะนำเสนอเรื่องราวของเราสู่นานาชาติได้ ทุกอย่างมันจะนำไปสู่การปรับตัวในโลกยุคดิจิทัลของมันเอง

หนุนวงการศิลปะตื่นตัวโลกยุคดิจิทัล

       และอุปสรรคสุดท้ายที่วงเสวนาพูดถึง อ.สมศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สิ่งหนึ่งที่มองเห็นคือเมื่อเราไขว่คว้าด้วยตัวเองไปจัดแสดงที่ต่างประเทศได้ เป็นที่ยอมรับ แต่พอกลับมาเมืองไทยกลับไม่มีใครสนับสนุน ไม่เหมือนกับประเทศต่างๆ ที่มีสมาพันธ์ที่ช่วยกันส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลไทยก็ควรหันมาสนใจส่งเสริมผลงานของศิลปินให้มากขึ้น ผมอยากให้ภาครัฐช่วยดูตรงนี้อย่างจริงจัง

     สำหรับผู้สนใจสามารถเข้าชมงานนิทรรศการจิตรกรรมเอเชีย พลัส ครั้งที่ 8 ได้ตั้งแต่ วันนี้ถึงวันอาทิตย์ที่ 5 สิงหาคม (เว้นวันพุธ) เวลา 10.00-19.00 น. ที่หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ถ.ราชดำเนินกลาง

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ