Lifestyle

รากศิลปะไทยจากศตวรรษสู่ศตวรรษ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เรียนรู้ศิลปะไทยจากโบราณวัตถุ และศิลปะร่วมสมัย

          ศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพ ในโครงการส่งเสริมศิลปะไทย จัดนิทรรศการศิลปะ “รากศิลปะไทยจากศตวรรษสู่ศตวรรษ” ในผลงานสะสมของ เสริมคุณ คุณาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพ และบุตรสาว เหมือนฝัน สิริกรณ์ คุณาวงศ์ และ วาดฝัน คุณาวงศ์ นำเสนอผลงานไทยประเพณีตั้งแต่โบราณวัตถุ จนถึงศิลปะร่วมสมัย ผลงานของช่างและศิลปินไทยประเพณีชั้นนำ อาทิ อ.จักรพันธุ์ โปษยกฤต, วัลลภิศร์ สดประเสริฐ, อ.หทัย บุนนาค, อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์, เหม เวชกร เป็นต้น รวมไปถึงครูช่างจากสุโขทัยจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์

รากศิลปะไทยจากศตวรรษสู่ศตวรรษ

หุ่นละครเล็กย่อส่วน ตอน ทศกัณฐ์ลงสวนเกี้ยวนางสีดา

          เสริมคุณ เผยว่า ผลงานสะสมที่นำมาจัดแสดงเป็นผลงานสะสมของตัวเอง และบุตรสาว ซึ่งโดยส่วนตัวชื่นชอบผลงานศิลปะไทยประเพณีมาเป็นเวลานานกว่า 15 ปี โดยเริ่มค้นหางานสะสมมาตั้งแต่ก่อนที่จะก่อตั้งศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ.2547 โดยเริ่มสนใจงานที่เป็น วิชวล อาร์ต อื่นๆ เช่น งานจิตรกรรม แล้วเชื่อมโยงมาถึงงานฝีมือแบบไทยประเพณีทุกประเภท ซึ่งงานฝีมือแบบไทยประเพณีสะท้อนออกมาในรูปแบบงานโบราณวัตถุ หรือชิ้นงานที่มีอายุเก่าแก่อีกด้วย ตลอดการค้นหางานสะสมของผมเป็นการค้นหาที่เต็มไปด้วยความชอบ และสนุกมากที่ได้เสพสุนทรียภาพที่แตกต่างกัน ทั้งงานประติมากรรมสมัยใหม่, งานจิตรกรรมแบบร่วมสมัย ตลอดจนงานที่เป็นงานช่างสิบหมู่ต่างๆ ได้แก่ โต๊ะ ตู้ ตั่ง เตียง และศีรษะโขน รวมไปถึงเครื่องเคลือบสมัยสุโขทัย ถ้วยโถโอชาม งานเบญจรงค์สมัยอยุธยา และหีบพระธรรมคัมภีร์ ที่มีลายแบบฝรั่ง ซึ่งคาดว่าเป็นผลงานในราวสมัยรัชกาลที่ 4

รากศิลปะไทยจากศตวรรษสู่ศตวรรษ

รามเกียรติ์ รัชกาลที่ 1 ตอนทศกัณฐ์เกี้ยวนางสีดา ปี 2558

          “นิทรรศการนี้รวมคอลเลกชั่นงานไทยประเพณีตั้งแต่โบราณวัตถุจนถึงศิลปะร่วมสมัยในยุคปัจจุบัน นำมาจัดแสดงทั้งหมด 37 ผลงาน โดยมีความหลากหลายครอบคลุมทั้งงานจิตรกรรม งานประติมากรรม หัวโขน หุ่นหลวง เป็นต้น ซึ่งผู้ชมจะได้รับรู้ถึงเส้นทางของงานศิลปะไทยที่สืบทอดมายาวนาน ตั้งแต่สมัยสุโขทัย ล้านนาและยุคทองของอาณาจักรไทยในสมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ โดยเชื่อมโยงแหล่งอารยธรรมสำคัญหลายแหล่งในโลก ทั้งจากชมพูทวีปและจากฝั่งตะวันตก ซึ่งจะเห็นว่าเส้นทางของงานศิลปะไทยประเพณี ได้สร้างเอกลักษณ์ของงานในแต่ละยุคสมัย และเริ่มมีการเปิดรับเอาความงดงามของอารยธรรมอื่นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในงาน มีการนำเสนอเรื่องราวของความเป็นไทย โดยใช้เทคนิคการสร้างงานศิลปะแบบตะวันตก ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ทั้งนี้ ผลงานที่นำมาจัดแสดงให้ชม เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนของความต่อเนื่องในความงดงามของงานไทยประเพณี เชื่อว่ายังมีผลงานที่งดงามกว่าผลงานที่จัดแสดงนี้อีกมากมายนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานจากอดีต แต่ด้วยข้อจำกัดของสถานที่ และยังไม่สมบูรณ์ของคอลเลกชั่น จึงทำให้สามารถนำเสนอเป็นมุมมองที่อาจสร้างแรงบันดาลใจได้เพียงเท่านี้ และหวังว่านิทรรศการครั้งนี้ จะเป็นการจุดประกายให้คนที่รักในศิลปะอันทรงคุณค่าประเภทไทยประเพณีได้ร่วมกันสืบทอดต่อไป

รากศิลปะไทยจากศตวรรษสู่ศตวรรษ

หีบพระธรรมคัมภีร์ ราวสมัย ร.4

รากศิลปะไทยจากศตวรรษสู่ศตวรรษ

ภาพประกอบนิทานพื้นบ้าน ปี 2488

          สำหรับตัวอย่างที่นำมาจัดแสดง ได้แก่ “หีบพระธรรมคัมภีร์” ไม่ปรากฏชื่อศิลปิน มีลักษณะพิเศษตรงที่เป็นภาพเขียนชาวตะวันตกซึ่งเชื่อว่าเขียนโดยช่างไทยในสมัย ร.4 โดยดูคล้ายสกุลช่างขรัวอินโข่ง ซึ่งมีการเขียนรูปชาวตะวันตกในจิตรกรรมฝาผนัง, ผลงาน “ภาพประกอบนิทานพื้นบ้าน ปี 2488” เขียนโดย เหม เวชกร, “หุ่นละครเล็กย่อส่วน ตอน ทศกัณฐ์ลงสวนเกี้ยวนางสีดา” หุ่นละครเล็กย่อส่วน ผลงานของ อ.ภัทรชัย แสงดอกไม้ ได้รับแรงบันดาลใจจากวิธีการสร้างหุ่นหลวงและหุ่นเล็กของ อ.จักรพันธุ์ โปษยกฤต“พระพุทธเหนือทุกข์และสุข” แสดงเชิงช่างแบบ อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ได้ชัดเจนที่สุดชิ้นหนึ่ง ลวดลายที่เศียรนาคปรกนับเป็นประติมากรรมสำคัญชิ้นหนึ่ง, “รามเกียรติ์ บทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ตอนทศกัณฐ์เกี้ยวนางสีดา ปี 2558” ผลงานของ อ.หทัย บุนนาค งานชุดนี้ เป็นงานที่มีแรงบันดาลใจในวรรณคดีไทยที่สืบทอดกันมาแต่อดีตสะท้อนความหลากหลายในความรักของตัวละครทั้งผู้ชายหน้าเกลียดกับเจ้าหญิง ความรักเกิดจากการลักพาตัว ขุนพลทัพวานรกับเจ้าหญิงสกุลยักษ์แปลงกายมา ยักษ์ผู้หญิงกับเจ้าชายนักดนตรี เป็นต้น โดยใช้เทคนิคสีน้ำปิดทองบนกระดาษ ซึ่งเป็นการผสมผสานเทคนิคแบบไทยประเพณีกับวิธีการเขียนสีน้ำเพื่อสร้างบรรยากาศแบบเทคนิคตะวันตก

รากศิลปะไทยจากศตวรรษสู่ศตวรรษ

พระพุทธเหนือทุกข์และสุข​​​​​​​

          ทั้งนี้ นิทรรศการ “รากศิลปะไทยจากศตวรรษสู่ศตวรรษ” ตั้งใจจะเป็นกำลังเล็กๆ ในการนำเสนอ ความยิ่งใหญ่ของศิลปะไทยประเพณี ให้คนไทยได้ตระหนักและให้นักท่องเที่ยวได้เห็นตัวอย่างประเพณีไทยแท้ๆ ว่ามีความงดงาม และเป็นเอกลักษณ์ไม่แพ้ศิลปะของชาติใดในโลก จัดแสดงวันนี้-4 พฤศจิกายน ที่ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สอบถามโทร.0-2088-3888 ต่อ 1303 และ 1314

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ