Lifestyle

สัมผัสวิถีไทยอีสาน "พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต เรียนรู้วิถีชีวิตที่เรียบง่ายของครอบครัวชาวอีสานสมัยก่อน

สัมผัสวิถีไทยอีสาน "พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต"

บ้านเรือนไทยอีสาน

  ซึมซับวิถีชาวบ้านสมัยก่อนแบบเรียบง่ายแต่มีสไตล์ กับ พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จังหวัดบึงกาฬ ที่หมู่บ้านขี้เหล็กใหญ่ ต. หนองพันทา อ. โซ่พิสัย จ. บึงกาฬ หมู่บ้านเล็กๆ ของชุมชนที่เงียบสงบ โดยบ้านเรือนไทยหลังนี้เป็นบ้านของครอบครัว "ขาบ" สุทธิพงษ์ สุริยะ มาหลายเจเนอเรชั่น จนล่าสุดเมื่อลูกหลานแยกย้ายไปอยู่กรุงเทพฯ จึงตัดสินใจนำบ้านเรือนไทยอีสานหลังนี้มาปรับปรุงให้เป็น “พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต” มุ่งหมายให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้วิถีชีวิตที่เรียบง่ายของครอบครัวชาวอีสานสมัยก่อน ผ่านข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ละชิ้นเป็นของดั้งเดิมที่ผ่านการใช้งานจริงและถูกเก็บรักษาเป็นอย่างดี 

สัมผัสวิถีไทยอีสาน "พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต"

สุทธิพงษ์ สุริยะ

    ที่มาของการตั้งชื่อ “พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จังหวัดบึงกาฬ” นั่นเพราะเจ้าของบ้านยังพักอาศัยอยู่ชั้นล่าง แต่ชั้นบนได้ปรับเป็นพิพิธภัณฑ์เปิดให้นักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจเข้าชม โดย “ขาบ” สุทธิพงษ์ ผู้ก่อตั้งเล่าว่า ได้นำศิลปะเข้ามาจัดการอย่างมีระบบ เพื่อให้เข้ากับวิถีเกษตรชุมชน ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบยั่งยืน เพื่อให้ผู้คนมาเจอกันและมีรายได้เกื้อกูลกัน จุดเด่นอยู่ที่ “ศิลปะ” ที่นำระบบงานออกแบบร่วมสมัยเข้ามาผสมผสานให้ดูสวยงามและมีอัตลักษณ์ของชุมชน ทำให้เกิดชุมชนเกื้อกูล บอกเล่าเรื่องวิถีความเป็นอยู่ดั้งเดิมให้คนอยู่ใกล้ชิดและอบอุ่นกัน โดยมีแนวทางเกษตรเป็นตัวเชื่อมทำให้เกิดความยั่งยืน 

สัมผัสวิถีไทยอีสาน "พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต"

มุมรับแขก

สัมผัสวิถีไทยอีสาน "พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต"

บายศรีสู่ขวัญ

    ภายในอาณาบริเวณราว 3 ไร่ มีบทบาทและหน้าที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้ เริ่มจาก พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต เรือนไม้อีสานอายุกว่า 60 ปี ที่นับวันจะหายไปตามกาลเวลา ลักษณะโดยทั่วไปของบ้านอีสานจะมีระเบียงกว้างไว้สำหรับทำกิจกรรมส่วนรวม เมื่อเปิดประตูเข้าไปข้างในบ้านจะมีห้องโถงกลางใหญ่ แบ่งเป็นห้องปีกซ้ายและปีกขวา ที่พิพิธภัณฑ์นี้ได้รับการปรับปรุงโดยนำดีไซน์ที่อิงธรรมชาติเข้ามาใช้ แต่ละห้องประดับประดาด้วยภาพขาวดำของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่มีต่อประชาชนชาวอีสานและชาวไทยทั้งปวง

สัมผัสวิถีไทยอีสาน "พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต"

ห้องครัว

  ตามมุมห้องจะจัดแสดงและตกแต่งด้วยผ้าซิ่นไหมของบรรพบุรุษที่คนอีสานสมัยก่อนมักจะนุ่งผ้าซิ่นไหม นุ่งโสร่ง สวมใส่เสื้อสีขาวเข้าวัดกันให้ชม อีกฝั่งของบ้านที่เชื่อมติดกันก็จะมีครัวอีสานแบบสมัยก่อน ที่ปัจจุบันมักจะหลงเหลืออยู่น้อย ครัวที่นี่เรียกได้ว่ามีความสมบูรณ์เหมือนครัวที่ใช้จริงเมื่อ 60 ปีก่อนทุกประการ มีข้าวของในครัวที่เคยใช้งานจริงจัดแสดงให้ดู ส่วนอีกฟากด้านหลังของห้องครัวได้ปรับเป็นมุมรับแขกโทนสีขาวเขียวและน้ำตาล ฉากแผ่นไม้สีน้ำตาลที่ผ่านการใช้งานมานาน ตัดกับสีเขียวของข้าวของที่ตกแต่งสมัยใหม่ เป็นการผสมผสานที่แตกต่างแต่ลงตัว ในตัวบ้านสมัยก่อน จะมีพิธีบายศรีสู่ขวัญเป็นประจำมีชาวบ้านมาร่วมวงด้วย พอจบพิธีก็ทานข้าวด้วยกันตามวิถีชีวิตคนอีสาน

สัมผัสวิถีไทยอีสาน "พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต"

ตกแต่งด้วยผ้าซิ่นและโสร่ง

    “ภาพเหล่านี้ได้ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งล่าสุดพวกเราญาติพี่น้อง ตระกูลสุริยะ ได้มาร่วมพิธีบายศรี ซึ่งทำจากใบตองและตกแต่งด้วยดอกดาวเรืองและดอกพุดตูมสีขาวซึ่งเป็นดอกไม้ที่คนอีสานนำไปไว้พระ และกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของพิพิธภัณฑ์ ลูกหลานได้มาขอพรจากผู้ใหญ่ เป็นบรรยากาศที่หวนรำลึกถึงอดีตและมีคุณค่าต่อจิตใจ ทุกคนรู้สึกประทับใจยิ่งนัก” เจ้าของบ้าน กล่าว

สัมผัสวิถีไทยอีสาน "พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต"

ลานศิลปะ

สัมผัสวิถีไทยอีสาน "พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต"

กรีน แอ็คติวิตี้

    ในส่วนของ “กรีน แอ็คติวิตี้” หรือลานอเนกประสงค์ติดกับพิพิธภัณฑ์ มุ่งเน้นกิจกรรมเพื่อสนับสนุนชุมชน การมีส่วนร่วมและสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ในเชิงบูรณาการแบบยั่งยืน โดยเปิดพื้นที่ให้ชุมชนนำอาชีพเสริม เช่น งานจักสาน งานผ้าทอ งานหัตถกรรม มาวางจำหน่ายให้แก่ผู้มาเยี่ยมชม นอกจากนี้ ยังมีเปิดพื้นที่ให้เด็กๆ มาช่วยกันวาดภาพระบายสีตามจินตนาการ เพื่อช่วยกันเผยแพร่ชุมชนให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น รวมถึงการเปิดเวทีให้ศิลปิน นักออกแบบ และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้มาแลกเปลี่ยนผลงาน เป็นวิทยากรแนะนำการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยดีไซน์จากอาชีพของชุมชน เน้นบริการวิชาการแก่สังคม เพื่อร่วมมือกันพัฒนาชุมชนแบบยั่งยืน

สัมผัสวิถีไทยอีสาน "พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต"

ข้าวจี่ วิถีกินอยู่อีสาน

สัมผัสวิถีไทยอีสาน "พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต"

เด็กๆ มีความสุข 

    ยังมี ตลาดชุมชนพอเพียง ที่ละลานตาไปด้วยภาพวาดศิลปะบนกำแพงสังกะสีผืนยาวนำเสนอเรื่องราวของวิถีผู้คนในชุมชนอีสาน สร้างสรรค์โดยศิษย์เก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร เป็นภาพของเด็กๆ ในหลายๆ อิริยาบท ทั้งกระโดดเล่นน้ำในคลอง, เลี้ยงไก่ชน, จับปลา, เลี้ยงควาย, ยิงหนังสติ๊ก ฯลฯ ลานศิลปะ เน้นอัตลักษณ์ชุมชนเพื่อแสดงผลงานศิลปะร่วมสมัย รวมถึง วัดโพธิ์ศรีมงคล วัดเล็กๆ ห่างจากพิพิธภัณฑ์เพียง 20 เมตร มีพระจำพรรษาอยู่เพียง 5 รูปเท่านั้น ภายในมีศาลาอเนกประสงค์ไว้ทำกิจของสงฆ์ และกุฏิร้าง ให้นักท่องเที่ยวมาชมศิลปะที่เกี่ยวข้องกับการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ของผู้คนอีสานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ

สัมผัสวิถีไทยอีสาน "พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต"

เณรจากวัดโพธิ์ศรีมงคลเดินบิณฑบาต

    ปัจจุบันทางพิพิธภัณฑ์ได้เดินหน้าจัดทำโครงการ “วาดบ้าน แปลงเมือง” วาดภาพเขียนสีตามบ้านเรือนในตรอกซอกซอยของหมู่บ้านประมาณ 50 หลังคาเรือน เพื่อให้เป็นหมู่บ้านอีสานต้นแบบภาพวาดศิลปะ เพื่อการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน อีกทั้งโครงการท่องเที่ยว 1 วันในอำเภอโซ่พิสัย สถานที่รายล้อมด้วยธรรมะและธรรมชาติมากมาย เน้นคอนเซ็ปท์การออกค้นหาความสุขทางใจในรูปแบบ ธรรมะคือธรรมชาติ

สัมผัสวิถีไทยอีสาน "พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต"

     สนใจเข้าชมพิพิธภัณฑ์ฯ ฟรีได้ทุกวัน เวลา 09.00 – 17.00 น. สอบถามรายละเอียดหรือนัดหมายได้ที่ นริศรา วงศ์ภูมี โทร.086-229 7629 หรือเฟสบุ๊ค :พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จ.บึงกาฬ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ